เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มูลนิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชน และครอบครัว สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “สถานศึกษากับปัญหาคุกคามทางเพศ” น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาการคุกคามทางเพศ พบว่า ในปี 2562 มีข่าวการคุกคามทางเพศ 333 ข่าว น่าตกใจว่าเป็นข่าวเด็ก วัยรุ่นนักเรียนนักศึกษาถึงร้อยละ 84.8 และจากการติดตามข่าวการคุกคามทางเพศในสถานศึกษาช่วงปี 2562-2564 พบว่ามี 12 กรณี แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษา 6 กรณี มหาวิทยาลัย 6 กรณี ผู้กระทำเป็นครูและอาจารย์ โดยผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เก็บเรื่องไว้ไม่กล้าบอกใคร ทำให้เกิดภาวะเครียด ป่วยโรคซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย มูลนิธิฯมีข้อเสนอให้สถานศึกษาส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพิ่มช่องทางการร้องเรียนที่หลากหลาย และแก้ช่องว่างกฎหมายที่ต้องคุ้มครองการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ด้วย
ด้านนางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า สถานศึกษาทุกระดับต้องมีหลักสูตรให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้านมืดของการคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะการเรียนรู้เชิงกระบวนการ และมีพื้นที่รับเรื่องร้องเรียน โดยเฉพาะกรณีครูละเมิดต่อนักเรียน กลไกดังกล่าวต้องมาพร้อมกับโรงเรียนที่เป็นมิตร ปลอดภัย ปราศจากระบบอำนาจนิยม และต้องมีการลงโทษนักเรียนที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ถูกต้อง เป็นการให้บทเรียนแทนการลงโทษแบบผลักไสไล่ส่งออกไปจากสังคม
ขณะที่ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกคนทราบดีว่าการคุกคามทางเพศเป็นอาชญากรรม และปัญหาในมหาวิทยาลัยกลับถูกซุกอยู่ใต้พรมมานาน เพราะนักศึกษาชาย หญิงตีความต่างกัน โดยนักศึกษาชายตีความนิยามแบบแคบว่าต้องเป็นการข่มขืนถึงเรียกว่าเป็นการคุกคามทางเพศ แต่นักศึกษาหญิงจะตีความแบบกว้างโดยมองว่าการคุกคามทางเพศจะครอบคลุมทั้งเรื่องการใช้วาจา สายตา ภาษากาย ข่มขืน ในขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ไม่มีกระบวนการให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้เพราะคิดว่าปัญหาไม่มีอยู่จริง.
...