ของขลังที่คนจีนในประเทศไทยนิยมติดไว้ที่ประตูหรือหน้าต่างบ้าน เดิมทีมีสองอย่าง อย่างแรก รูปยันต์แปดเหลี่ยม ที่เรียกกันว่ายันต์โป้ยข่วย เล่ากันว่าความนิยมยันต์นี้ เริ่มมีตั้งแต่สมัยพระเจ้าวั่งตี่
ยันต์นี้ เชื่อกันว่าถ้าจะให้ขลังยิ่งขึ้น ต้องเขียนลงบนกระจกเงา
ธรรมชาติของผีกลัวกระจกเงา เมื่อเขียนยันต์โป้ยข่วยลงไป ผีก็ยิ่งกลัว จนไม่กล้าเข้ามาเฉียดใกล้
(รู้ร้อยแปด เล่ม 2 ส.พลายน้อย สำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ.2544)
อย่างที่สอง หน้าสิงโตคาบดาบ คนจีนเชื่อว่าสิงโตเป็นเครื่องหมายของพระพุทธเจ้า จึงนิยมสร้างสิงโตไว้ตามประตูโบสถ์วิหาร หรือทางเข้าวัด ถือว่าเป็นเครื่องป้องกันอย่างหนึ่ง
จีนไทยพี่น้องกัน เมื่อพี่นิยมสิงโต น้องไทยเราก็เอาสิงโตหินจากเมืองจีน มาประดับทางเข้าวัดเหมือนกัน
ส่วนการเอาดาบหรือกั้นหยั่นมาให้สิงโตคาบนั้น อาจารย์ส.พลายน้อย ท่านก็ไม่ทราบความเป็นมา แต่ก็สันนิษฐานเอาตามความเชื่อของจีนโบราณที่ถือว่ามีดดาบหรือกั้นหยั่น ป้องกันภูตผีปีศาจได้
ถ้าไม่มีดาบ บางหมู่บ้านก็ใช้ไม้จำพวกสนุ่น หรือตะไคร้บก ต้นสนุ่นใบคล้ายลำพูชอบขึ้นริมน้ำ เอาต้นหรือใบมาใช้แทนมีด หรือจะใช้ช่อกระเทียม กระทั่งต้นไม้ป่าชนิดใดก็ได้ที่มีใบคล้ายมีดดาบ เอามาแขวนไว้
รวมความว่า ทั้งยันต์โป้ยข่วย ทั้งหน้าสิงโตคาบดาบ จะช่วยกันป้องกันภูตผีปีศาจ หรือสิ่งเลวร้ายไม่ให้เข้ามาในบ้านเรือน
ต่อมาได้รวมเอาทั้งยันต์โป้ยข่วย และรูปสิงโตคาบดาบ เข้าไว้ด้วยกัน เริ่มแรกก็เขียนลงในกระดาษ หรือจะยิ่งดีถ้าเขียนในกระจก
บางรายที่มีสตางค์ ก็จ้างช่างมาปั้นด้วยปูนไว้ที่ผนังตึก เป็นการถาวรเลยทีเดียว
มีคนนิยมมากขึ้น นานเข้าก็รวบรัดด้วยการพิมพ์เป็นภาพสีสวยงาม ใส่กรอบแขวนไว้ที่ประตูหน้าต่าง
...
ปกติก็นิยมติดกันทั่วๆไป แต่ที่ไม่มีไม่ได้ ก็คือบ้านที่อยู่ตามทางสามแพร่ง หรือบ้านที่มีถนน ตรอก ซอยพุ่งตรงเข้าหา
การติดรูปเสือคาบดาบ ไม่แค่นิยมในหมู่คนจีนเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเคยโปรดนำมาใช้ด้วยพระองค์เองครั้งหนึ่ง
เรื่องมีว่า พระองค์เจ้าจรูญโรจน์เรืองศรี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงซื้อที่แถวบริเวณท่าวาสุกรีสร้างเป็นที่ประทับ
เวลานั้นประจวบกับสร้างพระราชวังดุสิต ได้ตัดถนนใบพรมาตรงประตูบ้านพอดี
ระยะเวลานั้น พระองค์เจ้าจรูญโรจน์ทรงประชวรอยู่บ้างแล้ว ได้มีเจ้านายเสด็จไปเยี่ยมและพากันตรัสทักว่า “มีถนนตรงบ้านโบราณเขาถือ”
เมื่อความเรื่องนี้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้ตรัสว่า “จะได้หายเจ็บเสียที” ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำหน้าสิงโตขึ้น แล้วเสด็จพระราชดำเนินมาด้วยพระองค์เอง เมื่อเสด็จฯมาถึงก็ทรงปักหน้าสิงโตนั้น ตรงหน้าบ้าน
แล้วมีพระราชดำรัสพระราชทานพรว่า “จงหายวันหายคืน”
แต่นั้นมา พระองค์เจ้าจรูญโรจน์ก็หายประชวร
หน้าสิงโตนั้น ก็ยังคงปักอยู่หน้าประตูนั้นต่อมา แม้ว่าพระองค์เจ้าจรูญโรจน์ฯจะสิ้นพระชนม์ไปแล้วเวลานาน
เรื่องยันต์โป้ยข่วยและรูปเสือคาบดาบ ที่อาจารย์ ส.พลายน้อยเล่า ดูจะเสริมคำโบราณ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
ผมไม่โยงเอามาใช้สู้กับโควิด-19 หรอกครับ แต่ก็คิดว่า ถ้ามียันต์มีรูปติดอยู่หน้าประตูบ้าน แล้วก็ระแวดระวังไม่ให้คนแปลกหน้าเข้ามาใกล้ ทั้งคาดหน้ากากอนามัยเอาไว้ด้วย
ผีก็ไม่กล้าเข้า เชื้อโรคร้ายก็จะไม่แผ้วพาน.
กิเลน ประลองเชิง