• หดหู่ไม่แพ้กับการเสพข่าวผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 คือการที่เห็นภาพคนจำนวนมากไปนอนต่อแถวข้ามคืน เพื่อให้เข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19
  • Antigen Test Kit ชุดตรวจโควิด ที่ให้ผลทางวิทยาศาสตร์แม่นยำประมาณ 90% แต่ทำไม ถึงยังไม่มีการให้ซื้อไปตรวจได้เองเหมือนในบางประเทศ
  • ถ้าตรวจแล้วผลออกมาเป็นบวก หรือลบ จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป



ภาพที่หดหู่พอๆ กับการเห็นยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 คือประชาชนจำนวนมากจะต้องมานอนรอต่อแถวข้ามคืน เพื่อให้ได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องจากตัวเองเข้าข่ายมีความเสี่ยง หรือต้องนำใบรับรองไปใช้เพื่อการทำงาน

หลายคนมีคำถามในใจว่า ทำเราถึงยังไม่เข้าถึงชุดตรวจอย่าง Rapid Antigen Test ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น ซึ่งในบางประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฯลฯ ชุดตรวจนี้สามารถหาได้ตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อให้นำไปตรวจหาโควิดได้เองที่บ้าน แม้ผลที่ออกมาจะไม่เป็นทางการ แต่ทำให้เราคัดกรองตัวเองได้ในระดับหนึ่งว่า หากเราเป็นผู้ที่มีเชื้อโควิด-19 อยู่ในร่างกาย แม้ไม่มีอาการ ก็ต้องมีการตรวจซ้ำ เพื่อให้ได้ผลยืนยัน ก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษาให้รวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยกับตัวเอง และคนใกล้ชิด ดีกว่าการที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อในร่างกาย แล้วต้องไปเบียดเสียดเพื่อให้ได้รับการตรวจหาเชื้อ สุดท้ายแล้วเราอาจได้รับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัวก็ได้

...

สำหรับ Rapid Antigen Test เป็นการตรวจหาองค์ประกอบของไวรัส ซึ่งในประเทศไทยตอนนี้มีขึ้นทะเบียนอยู่ 24 ยี่ห้อ ถูกกำหนดให้ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ และดำเนินการโดยสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองในการตรวจ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 แห่งเท่านั้น โดยทั้ง 24 ยี่ห้อนั้นก็จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของการเก็บตัวอย่างที่ใช้ตรวจ เทคนิคการตรวจหาโปรตีนของไวรัส และการทำลายเชื้อของสารทำละลายที่ใช้ในการตรวจ ในทางวิทยาศาสตร์ให้ผลที่แม่นยำประมาณ 90% ทีเดียว



ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เผยแพร่รายชื่อชุดตรวจสำหรับโควิด-19 ประเภท Rapid Test แบบตรวจหา Antigen รูปแบบการใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการอนุญาตให้ผลิต/นำเข้า จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำนวน 24 ยี่ห้อ (ตรวจสอบได้ที่นี่)

หลายคนอาจตั้งคำถาม เมื่อให้ผลที่แม่นยำสูงในทางวิทยาศาสตร์ แล้วทำไมถึงไม่มีการนำมาใช้ในประเทศไทย แต่กลับไปใช้การตรวจแบบ RT-PCR ที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า ซึ่งแพทย์หลายคนได้อธิบายไว้ว่า การที่ให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจเอง ถ้าเก็บตัวอย่างไม่ดี อาจได้ผลการตรวจที่ผิดพลาดก็ได้

ทั้งนี้ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีข้อแนะนำในการตรวจ ซึ่งข้อหนึ่งระบุว่า หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ซึ่งเราจะเรียกว่า Antigen Test Kit เมื่อตรวจแล้วได้ผลเป็นลบ ไม่ได้แปลว่า “ไม่ติดเชื้อ” เพราะเชื้ออาจจะยังน้อย หรือตรวจไม่เจอด้วยการตรวจวิธีนี้ ส่วนคนที่ตรวจแล้วเจอเชื้อ ต้องถูกคอนเฟิร์มด้วยการตรวจแบบ RT-PCR ที่เป็นมาตรฐานอีกครั้งหนึ่ง เป็นการยืนยันเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา

กรณีการใช้ Antigen Test Kit ตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองนั้น มีข้อปฏิบัติดังนี้

- ตรวจสอบประเภทของตัวอย่างที่ใช้ทดสอบกับชุดตรวจ อาทิ ใช้ตัวอย่างจากการแหย่โพรงจมูก หรือน้ำลาย
- ศึกษารายละเอียด ขั้นตอนวิธีการทดสอบ การแปลผล จากเอกสารกำกับชุดตรวจ
- การเก็บสิ่งส่งตรวจ ต้องทำอย่างถูกขั้นตอน
- ข้อควรระวัง ไม่ว่าจะเป็น ต้องตรวจสอบวันหมดอายุของชุดตรวจ, ชุดตรวจถูกเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมก่อนนำมาใช้งานหรือไม่, เตรียมพื้นที่สำหรับการทดสอบให้สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน, อย่าเปิดซองที่บรรจุชุดตรวจ จนกว่าจะเริ่มการทดสอบ, อ่านผลตรงตามเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด การทำอย่างรวดเร็ว หรือช้าเกินไป อาจเกิดความผิดพลาดได้, ไม่นำอุปกรณ์เดิมมาใช้ซ้ำ, นำชุดตรวจที่ทดสอบแล้ว พร้อมอุปกรณ์ที่เหลือ แช่น้ำยาฆ่าเชื้อ แยกใส่ถุงให้มิดชิด และทิ้งให้เหมาะสม รวมถึงการล้างมือภายหลังการทดสอบ

ขณะที่หลังการตรวจ หากพบเป็นบวก ต้องแจ้งกับสถานพยาบาลที่กำหนด เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น, สาธารณสุขของ กทม. หรือคลินิกในเครือข่ายที่มีการกำหนดไว้ เพื่อดำเนินการต่อ จะเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล หรือ Home Isolation 

หากผลออกมาเป็นลบ แต่ประเมินเบื้องต้นแล้วเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ควรทดสอบซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วัน เนื่องจากอาจอยู่ในระยะฟักตัวของเชื้อ หรือหากปรากฏอาการของโควิด ควรทดสอบซ้ำทันที

วิธีการใช้งาน Antigen Test Kit เบื้องต้น

1. เก็บสิ่งส่งตรวจ ให้วนบริเวณโพรงจมูกประมาณ 5 รอบ เพื่อให้ได้สิ่งคัดหลั่งมามากที่สุด

2. ขั้นตอนการทดสอบ ให้จุ่มไม้ลงในหลอดที่มีน้ำยาสกัด หมุนและบีบอย่างน้อย 5 รอบ ก่อนที่จะนำไม้ swab ออก แล้วปิดฝาด้วยจุก จากนั้นหยดน้ำยาในตลับทดสอบตามจำนวนที่ชุดตรวจกำหนด รอประมาณ 15-30 นาที เพื่ออ่านผล ตามคำแนะนำในคู่มือ

3. การอ่านและแปลผลการทดสอบ ให้สังเกตที่เส้นตัว C ในตลับทดสอบก่อน หากเส้นไม่ขึ้น เท่ากับว่าวิธีการตรวจไม่ถูกต้อง ต้องหาชุดตรวจใหม่มาตรวจ แต่ถ้าเส้นตัว C ขึ้น แสดงว่าทำถูกต้อง จากนั้นให้ไปอ่านค่าที่ตัว T ถ้ามีเส้นปรากฏ แสดงว่าผลเป็นบวก มีโอกาสติดเชื้อไวรัส ถ้าเส้นไม่ขึ้น หมายความว่า ผลเป็นลบ

อาจจะมีคำถามว่า แล้วจะสามารถไปร้องขอ Antigen Test Kit ได้ที่ไหน นายแพทย์ศุภกิจ ระบุว่า ทาง สปสช.จะได้กำหนดว่า มีสถานพยาบาลที่ใดบ้างที่จะร้องขอไปตรวจได้ โดยไม่เสียเงิน ซึ่งในอนาคต หากมีการวางขายก็จะทำให้เกิดการแข่งขัน ราคาก็จะถูกลง ทำให้หลายคนสามารถซื้อได้เอง เพื่อให้เข้าถึงบริการเหล่านี้ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับ Antigen Test Kit นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ตอนนี้เราได้อนุญาตไปแล้ว จะได้เร่งดำเนินการตั้งแต่ 13 ก.ค. เป็นต้นไป ประชาชนที่ต้องการรับชุดตรวจฟรี สามารถไปรับได้ที่หน่วยบริการ สถานพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งจะต้องมีการซักประวัติ ความเสี่ยง

เนื่องจาก Antigen Test Kit ยังถือว่าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่แนะนำให้หาซื้อตามอินเทอร์เน็ตที่ไม่รู้ที่มา เนื่องจากเชื้อโควิด-19 เป็นเรื่องที่เราไม่ควรเอาชีวิตไปเสี่ยงกับของไม่มีคุณภาพ


ล่าสุด (13 ก.ค.64) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) พ.ศ. 2564 โดยมีเนื้อหาว่า เพื่อให้มีการเข้าถึงการตรวจคัดกรองที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) ด้วยตนเอง อันจะทำให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์โรคโควิด-19 ของตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มแรก นำไปสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัย ยืนยัน รักษาและป้องกันที่เหมาะสมโดยเร็ว ป้องกันการถ่ายทอดเชื้อให้บุคคลอื่น

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไป สามารถเริ่มซื้อ Antigen test kit ได้ ในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน ตามกฎหมายว่าด้วยยา เพื่อส่งต่อให้กับผู้ประกอบ วิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติการในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสถานที่ขายส่งยาแผนปัจจุบัน และสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษ.



ผู้เขียน : ไอลดา ธนะไพรินทร์
กราฟิก : Varanya Pae-araya