โลกยุคใหม่ที่ผู้คนหันกลับมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากขึ้น ไม่สร้างภาระ และพร้อมที่จะคืนชีวิตกลับสู่ธรรมชาติ แบบไม่ฝืนไว้บวกกับสิทธิในการจัดการกับร่างกายของตนเอง ที่มีความพยายามผลักดันเรื่องนี้มานานมากกว่า 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหน
แม้ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ (พ.ศ.2550) จะมีบทบัญญัติที่สนับสนุนการทำลีฟวิ่งวิลล์ (Living Will) หรือเพื่อระบุความต้องการที่จะมีการจัดการกับร่างกายของตนเองในวาระสุดท้าย ถือเป็นการเตรียมตัวเตรียมความพร้อมแต่เนิ่นๆ เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าหรอกว่า
ตั๋วเดินทางชีวิตของตัวเองจะหมดตอนไหน...!!
ระยะหลังมานี้ ผู้คนมีความเข้าใจและนิยมที่จะบริจาคอวัยวะ บริจาคร่างกาย เพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นทั้งในทางการแพทย์ และแม้แต่ต่อลมหายใจ ต่อชีวิตของคนที่รอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะอยู่
จริงๆเมื่อตัดสินใจที่จะบริจาคอวัยวะ หรือบริจาคร่างกายแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่คิดว่าเราทุกคนควรตื่นตัวและเตรียมทำไว้แต่เนิ่นๆ ก็คือ “พินัยกรรมชีวิต” หรือ Living Will ด้วย เพื่อไม่ให้คนที่อยู่ข้างหลังต้องมาโต้เถียง อธิบายหรือขัดแย้ง เพราะผู้ที่หมดลมหายใจไปแล้ว ไม่ได้บอกไว้
...
หลายคนเขียนไว้เลยว่า “หากอยู่ในวาระสุดท้ายที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้แล้ว หรือการแพทย์ใดๆก็ไม่สามารถจะยื้อชีวิตข้าพเจ้าได้อีกแล้ว ขอให้ปล่อยข้าพเจ้าไป ไม่ต้องเจาะคอ ปั๊มหัวใจ หรือกระทำหัตถการใดๆเพื่อยื้อชีวิตต่อไปอีก และหลังจากข้าพเจ้าสิ้นลมหายใจแล้ว อวัยวะทุกส่วนที่ยังใช้การได้ และเป็นประโยชน์ขอให้มอบแก่...ส่วนร่างกายขอให้เป็นอาจารย์ใหญ่ สำหรับการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ และ วิทยาศาสตร์ โดยข้าพเจ้าได้ติดต่อบริจาคไว้แล้วที่...”
ถ้าเขียนไว้ชัดเช่นนี้ ปัญหาของคนอยู่ข้างหลังก็จะลดน้อยลงหรืออาจจะไม่เกิดปัญหาเลยก็เป็นได้
แต่ก็นั่นละ โลกมนุษย์จะไม่มีปัญหาเลยคงเป็นไปไม่ได้ แม้จะทำ Living Will ไว้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีรายละเอียดอีกบางส่วนที่ต้องรับรู้และทำความเข้าใจ
กรณีการเสียชีวิต ถ้าตายในโรงพยาบาลแล้วมี Living Will จะไม่ค่อยยุ่งยากเท่าไหร่ เพราะแค่แจ้งกับทางโรงพยาบาล ทุกอย่างก็จะถูกจัดการไปตามระบบ ขั้นตอนต่างๆ
แต่ถ้าตายนอกโรงพยาบาล อาจจะยุ่งยากสักนิด แต่ก็ไม่ได้หนักหนาอะไร หากมีการเขียนไว้ชัดเจน และคนในครอบครัวหาข้อมูลไว้เป็นความรู้บ้างบางส่วน
กรณีบริจาคอวัยวะ...
ถ้าตายที่บ้านหรือที่อื่นๆที่ไม่ใช่โรงพยาบาล อวัยวะนั้นก็ใช้งานไม่ได้ เพราะอวัยวะที่จะใช้งานได้ ต้องเกิดจากการที่ “สมองตาย” เท่านั้น ถ้าตายในโรงพยาบาล กระบวนการเก็บรักษาอวัยวะสามารถทำได้ทันที อวัยวะนั้นจึงเป็นประโยชน์
กรณีบริจาคร่างกาย...
ถ้าบริจาคร่างกายผ่านสภากาชาดไทย (หรือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์-ที่เดียวกัน) ให้พิจารณาดังนี้
ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล (สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร) รพ.จุฬาฯสามารถไปรับร่างผู้อุทิศร่างกายโดยโทร.แจ้งศูนย์รับร่างฯ โทร. 0-2256-4281, 0-2256-4737 (เวลาราชการ) หรือ 08-3829-9917 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ถ้าอยู่ต่างจังหวัด มีเพียง 4 โรงพยาบาลเท่านั้นที่จะโทร.แจ้งให้ไปรับได้ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) คือ โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี, โรงพยาบาลพุทธโสธร-ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลสมเด็จพระนารายณ์-ลพบุรี และโรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี
ถ้าบ้านอยู่ใกล้เคียงโรงพยาบาลศูนย์ดังกล่าว สามารถนำร่างไปส่งเองที่โรงพยาบาลโดยเรียกบริการจากมูลนิธิสาธารณประโยชน์ (มีค่าบริการ)
หรือนำร่างส่งโดยตรงที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และศูนย์ฝึกผ่าตัด อาคารแพทยพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์)
ในกรณีที่ผู้อุทิศร่างกายอยู่ในระยะไกลกว่า 100 กม. รพ.ใคร่ขอให้บรรจุใส่หีบเย็น หรือใช้ถุงน้ำแข็งอย่างน้อย 2 ถุงวางบนหน้าท้อง แล้วคลุมด้วยผ้าห่ม แล้วจึงนำส่งที่ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์
โรงพยาบาลจะรับร่างของผู้อุทิศร่างกายฯได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานบันทึกประจำวันแจ้งการเสียชีวิตจากสถานีตำรวจ หรือใบมรณบัตรจากสำนักงานเขต และเตรียมเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์รับร่างฯ ดังนี้
-สำเนาบัตรประชาชนผู้มอบร่าง 1 ฉบับ
-สำเนาใบมรณบัตรหรือหนังสือรับรองการตาย (ลงนามสำเนาถูกต้อง) 3 ฉบับ
ถ้าเอกสารครบถ้วนทุกอย่าง ก็สามารถดำเนินการตามเจตนารมณ์ของผู้ตายได้เลย ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา
ส่วนคนที่ยังมีชีวิตอยู่วันนี้ อ่านเรื่องนี้แล้ว เกิดแรงบันดาลใจอยากบริจาคอวัยวะหรือบริจาคร่างกาย มีข้อแนะนำว่า ผู้ที่ต้องการอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา สามารถแจ้งผ่าน 3 ช่องทาง คือ
ศาลาทินทัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-15.00 น./เสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-14.00 น. โทร. 0-2256-5079
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ชั้น 11 และศูนย์ฝึกผ่าตัด ชั้น 4 อาคารแพทยพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-15.00 น.
แจ้งความจำนงผ่านช่องทางออนไลน์ http://chulalongkornhospital.go.th/anatomyreg/
ว่าแล้วก็กลับไปลองคิดดู เริ่มจากทำ Living Will สำหรับตัวเองก่อน จากนั้นจะไปบริจาคอวัยวะหรือร่างกาย
สามารถค้นข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาได้ใน https://www.redcross.or.th/donate/body หรือคลิกดูรายละเอียดเรื่อง Living Will ได้ใน https://www.thailivingwill.in.th/ และดาวน์โหลดตัวอย่างการเขียน Living Will ในลิงก์นี้ https://www.thailivingwill.in.th/sites/default/files/024_livingwill.pdf