วิศวะจุฬาฯร่วมกับเชฟรอนฯเปิดตัวรถ “ดมไว” ขนหมาลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ดมกลิ่นเหงื่อหาผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่แสดงอาการพร้อมสนับสนุนกรมควบคุมโรค ตรวจเชิงรุกร่วมกับรถตรวจแบบ RT-PCR ในชุมชนที่เกิดการระบาดใน กทม. เพราะหมาดมกลิ่นดีกว่าคน 50 เท่า อีกทั้งโควิดมีกลิ่นเฉพาะ เผยก่อนนี้ประสบความสำเร็จในการตรวจหาเชื้อกับพนักงานเชฟรอนที่ภาคใต้ รวมทั้งคัดกรองบุคลากรจุฬาฯที่ กทม. ชี้แม่นยำถึงร้อยละ 96 ข้อดีคือลดงานเจ้าหน้าที่ ประหยัดทรัพยากร รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองเชิงรุก

สุดเจ๋งใช้ “รถดมไว” ขนหมาดมกลิ่นหาคนติดเชื้อโควิด เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ คณะวิศว-กรรมศาสตร์ ผู้ออกแบบรถดมไว นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัทเชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวการใช้สุนัขดมกลิ่นคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ โดยใช้ “รถดมไว” นำสุนัข 3 ตัว ชื่อว่าแองเจิล บ๊อบบี้ บราโว่ มาแสดงการดมกลิ่นให้สื่อมวลชนดู

ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ออกแบบรถดมไว กล่าวว่า การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทเชฟรอน ประเทศไทย นำสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ 6 ตัว ไปฝึก และนำไปทดสอบดมกลิ่นตรวจคัดกรองพนักงานเชฟรอน และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและควบคุมโรค ที่ 12 จังหวัดสงขลา 500 คน เมื่อเดือน มี.ค.64 ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ต่อมาเมื่อมีการระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นำสุนัขดมกลิ่นมาตั้งจุดตรวจที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อคัดกรองบุคลากรจุฬาฯ และผู้ป่วยติดเตียง เก็บตัวอย่างเหงื่อจากผู้ป่วยติดเตียงดังกล่าว รวม 1,500 ตัวอย่าง มีความแม่นยำในการตรวจหาเชื้อถูกต้องร้อยละ 96 ประกอบกับคณะวิศวกรรมฯได้ออกแบบรถ เพื่อให้สุนัขดมกลิ่นทำงานในตัวรถ เนื่องจากการนำสุนัขเดินไปในที่สาธารณะ อาจมีเชื้อไวรัสปะปนมากับขนสุนัข ทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ ต้องมีการป้องกันการติดเชื้อของสุนัขและเจ้าหน้าที่ ในรถจะเปิดแอร์ให้ความเย็นกับสุนัขและมีห้องพักสุนัขเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติงาน

...

ผู้ออกแบบรถดมไวกล่าวต่อว่า ขั้นตอนการทำงาน จะใช้สำลีหนีบไว้ที่รักแร้ของผู้สัมผัสทั้งสองข้าง ข้างละ 5 นาทีเพื่อเก็บเหงื่อ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมให้สุนัขดม นำสำลีบรรจุไว้ในกระป๋อง ด้านบนฝาจะมีรูให้กลิ่นออกมาแล้ววางไว้บนแท่นให้สุนัขเดินดมกลิ่น เนื่องจากกลิ่นเหงื่อของแต่ละคนมีกลิ่นเฉพาะ สุนัขมีความสามารถรับกลิ่นได้มากกว่ามนุษย์ถึง 50 เท่า ขณะที่เชื้อไวรัสโควิดมีกลิ่นเฉพาะตัวของมันเช่นกัน หากสุนัขดมกลิ่นเหงื่อแล้วไม่ได้กลิ่นจะเดินผ่าน แต่หากดมแล้วมีเชื้อโควิด สุนัขจะนั่งลงใช้ขาหน้าเขี่ยที่ตัวอย่างนั้น เราจะนำบุคคลนั้นไปตรวจหาเชื้อโดยวิธีการ RT-PCR (Real-time PCR ทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง สามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อยๆได้ในรูปแบบของสารพันธุกรรม) อีกครั้ง แต่ละรอบสุนัขสามารถดมกลิ่นได้รอบละ 12 ตัวอย่าง ตรวจได้วันละ 600 ถึง 1,000 ตัวอย่าง จากการทดสอบสุนัขดมกลิ่นมีความแม่นยำเช่นนี้ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตรวจเชิงรุกได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งลดภาระการตรวจหาเชื้อแบบสวอบ

ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอบคุณจุฬาฯที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และนำมาสนับสนุนการควบคุมโรค สำหรับรถดมไวจะนำไปใช้ควบคู่กับรถตรวจแบบ RT-PCR เพื่อใช้ทำงานการตรวจเชิงรุกในชุมชนที่เกิดการระบาดในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆขึ้นในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่จะคัดกรองแบ่งกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสียงต่ำ จากนั้นกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำจะมีการเก็บเหงื่อ เพื่อให้สุนัขดม ถ้าสุนัขนั่งลงแสดงว่ามีเชื้อ เราจะนำบุคคลนั้นไปตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR เพื่อตรวจหาเชื้อยืนยันผลอีกครั้ง ในแต่ละวันรถตรวจหาเชื้อจะเก็บเชื้อด้วยวิธีการสวอบ ประมาณวันละ 1,000 คน การนำสุนัขมาช่วยดมมีความแม่นยำในระดับที่ใช้ได้ จะช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และประหยัดทรัพยากรไปได้มาก เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองเชิงรุกเมื่อเกิดการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ๆขึ้นในแต่ละวัน ส่วนพื้นที่ที่จะลงไปคัดกรองเชิงรุกโดยใช้สุนัขดมกลิ่นนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรมควบคุมโรค

สำหรับรถ “ดมไว” มีชื่อเต็มเป็นภาษาอังกฤษว่า Dog Olfactory Mobile Vehicle for Viral Inspection (DOM VVI) ถูกออกแบบให้มีห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ อุปกรณ์การดม และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อต่างๆเพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกับกรมควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นที่ใช้สอยประมาณ 16.8 ตารางเมตร (7 เมตร×2.4 เมตร) ภายในแบ่งเป็น 4 ห้อง ได้แก่ 1.ห้องอเนกประสงค์ เป็นห้องสำหรับวางตู้ล็อกเกอร์เก็บสัมภาระผู้ปฏิบัติงานบนรถ และอุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์ทำความสะอาดรถ 2.ห้องพักสุนัข สำหรับให้สุนัขพักในช่วงเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติงาน 3. ห้องเตรียมตัวอย่าง เป็นห้องสำหรับรับตัวอย่างที่เก็บจากภายนอกตัวรถ เข้ามาเตรียมเปลี่ยนถ่ายภาชนะ 4.ห้องปฏิบัติงาน เป็นพื้นที่สำหรับให้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากตัวอย่างที่วางบนแท่นวางตัวอย่างจำนวนรอบละ 12 แท่น