เปิดหนังสือ “สวนทางนิพพาน” (สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2557) อ่านเรื่อง คาถาศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธ ผมเป็นเด็กวัดเก่า พอรู้จักอยู่หลายคาถาก็อยากรู้อาจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ท่านใช้คาถาบทไหน
อาจารย์เสฐียรพงษ์เล่าถึงสมัยสร้างทางรถไฟ ผ่านดงพญาไฟ (ต่อมาเรียกดงพญาเย็น ตอนนี้ก็น่าจะแถวปากช่องละกระมัง) คนที่ไปทำงานเจอสัตว์ป่าดุร้าย เสือสิงห์กระทิงแรด ไข้ป่า ก็พอเอาตัวรอดได้
แต่เรื่องผี ที่ว่ากันว่าดุร้ายมาก พระเครื่อง เครื่องราง ที่พกพา กันไปก็สู้ไม่ไหว
เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่ง หัวดี ลองใช้วิธี เอาพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 5 ตั้งไว้ แล้วประกาศต่อเทพยดาฟ้าดิน เผื่อว่าผีจะได้ยิน ที่นี่เป็นแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง พวกเรากำลังทำงานให้ท่าน
พวกผีห่าซาตานจึงไม่ควรมารังควาน เล่ากันว่า ปัญหาผีซาลงไปจะเหลืออยู่บ้างนิดน้อยเต็มที
แต่ความกลัวผี ก็ยังมีอยู่ในหมู่คนทำงาน มีคนงานคนหนึ่ง บวชเรียนมานานบอกเพื่อนๆว่าเคยท่องคาถาสู้กับผีหลายบท แต่ก็เอาไม่อยู่ จนถึงบท “อนิจจา วต สังขารา...” ผีกลัวหนีหายไปเลย
คนงานทำทางรถไฟสมัยนั้น จึงท่องคาถากันผีบทนี้เป็นกันทุกคน
คาถาบทนี้ บทที่พวกเราฟังคุ้นหู หลายคนคงไม่รู้มีที่มาสำคัญอาจารย์เสฐียรพงษ์เล่าว่าถึงตอนพระพุทธองค์ เสด็จมุ่งตรงไปยังเมืองกุสินารา สถานที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
เมื่อถึงป่าสาลวโนทยาน อันเป็นสถานที่เสด็จประพาสของเหล่ามัลลกษัตริย์ รับสั่งให้พระอานนท์ปูอาสนะใต้ต้นสาละทั้งคู่ ระหว่างนั้น สุภัททปริพาชก ทรงให้โอกาสเข้ามาถามข้อข้องใจ
ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา บวชให้สุภัททปริพาชก นับเป็นบวชด้วยวิธีนี้เป็นครั้งสุดท้าย
หลังประทานปัจฉิมโอวาท “ภิกษุทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” ก็ทรงสงบนิ่ง เข้ารูปฌานที่ 1 ถึง 4 จนถึงฌานชั้นสูง (เนวสัญญานาสัญญายตนะ) แล้วย้อนกลับสู่ฌานที่ 1 ขณะย้อนขึ้นไปสู่ฌานที่ 4
...
ก็ดับสนิท ในระหว่างรูปฌาน และอรูปฌาน นั้น
คัมภีร์พุทธศาสนา พรรณนาว่า ท้าวสหัมบดีพรหม กล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวช
พระอนุรุทธะผู้ทรงเข้าฌานตามพระพุทธองค์ กล่าวคาถา พระพุทธองค์ผู้มั่นคงคงที่ไม่หวั่นไหว ทรงทำกาละอย่างสงบแล้ว ระงับเวทนาได้พระหทัยหลุดพ้น ทรงดับสนิท ดุจเปลวประทีปดับฉะนั้น
และต่อไป เป็นคิวคาถาของพระอินทร์
“อนิจจา วต สังขารา อุปปาทวยธัมมิโน อุปปัชชิตวานิรุชชันติ เตสัง วูปสโม สุโข”
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความสงบวางสังขารเป็นสุข
ต่อมา วงการพระศาสนา ได้นำเอาคาถาพระอินทร์บทนี้มาให้ พระใช้เป็นคาถาพิจารณาบังสุกุล ตามคำแปล เป็นคาถาที่พระสอนให้ปลง แต่ชาวบ้านกลับเห็นเป็นคาถา “สวดผี”
ผมอ่านเรื่องของอาจารย์เสฐียรพงษ์จบ ก็ขอคิดต่อการที่มีผู้ค้นพบคาถาสวดผีบทนี้ เป็นคาถากันผี เป็นการค้นพบที่มีเหตุผล อย่างน้อยผีที่ยังยึดมั่นซากคือร่างของตัวเองอยู่ ก็คงได้ฟังก่อนทิ้งร่างไปเป็นวิญญาณ
แต่กับนักปฏิบัติสมาธิบางคน นิยมคาถา อนิจจา...บทนี้ ภาวนา เพื่อใช้ประกอบการทำใจให้ปลง
เมื่อเข้าถึงความจริงข้อเมื่อละสังขาร...คือความรู้สึกว่าไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขาได้แล้ว
ก็นับว่าดับอาการโศกเศร้าพิไรรำพัน ทุกข์กายทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ที่รวมเรียกความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้แล้ว
โดยสิ้นเชิง.
กิเลน ประลองเชิง