วันเสาร์สบายๆวันนี้หนีเรื่องทุกข์ไปคุยเรื่อง “บ๊ะจ่าง” กันนะครับ บ๊ะจ่างเป็นอาหารเช้าของคนทางใต้ เมื่อกินกับกาแฟโบราณช่วยให้อิ่มท้องไปได้ครึ่งวันเลยทีเดียว วันจันทร์นี้ 14 มิถุนายน ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามประเพณีจีนถือเป็น “วันบ๊ะจ่าง” และ เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง หรือ เทศกาลตวนอู่ ด้วย เพื่อรำลึกถึงมหากวีจีนผู้ซื่อสัตย์รักชาติรักแผ่นดินแห่งแคว้นฉู่ในสมัยเลียดก๊ก วันนี้รัฐบาลจีนยังได้กำหนดให้เป็น “วันกวีจีน The Chinese Poet’s Day” เพื่อรำลึกถึงมหากวีผู้ซื่อสัตย์ท่านนี้อีกด้วย

ในช่วงนี้ร้านอาหารจีนชื่อดังจึงมีบ๊ะจ่างขายกันแทบทุกร้าน เพื่อนฝูงที่รักกันชอบกันก็จะส่งบ๊ะจ่างเจ้าอร่อยไปแบ่งปันให้เพื่อนพ้องได้อิ่มท้องกันด้วย

“วันบ๊ะจ่าง” หรือ “เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง” ยังมีเทศกาลสำคัญที่เป็นเทศกาลคู่อีกด้วยคือ “เทศกาลแข่งเรือมังกร” Dragon Boat Festival ในประเทศจีนจะจัดแข่งกันที่แม่น้ำแยงซีเกียง แม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของจีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ต่างมีประเพณีแข่งเรือมังกรในเทศกาลบ๊ะจ่างจนกลายเป็นเทศกาลท่องเที่ยวที่สำคัญไปแล้ว

เขียนถึงบ๊ะจ่างทีไรผมก็นึกถึง “บ๊ะจ่างเมืองตรัง” ทุกที ไปลิ้มชิมรสมาหลายสิบปีแล้วก็ยังติดใจไม่หาย จังหวัดตรัง เป็นเมืองที่มีร้านกาแฟมากมาแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ร้านกาแฟเมืองตรังสมัยก่อนเป็นห้องแถว ขาย กาแฟดำ กาแฟใส่นมข้นหวาน นมข้นหวานจะจมอยู่ก้นถ้วยแยกจากกาแฟชัดเจน เวลาดื่มต้องใช้ช้อนตีคนให้นมข้นหวานกับกาแฟเป็นเนื้อเดียวกัน กาแฟสมัยก่อนเป็นกาแฟคั่วมือ มีกลิ่นกาแฟหอมมาก กาแฟอีกอย่างที่อร่อยมากคือ กาแฟยกล้อ เป็นกาแฟดำผสมกับชาโบราณใส่นมข้นหวาน สีออกน้ำตาลอ่อนพาสเทล เวลาดื่มจะได้สองกลิ่นผสมกัน

...

ร้านกาแฟเมืองตรังทุกร้านจะมีติ่มซำขายด้วย สมัยก่อนมีไม่กี่อย่าง ตั้งอยู่บนซึ้งนึ่งหน้าร้านให้ร้อนอยู่ตลอดเวลา มีขนมจีบ ซาลาเปา บ๊ะจ่าง บ๊ะจ่างที่ผมชอบเป็นบ๊ะจ่างขนาดกลาง ไม่ใหญ่เท่าปัจจุบัน แต่เนื้อในบ๊ะจ่างนี่ซิต้องบอกว่า ชุ่มฉ่ำได้น้ำได้เนื้ออร่อยจริงๆ บ๊ะจ่างเมืองตรังสมัยก่อนใส่ไส้ไม่กี่อย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ หมูพะโล้ 3 ชั้นที่ตุ๋นจนหนังเปื่อย เมื่อนึ่งบ๊ะจ่างจนสุกได้ที่ รสชาติของหมูพะโล้ น้ำพะโล้ และมันจากหมูพะโล้ 3 ชั้นที่ตุ๋นจนเปื่อย จะซึมลึกเข้าไปในเนื้อข้าวเหนียว ทำให้ข้าวเหนียวอ่อนนุ่มชุ่มฉ่ำสีสวยและหอมมากๆ รับประทานร้อนๆกับกาแฟโบราณอร่อยที่สุดเลย

เล่าเรื่องบ๊ะจ่างสมัยก่อนแล้วน้ำลายสอ ไปดูที่มาของบ๊ะจ่างกันดีกว่าครับ เล่ากันว่าในสมัย เลียดก๊ก (ก่อนสามก๊ก) มีนักปราชญ์ราชกวีท่านหนึ่งชื่อ “ซีหยวน” รับราชการเป็นขุนนางในสมัย พระเจ้าฉู่หวายอ๋อง

ซีหยวนเป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์ มีความรู้ความสามารถสูง เป็นที่โปรดปรานของ พระเจ้าฉู่หวายอ๋อง แต่พวกขุนนางกังฉินโกงบ้านโกงเมืองไม่ชอบ หาทางทำลายด้วยการรวมหัวกันหาเรื่องใส่ไคล้ต่างๆนานาจน พระเจ้าฉู่หวายอ๋อง ชักเริ่มเอนเอียง

ซีหยวน รู้สึกระทมตรมใจมาก จึงได้แต่งบทกวีขึ้นมาคลายทุกข์ชื่อ “หลีเซา” หรือ “ความเศร้าโศก” ต่อมา พระเจ้าฉู่หวายอ๋อง ถูกกลลวงของแคว้นฉิน จนสวรรคตในแคว้นฉิน รัชทายาทได้ขึ้นครองราชย์แทน หลงเชื่อคำยุยงของเหล่าขุนนางกังฉิน จึงได้เนรเทศซีหยวนออกจากแคว้นฉู่ ซีหยวนเศร้าใจมาก เมื่อเดินทางมาถึงแม่น้ำแยงซีเกียง ซีหยวนได้เขียนบทกวีบทสุดท้ายในหลีเซาจบ ก็ใช้ก้อนหินถ่วงตัวเองลงสู่แม่น้ำในวันที่ 5 เดือน 5 แม้ชาวบ้านแถบนั้นจะค้นหาอย่างไรก็ไม่พบร่างของซีหยวน

ระหว่างที่ค้นหาชาวบ้านเอาข้าวปลาอาหารโปรยลงแม่น้ำด้วย เพื่อให้สัตว์น้ำกินเป็นอาหารจะได้ไม่ไปกินศพของซีหยวน ทำมา 2 ปีก็มีชาวบ้านฝันเห็นซีหยวนในชุดสวยงาม ขอบคุณชาวบ้านที่โปรยอาหารเซ่นไหว้ แต่อาหารถูกสัตว์น้ำกินไปหมด จึงแนะนำให้นำอาหารมาห่อด้วยใบไผ่มัดให้แน่น แล้วค่อยโยนลงน้ำ ปีต่อมาชาวบ้านก็นำอาหารห่อด้วยใบไผ่โยนลงน้ำเพื่อเซ่นไหว้ซีหยวน และทำกันมาจนเป็นประเพณี เลยกลายเป็นที่มาของ “บ๊ะจ่าง” ด้วยประการฉะนี้

วีกเอนด์นี้อย่าลืมไปหาบ๊ะจ่างเจ้าอร่อยมารับประทานกันนะครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”