เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงการบริหารจัดการการศึกษาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้ ศธ.ได้ออกประกาศเรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของ ศธ. ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นมาตรการ Work From Home สำหรับสถานที่ราชการในสังกัด ศธ.จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. ส่วนการฉีดวัคซีนให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ศธ.นั้นจะรวมไปถึงครูสอนภาษาชาวต่างประเทศด้วย ขณะนี้มีครูได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วหลายหมื่นคน

โดยในวันที่ 7 มิ.ย.จะถือเป็น การเริ่มการฉีดวัคซีนให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่ง กทม.จะจัดให้ไปฉีดที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนต่างจังหวัดมอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) รวบรวมรายชื่อและจัดตารางแบ่งการฉีดวัคซีน จากนั้นส่งให้ ศบค.จังหวัดไปดำเนินการต่อไป ส่วนประกาศ ศธ. เรื่องแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นนั้น สถานศึกษาและผู้ปกครองจะต้องไปทำข้อตกลงร่วมกัน เช่น ค่ากิจกรรมเรียนว่ายน้ำ เรียนพิเศษเสริม เป็นต้น หากไม่ได้จัดการเรียนการสอนจริงก็ต้องคืนเงินให้ผู้ปกครอง

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้รับรายงาน สถานศึกษาที่เปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ในวันที่ 1 มิ.ย. จำนวนทั้งสิ้น 12,571 แห่ง แบ่งเป็นการเรียนแบบ On site จำนวน 5,865 แห่ง On air 2,377 แห่ง On demand 2,187 แห่ง On line 2,926 แห่ง และ On hand 8,603 แห่ง เปิดเรียนวันที่ 14 มิ.ย. จำนวน 15,956 แห่ง และเปิดเรียนระหว่าง วันที่ 2-13 มิ.ย. จำนวน 171 แห่ง

ส่วนโรงเรียนประจำ ได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนในพื้นที่สูง ที่มีนักเรียนทั้งหมด 28,000 คน ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข จัดส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลเรื่องมาตรการด้านสุขภาพนักเรียน สำหรับแนวประกาศ ศธ. เรื่อง แนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นในส่วนโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้น สพฐ.ได้กำหนดการเก็บค่าธรรมเนียมให้คณะกรรมการ สถานศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้กำหนดในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนใดที่ไม่มีความจำเป็นก็ควรหาวิธีลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง.

...