"ป่าน-เขื่อน" ร่วมถ่ายทอดศิลปะ ในโปรเจกต์ Converse City Forests กับภาพวาด Street Art แห่งใหม่ ย่านอารีย์ สะท้อนความหลากหลายของมนุษย์ และอิสระในการเลือก
เพราะ "ศิลปะ" คือช่องทางหนึ่งในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งที่ผ่านมา หลายต่อหลายครั้ง ที่ศิลปะถูกนำมาเป็นตัวแทนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง รวมถึงถูกนำมาเป็นข้อเรียกร้อง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย
เช่นเดียวกับโปรเจกต์ของ "Converse City Forests" ที่เป็นการรวมตัวของเหล่าครีเอทีฟของ All Stars ทั่วโลก มาออกแบบและวาดภาพ เน้นย้ำในการแสดงตัวตนและพลังของศิลปะ โดยใช้สีชนิดพิเศษพัฒนาโดย Graphenstone ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เลียนแบบการทำงานของธรรมชาติเสมือนได้ปลูกต้นไม้ถึง 350 ต้น เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและอากาศที่บริสุทธิ์ขึ้นของโลก ซึ่งแคมเปญนี้ก็มีกระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยเอง แคมเปญนี้จะอยู่ที่ อารีย์ กรุงเทพฯ (ตรงข้าม Gump อารีย์) ถือเป็นแคมเปญที่ 3 ต่อจากจุด ซ.เพชรบุรี 18 และตลาดริมน้ำ หอนาฬิกาโพธาราม โดยภาพวาดฝาผนังในครั้งนี้ต้องการร่วมเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลาย ความลื่นไหล และอิสระในการเลือก ผ่านผลงานที่สื่อให้เห็นความเป็นมนุษย์มากที่สุด ไม่จำกัดว่าเป็นหญิง หรือชาย โดย 2 ศิลปินรุ่นใหม่ อย่าง ป่าน ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา @julibakerandsummer ซึ่งผลงานศิลปะของป่านมักจะอยู่ตามที่ต่างๆ ตั้งแต่กำแพง เสื้อผ้า ไปจนถึงผ้าแคนวาส
...
อีกคน เรียกว่ารู้จักกันดีกับ เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ @koendanai นักจิตอายุรเวชฝึกหัดจากประเทศอังกฤษ รวมทั้งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องในด้านสุขภาพจิต ความเสมอภาค ให้กับกลุ่มของ LGBTQ+ มาโดยตลอด หรือที่เรารู้จักกันดีในนามอดีตสมาชิกวงบอยแบนด์
ซึ่งผลงานของทั้ง 2 นั้นถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการพูดคุยแชร์ความคิดเห็นที่มีร่วมกันจึงเกิดเป็น mural concept ที่ว่า Main figure คือ มนุษย์ เพื่อสื่อให้เห็นความเป็นมนุษย์มากที่สุด ไม่จำกัดว่าเป็นเพศใด เพิ่ม Element ดอกไม้ กับมนุษย์ผีเสื้อเข้าไป เป็นตัวแทนของธรรมชาติ เพราะโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เกิดมาย่อมมีความหลากหลาย การกำหนดว่าเพศต้องมีแค่ชายจริงหญิงแท้ เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมาภายหลัง
ส่วนท่าทาง หรือ Posture ของมนุษย์นั้นตั้งใจให้มันดูสบายๆ สื่อถึง Comfort zone ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ได้รับจากสังคมรอบข้าง ทำให้คนๆ นั้น รู้สึกอิสระที่จะแสดงความเป็นตัวตนของตัวเอง และการที่ป่านได้คุยกับเขื่อนในเรื่องนี้ ก็มีความเห็นที่ตรงกันว่า ความลื่นไหลทางเพศ และศิลปะมีความคล้ายกัน มีความลื่นไหล สามารถตีความได้หลากหลาย และแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ซึ่งมันคือเรื่องที่ดี