หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ดำเนินการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง (Thai-Denmark Smart Dairy Farm) ใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี...ล่าสุดโครงการเตรียมเปิดบริการให้เกษตรกร นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้แล้ว
ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูงเป็นอย่างไร และทำไมไทยถึงต้องมี???
“ปี 2562 ครม.อนุมัติงบประมาณ อ.ส.ค.ยืมเงินจำนวน 51.7 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพของประเทศ รวมถึงพัฒนาบุคลากรด้านกิจการโคนมและเกษตรกร ให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการเลี้ยงโคนมเชิงพาณิชย์ รวมถึงสามารถแข่งขันได้ในกรอบการค้าเสรี โดยเฉพาะเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ ที่จะมาถึงในเร็วๆนี้ เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อุตสาหกรรมโคนมไทยจะได้รับผลกระทบ”
สุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย บอกถึงที่มาของฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง ที่ อ.ส.ค.จะพัฒนาให้เป็นฟาร์มสาธิตเชิงธุรกิจ พร้อมทั้งพัฒนาพื้นที่ของ อ.ส.ค. ให้เป็น Smart Dairy Farm ใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการฟาร์ม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งฝึกภาคปฏิบัติ และสร้างบุคลากรมืออาชีพด้านการเลี้ยงโคนม รวมทั้งเป็นฟาร์มสำหรับใช้ในการศึกษา พัฒนารูปแบบการบริหารจัดการฟาร์ม ให้มีความสะดวกและเหมาะสมกับการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรยุคใหม่ ให้สอดคล้องกับหลักการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare)
...
รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยี และรูปแบบการจัดการฟาร์มที่มีการแบ่งกลุ่มโคนมตามการให้ผลผลิตน้ำนม และแหล่งเรียนรู้รูปแบบการให้อาหารผสมสำเร็จ (Total Mixed Ration, TMR) ที่มีมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของโคแต่ละกลุ่ม
เบื้องต้นกำหนดให้มีแม่โครีดนมไม่น้อยกว่า 100 ตัว แต่ละตัวให้ผลผลิตเฉลี่ยไม่น้อยกว่าวันละ 20 กก. มีองค์ประกอบน้ำนมสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อ และการจัดฝึกอบรม รวมถึงวางเป้าให้มีการศึกษาดูงานในฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง สำหรับนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ส่งเสริม และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ปีละไม่น้อยกว่า 680 คน และมีการเข้าเยี่ยมชมกิจการฟาร์มสำหรับนักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไป เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% จากจำนวนนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่มาเยี่ยมชมที่ อ.ส.ค.ปีละ 60,000 คน
ถือเป็นฟาร์มสาธิต และถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการฟาร์มที่ทันสมัย นำร่องแห่งแรกของประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นำไปปรับใช้สําหรับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตโคนมของตัวเอง
ทั้งนี้ ถึงแม้ปัจจุบัน อ.ส.ค.จะมีฟาร์มโคนมอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนไปเป็นฟาร์มโคนมอินทรีย์ทั้งหมดแล้ว เพื่อให้มีผลผลิตนมอินทรีย์เพียงพอสำหรับรองรับความต้องการของผู้บริโภค ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นออร์แกนิก ที่ได้มูลค่าสูงกว่า ทำให้ อ.ส.ค.ไม่มีฟาร์มโคนมที่มีการจัดการแบบทั่วไป สำหรับเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร
นอกจากนั้นโรงเรือนคอกพักโค และเครื่องจักรอุปกรณ์ก็มีอายุการใช้มาอย่างยาวนาน ไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการจัดการฟาร์มโคนมในปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ประกอบกับ อ.ส.ค. ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังขาดฟาร์มที่มีเครื่องจักรอุปกรณ์และการจัดการฟาร์มด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้เข้าอบรม
ประกอบกับนโยบายเปิดเขตการค้าเสรี (Free Trade Area, FTA) ในหลายกรอบการค้า ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี โดยรวมแล้วไทยจะได้รับผลประโยชน์ แต่ในอีกด้านหนึ่งสินค้าเกษตรบางกลุ่มจะได้รับผลกระทบ รวมถึงโคนมและผลิตภัณฑ์นม โดยเฉพาะการเปิดเขตการค้าเสรีกรอบทวิภาคีไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีพัฒนาการความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมโคนมมากกว่าประเทศไทยมาก ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงต่ำกว่าไทยค่อนข้างเยอะ.
กรวัฒน์ วีนิล