"ไตรศุลี" รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แจงทำไม "ผ้าอนามัยแบบสอด" เป็นเครื่องสำอาง ยันไม่ขึ้นภาษี เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม

จากกรณี ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวงที่ประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก โดยยืนยันว่า ผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ไม่ขึ้นภาษี 

พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมว่า 1.ปัจจุบันมีผ้าอนามัย 2 ชนิด คือ ผ้าอนามัยใช้ภายนอก และชนิดสอด ทั้ง 2 ชนิดถูกจัดเป็นเครื่องสำอางตั้งแต่ปี 2528 เพราะเข้ากับนิยามเครื่องสำอางคือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ฯลฯ

2.ปี 2558 มีการแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องสำอางใหม่ มีการแก้ไขนิยามของคำว่า “เครื่องสำอาง” ทำให้ “ผ้าอนามัยชนิดสอด” หลุดจากคำนิยามของเครื่องสำอาง แต่ผ้าอนามัยใช้ภายนอก ยังเป็นเครื่องสำอาง

3.จึงเป็นเหตุผลให้ต้องออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง

4.ผ้าอนามัย เป็น 1 ใน รายการสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยถึง 40% ภาษีผ้าอนามัยจึงจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ตามราคาของสินค้าเหมือนสินค้าชนิดอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ เนื่องจากหลายคนสงสัยว่า ทำไม "ผ้าอนามัยแบบสอด" ถึงกลายเป็นเครื่องสำอางได้ พร้อมกับติดแฮชแท็กความคิดเห็น #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี กระทั่งขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ เนื่องจากหากเข้าไปหาความหมายของคำว่า เครื่องสำอางในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2554 คำว่า "เครื่องสำอาง" เป็นคำนาม หมายถึง สิ่งเสริมแต่งหรือบำรุงใบหน้า ผิวพรรณ ผม ฯลฯ ให้ดูงาม เช่น แป้ง ลิปสติก ดินสอเขียนคิ้ว, ราชาศัพท์ว่า เครื่องพระสำอาง

...

อีกความหมาย คือ (กฎ) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม และรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่างๆ ด้วย.