สรุปประเด็นน่าสนใจ ในการแถลงข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข ประจำวันที่ 12 ก.ค. เกี่ยวกับชุดตรวจโควิด การฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส และสายพันธุ์โควิดที่พบการระบาดในไทยตอนนี้
วันที่ 12 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขวันนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
- ชุดตรวจโควิด ให้ผลประมาณ 90%
เรื่องของ Rapid Antigen Test หรือชุดตรวจโควิดนั้น ให้ผลประมาณ 90% ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นผลที่ยอมรับได้ ส่วนทางการแพทย์ ต้องหาทางปิดช่องโหว่ที่มีอยู่ ขณะนี้มีการอนุญาตแล้ว และจะได้เร่งดำเนินการตั้งแต่ 13 ก.ค. เป็นต้นไป ทุกสถานพยาบาล จะมี Rapid Antigen Test นี้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึง ซึ่งหากตรวจแล้วผลเป็นลบ ยังต้องตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วัน หรือหากมีอาการ ก็สามารถตรวจซ้ำได้ทันที
ขณะที่หลังการตรวจ หากพบเป็นบวก ต้องแจ้งกับสถานพยาบาลที่กำหนด เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น สาธารณสุขของ กทม. หรือคลินิกในเครือข่ายที่มีการกำหนดไว้ เพื่อให้ดำเนินการต่อ เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล หรือ Home Isolation ต่อไป
ซึ่งในอนาคตประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อชุดตรวจโควิด-19 ได้เอง ในร้านขายยาที่มีเภสัชกรควบคุม ซึ่งจะได้มีการประกาศให้ทราบต่อไป แต่หากประชาชนที่ต้องการรับชุดตรวจฟรี สามารถไปรับได้ที่หน่วยบริการ สถานพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งจะต้องมีการซักประวัติ ความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Rapid Antigen Test ถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดังนั้นไม่แนะนำให้หาซื้อทางอินเทอร์เน็ตเด็ดขาด
...
- จัดทีมหน่วยบริการปฐมภูมิ รุกตรวจในชุมชน
ในระหว่างการล็อกดาวน์ประมาณ 2 สัปดาห์ หน่วยบริการปฐมภูมิจะมีการจัดเจ้าหน้าที่ และบุคลากร ประมาณ 188 ทีม ทีมละ 8 คน ลงพื้นที่ให้ความรู้ และดูแลคนในชุมชน หากพบผู้ที่มีความเจ็บป่วย ก็จะดูแลรักษาไม่ว่าจะเป็นเจ็บป่วยทางกาย หรือทางใจ รวมถึงหากพบผู้สูงอายุ หรือป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง ทีมนี้ก็จะสามารถฉีดวัคซีนให้ได้ทันที ซึ่งจะใช้การเชื่อมต่อแพทย์ผ่านเทเลเมดิซีน รวมถึงหากประเมินอาการแล้วจำเป็นต้องนำส่งรักษา ก็จะได้ประสานนำส่งเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลได้
- Home Isolation ต้องเป็นผู้ป่วยใหม่
ประเด็นการแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ผู้ป่วยที่ต้องการกักตัวที่บ้าน สามารถประสานกับหน่วยพยาบาลใกล้บ้าน หรือสถานพยาบาลที่ตรวจ swab แต่ถ้าติดขัดสามารถโทร. 1668 ได้
ในส่วนของคนไข้ที่เข้าเกณฑ์ Home Isolation ต้องเป็นผู้ป่วยใหม่ ที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ และอยู่ระหว่างรอเตียง หรือรับการรักษามาแล้วอย่างน้อย 7-10 วัน อาการคงที่ สามารถกลับมาทำ Home Isolation ต่อได้ที่บ้าน ซึ่งทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
ส่วนการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย จะต้องห้ามคนมาเยี่ยม หรือเข้าใกล้ผู้อื่นที่อยู่ด้วย รวมถึงการแยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัว ถ้าแยกไม่ได้ ต้องอยู่ห่างให้ได้มากที่สุด และสถานที่ต้องมีอากาศถ่ายเท เปิดหน้าต่างไว้ รวมถึงห้ามรับประทานอาหารร่วมกัน
การดูแลจากสถานพยาบาล จะมีการจัดปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ให้มีการประเมินอาการผ่านระบบเทเลเมดิซีน โดยแพทย์และพยาบาลทุกวัน รวมถึงมีการจัดอาหารส่งให้ 3 มื้อต่อวัน หากมีอาการเปลี่ยนแปลง หรือแย่ลง ให้แจ้งทีมแพทย์และรีบนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมและเริ่มให้บริการได้แล้ว
- วัคซีนบูสเตอร์ สำหรับประชาชน ได้ซิโนแวค 2 เข็ม รอศึกษาต่อ
เกี่ยวกับ การฉีดวัคซีนบูสเตอร์นั้น คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติซึ่งมาจากผลการศึกษาของแพทย์ นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์ ที่ศึกษาแล้วได้ผลตรงกันว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดกันจะมีประโยชน์ที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้สูง และสามารถต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาได้ดี
โดยมีแนวทาง คือ หากเข็มที่ 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2 ให้เป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา โดยให้ห่างจากเข็มแรก 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา โดยจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้น ใกล้เคียงกับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม แต่ใช้ระยะเวลาสั้นกว่า
ในกรณีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นแอสตราเซเนกา ให้รับเข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกาเช่นเดียวกัน โดยมีระยะห่างระหว่างเข็ม 12 สัปดาห์
ส่วนการฉีดบูสเตอร์โดสนั้น ขณะนี้จะเริ่มที่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า เนื่องจากขณะนี้เชื้อมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา และมีสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดน้อยลงไปตามเวลา โดยแนวคิดการให้วัคซีนบูสเตอร์โดสจะต้องห่างจากวัคซีนที่ได้รับเข็มที่ 2 ไปประมาณ 3-4 สัปดาห์ ซึ่งก็สอดคล้องกับการศึกษา
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาให้บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า หรือจะเป็นวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ หรือบริษัทอื่นๆ ได้แล้วแต่ความเหมาะสม เบื้องต้นไฟเซอร์จากสหรัฐฯ ยังไม่ส่งมอบมา ดังนั้น การกระตุ้นอาจใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที หากมีความพร้อม ขณะที่ประชาชนทั่วไปจะดูข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนเป็นลำดับต่อไป
- เจอติดเชื้อผสม 2 สายพันธุ์ในคนเดียว ถึง 7 คน
ส่วนภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ช่วงวันที่ 3-9 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมาพบว่า สายพันธุ์อัลฟา 51.8% สายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นเป็น 46.1% และสายพันธุ์เบตา 2.1% แต่หากแบ่งเป็นเฉพาะกรุงเทพมหานคร พบว่า สายพันธุ์เดลตามีมากขึ้น 57.1% รองลงมาคือสายพันธุ์อัลฟา 42.9% สำหรับภูมิภาคยังคงพบสายพันธุ์อัลฟามากกว่าสายพันธุ์เดลตา
ทั้งนี้ พบผู้ป่วย 1 ราย ที่บึงกาฬ เป็นแรงงานที่เดินทางกลับมาจากไต้หวัน ซึ่งยืนยันด้วยการตรวจยีนทุกตัว หรือโฮล จีโนม (Whole genome) แล้วกักตัวใน State Quarantine 14 วัน ตรวจหลายครั้งไม่พบเชื้อโควิด-19 แต่หลังกลับบ้านไปมีอาการป่วย ต่อมาภายหลังพบว่าติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เบตา จึงถอดรหัสพันธุกรรมไปเทียบกับของภาคใต้และไต้หวัน ปรากฏว่าไม่ได้มาจากทั้ง 2 แหล่ง จึงแจ้งกรมควบคุมโรคแล้วว่า ต้องสอบสวนคนใกล้ชิดเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจ หลังพบผู้ที่ติดเชื้อโควิด Mix infection คือเป็นการติดเชื้อผสม ในแคมป์คนงานก่อสร้างขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 7 ราย จากทั้งหมด 200 กว่าราย คือมี 2 สายพันธุ์ในตัวคนคนเดียว (อัลฟาและเดลตา) เป็นสัญญาณว่า หากปล่อยให้มี Mix infection แบบนี้เรื่อยๆ อาจจะเกิดลูกผสมที่เรียกว่า ไฮบริด เกิดเป็น Variant ตัวใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งไม่อยากให้เกิด.