ผศ.ดร.ธรณ์ ถามเลิกกิน "เห็ดหลุบ" ดอกไม้ทะเล ได้ไหม เนื่องในวันทะเลโลก 8 มิ.ย. ชี้ความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล ตามกฎหมาย ห้ามกิน ห้ามขาย ฝ่าฝืนมีโทษ
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" เนื่องจากพรุ่งนี้ (8 มิ.ย.) จะเป็นวันทะเลโลก ว่า หากขออะไรได้ อยากขอสิ่งหนึ่งที่เห็นมานานแต่ไม่จบสักที เลิกกินเห็ดหลุบได้ไหม
พร้อมอธิบลายว่า "เห็ดหลุบ" เป็นชื่อพื้นเมืองของดอกไม้ทะเลชนิดหนึ่ง มีหนวดสั้น อยู่ตามพื้นท้องทะเล ดอกไม้ทะเลพวกนี้เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่อยู่ร่วมกัน เช่น ปลาการ์ตูน กุ้ง/ปู ดอกไม้ทะเล เป็นบ้านหลังน้อยท่ามกลางทรายว่างเปล่า ทำให้พื้นทะเลมีชีวิต ยังทำให้พื้นทะเลมีรายได้ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะนักดำน้ำเห็นแล้วชอบใจนัก ยิ่งช่วงนี้การดำน้ำดูสัตว์เล็กในทะเลกำลังมาแรง เห็ดหลุบยิ่งทวีความสำคัญ
นอกจากนี้ ดอกไม้ทะเลยังเป็นสัตว์ที่เรียบง่ายแต่ซับซ้อน
เรามีความรู้น้อยมาก เราเพาะเลี้ยงทำฟาร์มไม่ได้ อยากได้ต้องไปจับจากทะเล ดอกไม้ทะเลทุกชนิด รวมถึงเห็ดหลุบ จึงถูกประกาศเป็นสัตว์คุ้มครองในทะเลรุ่นแรกๆ พร้อมกับปะการัง กัลปังหา และหอยมือเสือ
แต่ปัญหาคือ "เห็ดหลุบ" เป็นอาหารพื้นเมืองแถวสมุย พะงัน ชาวบ้านกินกันมานานแล้ว การกินนานๆ ครั้ง อาจส่งผลไม่มาก แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยว มีการนำเห็ดหลุบเข้าร้านอาหาร มีการพูดถึงในสื่อโซเชียล ความต้องการจึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดการลักลอบจับกันขนานใหญ่
ในด้านกฎหมาย เห็ดหลุบอยู่ในระดับเดียวกับเสือดำ กระทิง ฯลฯ เป็นสัตว์คุ้มครองห้ามจับห้ามขายห้ามซื้อและ “ห้ามกิน”
พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองฯ มาตรา 89 ระบุโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้าน หรือทั้งจำทั้งปรับ
พร้อมขอร้องกรุณาอย่ากินเห็ดหลุบ เพราะคุณกำลังกิน “บ้าน” ของเพื่อนๆ ใต้ทะเล ฆ่าทุกชีวิตที่อยู่ในบ้านหลังนั้น หากพบการค้าขายในร้านอาหาร มีการกินโชว์ในสื่อต่างๆ ฯลฯ
แจ้งได้ที่หน่วยงานต่างๆ เช่น สายด่วนสัตว์ป่า กรมทะเล กรมประมง ฯลฯ เหมือนกับการแจ้งสัตว์สงวนสัตว์คุ้มครองทั้งหลาย
...