ป่วยโควิด-19 ไทยกลับมาทะยานไปกว่า 3 พันคน มาจากเรือนจำกว่า 800 คน ส่งให้ยอดติดเชื้อสะสมใกล้ทะลุแสน ตายเพิ่มอีก 17 ศพ ศบค.จับตา 27 คลัสเตอร์สำคัญใน กทม.-ปริมณฑล ทั้ง “สนามบินสุวรรณภูมิแคมป์คนงานก่อสร้างทั่วกรุง” หลัง กทม.เปิดตัวเลขมีคนงานกว่า 6 หมื่นคน ส่วน อ.เขาย้อย จ่อเสี่ยงเจอติดเชื้อในโรงงานขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันตำรวจใน 2จังหวัด “พิจิตร-ขอนแก่น” ป่วยตายอีก 2 หนึ่งในนี้อีกไม่กี่เดือนจะเกษียณอายุ แต่กลับติดเชื้อจากการจับกุมคนร้าย ด้าน อว.เผยผลการตรวจหาภูมิคุ้มกันในกลุ่มตัวอย่างหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พบวัคซีนแอสตราฯฉีดแค่เข็มแรก กลุ่มอายุ 18-59 ปี เกิดภูมิคุ้มกันทุกคนในปริมาณสูง ขณะที่ซิโนแวคต้องรอฉีดเข็มสองก่อน

ไทยเริ่มใจชื้นหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน เพิ่มมาอีก 5 แสนโดส เพื่อจัดฉีดให้กลุ่มเสี่ยง ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในรอบ 24 ชั่วโมง พุ่งไปสามพัน เสียชีวิตเพิ่มยังเป็นเลขสองหลัก

...

ซิโนแวคถึงไทยอีก 5 แสนโด

ที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ เมื่อเวลา 05.35 น.วันที่ 15 พ.ค. นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมได้รับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค จากประเทศจีน จำนวน 5 แสนโดส จำนวน 14 พาเลต มีการบรรจุภายในตู้ควบคุมอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 2-8 องศาเซลเซียส ตลอดการขนส่งเพื่อรักษาคุณภาพ และนำไปเก็บที่คลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทดีเคเอสเอช ประเทศไทย เมื่อตรวจรับแล้วจะส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานและเอกสารต่างๆ เมื่อเรียบร้อยแล้วจะส่งต่อให้กรมควบคุมโรค เพื่อกระจายไปยังหน่วยบริการ สถานพยาบาลต่างๆ เพื่อฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆต่อไป สำหรับวัคซีนซิโนแวคที่องค์การเภสัชกรรมได้สั่งซื้อนั้น ลอตที่หนึ่ง 2 แสนโดส รับเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ลอตที่สอง 8 แสนโดส รับเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ลอตที่สาม 1 ล้านโดส รับวันที่ 10 เม.ย. ลอตที่สี่ 5 แสนโดส รับวันที่ 24 เม.ย. ลอตที่ห้า 1 ล้านโดส รับวันที่ 6 พ.ค. ลอตที่หก 5 แสนโดส รับวันที่ 14 พ.ค. โดยลอตนี้เป็นวัคซีนที่ประเทศจีนบริจาค ลอตที่เจ็ด จำนวน 5 แสนโดสรับล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ค. รวมขณะนี้มีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาแล้ว 4.5 ล้านโดส และปลายเดือน พ.ค.จะเข้ามาอีกจำนวน 1.5 ล้านโดส รวมเป็นทั้งสิ้น 6 ล้านโดส ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมจะจัดหาวัคซีนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ติดเชื้อทะลุ 3 พันตาย 17

ต่อมาเมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,095 คน แยกเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,215 คน อยู่ในเรือนจำที่ต้องขัง 887 คน และเดินทางมาจากต่างประเทศ 3 คน เป็นคนไทยทั้งหมด เป็นชาย 1 หญิง 2 มาจากกัมพูชาผ่านทางช่องทางธรรมชาติและด่านข้ามแดนถาวร (ทางบก) ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 99,145 คน ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 1,351 คน ยอดผู้หายป่วยสะสม 63,667 คน อยู่ระหว่างรักษา 34,913 คน ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 17 คน เป็นชาย 9 หญิง 8 แยกรายจังหวัด อยู่ใน กทม. 8 คน สมุทรปราการ 3 คน สมุทรสาคร 2 คน ระยอง ชัยภูมิ ปทุมธานี และราชบุรี จังหวัดละ 1 คน ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง และเบาหวาน โดยปัจจัยเสี่ยงใกล้ชิดสมาชิกในครอบครัวที่ติดเชื้อ และมีอาชีพเสี่ยงคือคนขับรถแท็กซี่และค้าขายในแคมป์คนงานก่อสร้าง ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดในไทย สะสม 565 คน (ขณะที่ยอดเสียชีวิตสะสมเฉพาะการระบาดระลอกสาม 471 คน)

เล็งทำไอซียูสนามในเรือนจำ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะต่างๆ พูดคุยถึงการติดเชื้อในเรือนจำที่มีถึง 3,895 คน ดังนั้น จึงเข้าไปรักษาและควบคุม ปลัดกระทรวงสาธารณสุขอยากให้ใช้มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล จัดตั้งหน่วยงานดูแลเบ็ดเสร็จให้กับผู้ป่วยทุกอาการ ขณะนี้โรงพยาบาลราชวิถีสามารถทำห้องไอซียูนอกอาคารได้แล้ว ใช้เวลา 7 วัน หากทำได้ในเรือนจำจะดีที่สุด ทุกฝ่ายพยายามดำเนินการ

ผงะคลัสเตอร์ใหม่สุวรรณภูมิ

สำหรับจังหวัดที่ติดเชื้อโควิดสูงสุดในวันนี้ 5 จังหวัดแรก ได้แก่ กทม. 1,163 คน ปทุมธานี 222 คน สมุทรปราการ 201 คน นนทบุรี 126 คน สมุทรสาคร 37 คน และถ้าดูการติดเชื้อจะเห็นว่าส่วนใหญ่อยู่ที่ กทม.และปริมณฑล ที่มีผู้ติดเชื้อในวันนี้ถึง 1,779 คน ขณะจังหวัดที่เหลือ 77 จังหวัดมีผู้ติดเชื้อเพียง 436 คน และวันเดียวกันมีการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรปราการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึง 105 คน กระจายไปหลายส่วน ทั้งบริษัทเอกชนที่เชื่อมโยงการขนส่ง ฝ่ายช่าง ฝ่ายบริการ

จับตา 300 แคมป์ก่อสร้างทั่วกรุง

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์การติดเชื้อตัวเลขใน กทม.ขณะนี้มีทั้งหมด 27 คลัสเตอร์สำคัญ กระจายใน 17 เขต ได้แก่ ดินแดง วัฒนา คลองเตย หลักสี่ ลาดพร้าว ราชเทวี พระนคร ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย สวนหลวง ปทุมวัน สาทร สัมพันธวงศ์ จตุจักร สีลม ประเวศ และวังทองหลาง อยู่ระหว่างการสอบสวนและควบคุมโรค 27 คลัสเตอร์ สามารถควบคุมได้ และใกล้ปิดการสอบสวน 7 คลัสเตอร์ คลัสเตอร์ที่ต้องให้ความสำคัญและน่าเป็นห่วงคือ คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างกทม.รายงานว่า ปลายปี 63 มีแคมป์คนงานก่อสร้างประมาณ 300 กว่าแคมป์ มีคนงานก่อสร้างประมาณ 60,000 คน เป็นคนไทย 20,000 กว่าคน ต่างชาติ 30,000 กว่าคน ดังนั้น จำเป็นต้องเข้าไปตรวจเชิงรุกเพื่อเอาออกมารักษา หากเป็นชาวต่างชาติ จังหวัดสมุทรสาคร จะรับไป เนื่องจากมีประสบการณ์มีล่ามคอยดูแล จากนี้จะให้สำนักงานเขตต่างๆ รายงานจำนวนแคมป์ให้ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ใน กทม.และปริมณฑล รับทราบข้อมูลและแจ้งไปยังผู้ประกอบการต่างๆ เข้มงวดการดูแลแคมป์คนงาน ต้องเข้าไปแนะนำมาตรการป้องกันโควิดในแคมป์คนงาน มาตรการตรงนี้ต้องขึงให้ตึง ปฏิบัติอย่างเข้มงวดเต็มที่ 60,000 กว่าคน ต้องได้รับการดูแลอย่างดี

ให้ศูนย์เอราวัณศูนย์กลางเตียง

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุม ศปก.ศบค. วันนี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าควรมีศูนย์บริหารจัดการเตียงใน กทม. ให้ศูนย์เอราวัณของ กทม. เป็นคนจัดการ ทำหน้าที่รับผู้ป่วยและคัดแยกผู้ป่วยตามอาการ มีเซ็นเตอร์หลัก 3 แห่ง คืออาคารกีฬานิมิบุตร โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน และโรงพยาบาลบุษราคัม ปลัด กทม.เข้าไปดูแล และนำรถเอกซเรย์เข้าไปคัดแยกอาการผู้ติดเชื้อ ขณะนี้สามารถใช้ระบบเอไอมาวิเคราะห์ผลเอกซเรย์ได้แล้ว

ปรับพื้นที่สีแดงเข้มเหลือ 4 จว.

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงในที่ประชุม ศปก.ศบค.ยังมีมติปรับระดับการควบคุมโรคในจังหวัดต่างๆ โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากเดิมมี 6 จังหวัด เหลือ 4 จังหวัด คือ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มาตรการที่จะผ่อนคลายคือ นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกินเวลา 21.00 น. สั่งกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น. จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ถ้าเห็นชอบจะมีคำสั่งออกมาและแจ้งให้ทราบอย่างเร็ว จะมีผลภายในเวลา 00.01 น. วันที่ 16 พ.ค. อย่างช้าเวลา 00.01 น. วันที่ 17 พ.ค.การออกมาตรการเช่นนี้ จะมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในที่ประชุม ศปก.ศบค.ได้เชิญกรมอนามัยและตัวแทนสมาคมภัตตาคารไทยมาพูดคุยและออกมาตรการประกอบกิจการร้านอาหาร มาตรการหลักคือ ผู้ประกอบการต้องประเมินไทยสต็อปโควิดผู้ประกอบการและพนักงานต้องประเมินตนเองก่อนออกจากบ้าน กำหนดจุดคัดกรองพนักงานและผู้บริหาร ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาอย่างเคร่งครัด ทำความสะอาดพื้นที่ให้สะอาดทุกจุด เว้นระยะห่างระหว่างทางเดิน โต๊ะ และที่นั่ง พื้นที่รอคิวอย่างน้อย 1-2 เมตร ควบคุมจำนวนผู้รับริการไม่ให้แออัด ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ตั้งเป้าฉีดวัคซีน 1 แสนคน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการเสริมคือมีการติดตามข้อมูลพนักงาน เช่น การใช้แอป-พลิเคชันที่ราชการกำหนด รวมถึงลดการสัมผัส เช่น การจองคิวหรือสั่งซื้อกลับบ้าน ระบบชำระเงินออนไลน์ ขณะที่มาตรการจำเพาะ จะมีการจัดหาวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ คาดว่าจะฉีดให้ได้ 1 แสนคน หากพบพนักงานหรือผู้รับบริการเป็นโควิด-19 ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคทันที ทางผู้ประกอบการรับปากจะทำให้ได้ เมื่อภาครัฐออกมาตรการเช่นนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือประชาชนต้องให้ความร่วมมือ มาตรการเหล่านี้กรมอนามัยและฝ่ายปกครองจะเป็นผู้ดูแล หากพบการกระทำผิดครั้งแรกจะตักเตือน ครั้งต่อไปจะมีอำนาจสั่งปิด และถ้าประเมินแล้วมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก ใช้มาตรการปิดเช่นเดิมได้

ซิโนแวค–แอสตราฯ กระตุ้นภูมิ

ต่อมา ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยผลการศึกษาประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนโรคโควิด-19 ทั้งสองชนิดที่ฉีดในคนไทย คือ ซิโนแวค และแอสตราเซเนกาว่า วัคซีนทั้งสองชนิดสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ผู้ได้รับวัคซีนเกือบทุกรายสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูง โดยร้อยละ 97.26 ของผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราฯ เข็มแรกแล้ว 4 สัปดาห์ และร้อยละ 99.49 ของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคสองเข็มแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ในการศึกษานี้ ได้ทำการตรวจวัดระดับแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเลือด ด้วยวิธี Roche Elecsys Electrochemiluminescence lmmunoassay (ECLIA) แบ่งการวิเคราะห์ เป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด โดยเจาะเลือดหลังจากนั้น 4-8 สัปดาห์ เพื่อดูว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติจะสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่ กลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน กลุ่มที่ฉีดวัคซีนแอสตราฯ โดยเจาะเลือดก่อนฉีด และหลังฉีดเข็มที่หนึ่งแล้ว 4 สัปดาห์ กลุ่มที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค โดยเจาะเลือดก่อนฉีด, หลังฉีดเข็มที่หนึ่งแล้ว 3 สัปดาห์ และหลังฉีดเข็มที่สองแล้ว 4 สัปดาห์

ฉีดแอสตราฯ ส่วนใหญ่ภูมิขึ้น

ปลัด อว.กล่าวอีกว่า ทุกรายก่อนฉีดวัคซีนแอสตราฯ ตรวจไม่พบแอนติบอดี แต่หลังฉีดเข็มแรก 4 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี 71 ใน 73 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 97.26 และมีปริมาณเฉลี่ย 47.5 unit/ml และยังไม่มีผลการตรวจหลังฉีดเข็มที่สอง เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดเวลาฉีดเข็มที่สอง และเมื่อวิเคราะห์ตามกลุ่มอายุและตามเพศของผู้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาโดยละเอียดแล้ว พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราฯเข็มแรก เป็นเวลา 4 สัปดาห์นั้น เพศชาย ตรวจพบแอนติบอดี 29 ใน 31 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 93.55 และมีปริมาณเฉลี่ย 32.9 unit/ml เพศหญิง ตรวจพบแอนติบอดี 42 ใน 42 ราย หรือครบร้อยละร้อย และมีปริมาณเฉลี่ย 62.3 unit/ml กลุ่มอายุ 18-59 ปี ตรวจพบแอนติบอดี 44 ใน 44 ราย หรือครบร้อยละร้อย และมีปริมาณเฉลี่ย67.2unit/mlกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี ตรวจพบแอนติบอดี 27 ใน 29 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ93.11 และมีปริมาณเฉลี่ย 28.1 unit/ml

ซิโนแวคสองเข็มสร้างภูมิได้สูง

ศ.นพ.สิริฤกษ์กล่าวด้วยว่า ส่วนวัคซีนซิโนแวค หลังฉีดเข็มแรก 3 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี 124 ใน 188 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 65.96 และมีปริมาณเฉลี่ย 1.9 unit/ml หลังฉีดเข็มที่สอง 4 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี 196 ใน 197 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.49 และมีปริมาณเฉลี่ย 85.9 unit/ml ดังนั้น วัคซีนซิโนแวค สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก เริ่มสร้างแอนติบอดีหลังฉีดเข็มแรก (ระดับยังต่ำ) และเพิ่มมากขึ้นหลังฉีดครบสองเข็ม ร้อยละ 99.49 ของผู้ที่ฉีดครบสองเข็มแล้วสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูงมาก สรุปว่า วัคซีนทั้งสองชนิดสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ผู้ได้รับวัคซีนเกือบทุกรายสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูง โดยร้อยละ 97.26 ของผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราฯ เข็มแรกแล้ว 4 สัปดาห์ และร้อยละ 99.49 ของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคสองเข็มแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19ได้

โมเดอร์นาต้องซื้อผ่าน อภ.

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นาในประเทศไทยใจความระบุว่า ซิลลิค ฟาร์มาสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง สอดคล้องนโยบายภาครัฐในการบริหารจัดการการให้วัคซีนแก่ประชาชน รวมถึงแผนการจัดซื้อ จัดหา และกระจายวัคซีนทางเลือก จึงได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในช่วงที่ผ่านมาในการขออนุญาตขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดใหญ่ของโรค และได้รับการอนุมัติทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 13 พ.ค.2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพูดคุยกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการเร่งจัดหาวัคซีนเพื่อกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ การจำหน่ายวัคซีนของโมเดอร์นา จำเป็นต้องจัดซื้อผ่านตัวแทนภาครัฐเท่านั้น ในที่นี้คือองค์การเภสัชกรรม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

จ่อทำบับเบิลแอนด์ซีลในคุก

ส่วนความคืบหน้ากรณีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลายพันคนในเรือนจำนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงแผนงานการรับมือว่าในส่วน 8 เรือนจำ/ทัณฑสถานในพื้นที่ กทม.และอีก 4 เรือนจำ/ทัณฑสถานในเขตปริมณฑล มีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิดให้ผู้ต้องขัง 100 เปอร์เซ็นต์ ทางกรมจะประสานโรงพยาบาลแม่ข่าย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณหลักจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เข้ามาช่วยในการตรวจหาเชื้อ ส่วนเรือนจำในต่างจังหวัดต้องยกระดับการป้องกัน ใช้แนวทาง บับเบิลแอนด์ซีล เพื่อความปลอดภัยเช่นกัน ทุกเรือนจำทั่วประเทศจะต้องเตรียมทำโรงพยาบาลสนาม อาจจะต้องกันแดนไว้ 1 แดน เพื่อจัดทำโรงพยาบาลสนาม และหากเรือนจำใดไม่มีพื้นที่ ให้วางแผนไปใช้พื้นที่ของทัณฑสถานเปิด หรือสถานกักกัน ปรับปรุงเป็นโรงพยาบาลสนาม ขณะเดียวกัน ในบางจังหวัดอาทิ ภูเก็ต เพชรบุรี และนราธิวาส ที่มีเรือนจำเก่า อาจจะต้องนำเรือนจำเก่ามาปรับปรุง ในส่วน กทม.สั่งการให้กลุ่มงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงพื้นที่โดยรอบบ้านสวัสดีบริเวณด้านหน้าของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทำโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม และช่วงนี้ให้เรือนจำทุกแห่งประสานไปยังศาล ขออนุญาตชะลอการส่งตัวผู้ต้องขังไปเข้ากระบวนการระยะหนึ่ง

เจออีก 1,219 คน ใน 3 คุก กทม.

ทั้งนี้ วันเดียวกัน กรมราชทัณฑ์รายงานยอดผู้ติดเชื้อ ณ เวลา 12.00 น.วันที่ 15 พ.ค. จากการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อแบบเชิงรุกแบบ 100 เปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะในเรือนจำและทัณฑสถานในกลุ่มลาด-ยาวที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูง พบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 1,219 คน ใน 3 เรือนจำ ประกอบด้วยเรือนจำกลางคลองเปรม 510 คน เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 88 คน และเรือนจำพิเศษธนบุรี 621 คน เป็นผู้ต้องขังกลุ่มสีแดงที่มีการส่งตัวรักษาโรงพยาบาลภายนอกจำนวน 6 คน ที่เหลือเกือบทั้งหมด เป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย

ให้ จนท.ตรวจเชื้อทุก 14 วัน

นอกจากนี้ จะดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นใน 2 กรณี คือ 1. การติดเชื้อจากเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ ต้องตรวจหาเชื้อทุก 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวังไม่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงครอบครัวด้วย 2. การติดเชื้อจากผู้ต้องขังเข้าใหม่ ผู้ต้องขังไปโรงพยาบาลและผู้ต้องขังออกศาล ได้เพิ่มระยะเวลาในการกักตัว จากเดิม 14 วัน เป็น 21 วัน ต้องตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ก่อนเข้าห้องแยกกักโรคและก่อนครบระยะกักตัว หาแนวทางต่างๆ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังเข้าใหม่ ตลอดจนเน้นการไต่สวนผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ หลีกเลี่ยงการส่งผู้ต้องขังไปศาล รวมทั้งเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันเชื้อแก่เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังเริ่มฉีดวัคซีนแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเรือนจำส่วนใหญ่แล้ว สำหรับผู้ต้องขังจะเริ่มต้นในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวจนครอบคลุมผู้ต้องขังทุกรายในที่สุด

ปรับมาตรการควบคุมมีผล 17 พ.ค.นี้

ต่อมาเมื่อเวลา 20.20 น.ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีสาระสำคัญ 7 ข้อ อาทิ ข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ โดยกลุ่มบุคคลที่จําเป็นต้องเข้าประชุมอยู่ในสถานที่หนึ่งที่ใดเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่องหลายชั่วโมง หากผู้จัดประชุมได้กําหนดให้มีมาตรการตรวจคัดกรองบุคคลและได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างรอบคอบรัดกุมและเข้มงวดเพียงพอแล้ว อาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะช่วงเวลาของการอภิปรายหรือแสดงความเห็น ในที่ประชุมได้ตามความเหมาะสมแห่งสภาพการณ์และความสมควรแก่เหตุ การกำหนดพื้นที่ ที่ปรับระดับเขตพื้นที่ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเหลือ 4 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ พื้นที่ควบคุมสูงสุด 17 จังหวัดและพื้นที่ควบคุม 56 จังหวัด มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน สําหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด การเร่งรัดฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค ทั้งนี้ ข้อกำหนดทั้งหมดนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.2564 เป็นต้นไป

ตั้ง ศกค.รท ไว้แก้ปัญหา

พร้อมกันนี้ ได้แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์บัญชาการ แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ (ศกค.รท) เพื่อเป็นการรับมือ แก้ไขและจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และขอยืนยันว่าไม่ได้มีการปกปิดข้อมูลผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากญาติมีความกังวลใจ สามารถติดต่อสอบถามที่เรือนจำและทัณฑสถานที่ผู้ต้องขังถูกคุมขังอยู่ได้ ค้นหาช่องทางติดต่อได้ที่ Line ID @thaidoc

ตร.จัด “รถพุ่มพวง” แจกอาหาร

วันเดียวกัน พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ รองโฆษก ตร.เปิดเผยถึงกรณีโครงการจิตอาสาพัฒนา เพื่อบรรเทาผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ว่า พ.ต.อ.ปณิธาน ยามานนท์ ผกก.สภ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน ประชาชนจิตอาสา และข้าราชการตำรวจ 14 นาย ร่วมกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาในการช่วยเหลือประชาชนบริเวณชุมชนและหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลกุดจอก และตำบลหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ด้วยการใช้รถยนต์ควบคุมผู้ต้องหา 1 คัน ปรับสภาพการใช้งานชั่วคราวให้เป็น “รถพุ่มพวง” (รถกับข้าว) แจกจ่ายอาหารปรุงสุกใหม่ พร้อมรับประทาน (กวยจั๊บ) พร้อมพืชผัก ผลไม้สดตามฤดูกาล รวมถึงวัตถุดิบที่จะนำไปประกอบอาหารทั้งสิ้น 200 ชุด แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฯ ในพื้นที่ ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวอยู่ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และมีการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม การจัดระเบียบความหนาแน่นของประชาชนที่เหมาะสม และระวังรักษาเรื่องความสะอาด อนามัย มีการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์สม่ำเสมอ

เชียงใหม่ป่วยลดแต่ตายเพิ่ม

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ ภาพรวมหลายจังหวัดพบผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง แต่ยังพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มต่อเนื่อง โดยใน จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21 คนและมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ศพ ทำให้ยอดติดเชื้อตายสะสมใน จ.เชียงใหม่พุ่งเป็น 15 ราย ขณะที่การลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้มีอายุเกิน 60 ปี และ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ยอดจองคิวทั้งสองกลุ่มรวม 74,487 คน จากโควตาที่เตรียมไว้ 6 แสนโดส

โควิดคร่าชีวิตผู้ป่วยสุโขทัย

ที่ รพ.สุโขทัย แจ้งผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่มเป็นรายที่ 4 ของจังหวัด เป็นหญิง เจ้าของกิจการขายส่งเครื่องดื่มรายใหญ่ของจังหวัด วัย 65 ปี มีโรคประจำตัวคือไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง ไทม์ไลน์ระบุว่า เป็นผู้ติดเชื้อมาจากการรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนๆช่วงเทศกาลสงกรานต์ เข้ารักษาตัวที่ รพ.สุโขทัย ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวและติดเชื้ออย่างรุนแรง ทำให้หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตเมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 15 พ.ค. ทางเจ้าหน้าที่ได้นำศพไปฌาปนกิจในเวลา 16.00 น. วันเดียวกัน ณ วัดไทยชุมพล ต.ธานี อ.เมืองสุโขทัย

พิจิตรเผา ตร.ติดโควิดตาย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. พล.ต.ต.กำธร จันที ผบก.ภ.พิจิตร ลงนามในคำสั่งตำรวจภูธร จ.พิจิตร ที่ 1282/2564 ลงวันที่ 15 พ.ค.2564 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจรักษาราชการแทน ด้วย พ.ต.ท.ณัฐดนัย ทองดง สว.สภ.บางลาย จ.พิจิตร ถึงแก่กรรม เป็นเหตุให้ สว.สภ.บางลายว่างลง จึงให้ พ.ต.ท.อนันต์ เกียรติยศ สว. (สอบสวน) สภ.บึงนาราง จ.พิจิตร รักษาราชการแทน สว.สภ.บางลาย ตั้งแต่ 17 พ.ค.เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ พ.ต.ท.ณัฐดนัย ทองดง อดีต สว.สภ.บางลาย อายุ 34 ปี นรต.รุ่น 64 มารับตำแหน่ง สว.สภ.บางลาย เมื่อ พ.ย.63 ก่อนหน้าได้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กลับไปที่บ้านพักที่ จ.ชัยนาท และเข้ารักษาตัวที่ รพ.ชัยนาทนเรนทร เมื่อ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเข้ารักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจ และเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเสียชีวิตเมื่อเวลา 02.30 น.วันที่ 15 พ.ค. ก่อนหน้านั้น จ.พิจิตร สั่งปิด สภ.บางลาย และกักตัวข้าราชการตำรวจทั้ง สภ. 34 นายตั้งแต่ 2 พ.ค. และตรวจหาเชื้อโควิด 2 รอบ ผลการตรวจตำรวจทั้ง 34 นาย มีผลเป็นลบ

รอง สว.สส.ติดเชื้อจากคนร้าย

ขณะที่ช่วงสาย ที่เมรุ 3 วัดสว่างสุทธาวาส ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสถ ผบช.ภ.4 เป็นประธานพิธีฌาปนกิจศพ ร.ต.อ.ถนอม สาระกูล รอง สว. (สส.) กองกำกับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธร จ.ขอนแก่น ที่เสียชีวิตหลังเข้ารับการรักษาจากการติดเชื้อโควิด-19 มานานกว่า 1 เดือนมีพระสงฆ์ประกอบพิธีสวดบังสุกุล ที่ศาลาสรนาถ–ธรรมจารย์ ท่ามกลางคนในครอบครัว ผู้บังคับบัญชาและเพื่อนตำรวจร่วมพิธีด้วยความโศกเศร้า ด้าน พล.ต.ท.ยรรยงกล่าวว่า ร.ต.อ.ถนอมเข้ารักษาตัวที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. เสียชีวิตเมื่อเวลา 24.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. การจากไปของร.ต.อ.ถนอมเป็นการสิ้นสุดชีวิตข้าราชการตำรวจก่อนเวลาอันควร เนื่องจาก ร.ต.อ.ถนอมจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ แต่จากความทุ่มเทในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ ร.ต.อ.ถนอมติดเชื้อโควิด-19 จากการสืบสวนจับกุมคนร้าย และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัว ร.ต.อ.ถนอม 3 หมื่นบาท และให้ ผบก.ภ.จ.ขอนแก่น จัดการดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ครอบครัว ร.ต.อ.ถนอมจะได้รับอย่างดีที่สุด

ผบ.ตร.สั่งช่วยเหลือ 2 ตร.เต็มที่

ด้าน พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ รองโฆษก ตร. เปิดเผยกรณีการเสียชีวิตของ พ.ต.ท.ณัฐดนัย ทองดง หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรบางลาย จ.พิจิตร ซึ่งเข้ารับการรักษาอาการป่วยโควิด-19 เป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. ที่ รพ.ชัยนาทนเรนทร และส่งตัวเข้ารักษาต่อ ณ โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. และกรณีของ ร.ต.อ.ถนอม สาระมูล รองสารวัตร กองกำกับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ที่เสียชีวิตเช่นเดียวกัน หลังเข้ารับการรักษาตัวเป็นเวลากว่า 1 เดือน ที่ รพ.ขอนแก่น ทีมแพทย์และพยาบาลรักษาอย่างดีที่สุด แต่ก็เกิดความสูญเสียขึ้นนั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอแสดงความเสีย ใจไปยังครอบครัวของตำรวจผู้เสียชีวิต และสั่งการให้หน่วยงานต้นสังกัดให้ความช่วยเหลือครอบครัวอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องสวัสดิการต่างๆ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ครอบครัวข้าราชการตำรวจ

เผาแล้วต่างชาติที่ปากช่อง

ด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น ผู้อำนวยการ รพ.ปากช่องนานา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เผยถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ว่า ได้รับแจ้งจาก รพ.มหาราชนครราชสีมาว่ามีผู้ป่วยรายที่ 27 ของ อ.ปากช่อง เป็นชาวต่างชาติ อายุ 71 ปี ภรรยาเป็นชาวไทยอยู่ ต.พญาเย็น รักษาตัวอยู่ รพ.มหาราช–นครราชสีมานานกว่า 2 สัปดาห์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พ.ค. พร้อมได้ประสานภรรยาติดต่อมูลนิธิสว่างเมตตานำศพไปฌาปนกิจที่วัดสุทธจินดา เมื่อช่วงเย็นวันเดียวกัน โดยภรรยาไม่ได้ไปร่วมงานเพราะอยู่ในช่วงกักตัว ส่วนวันที่ 15 พ.ค. อ.ปากช่อง ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนคลัสเตอร์ตลาดแขกและสุเหร่าในเขตเทศบาลเมืองปากช่อง ได้จัดทีมงานระบาดวิทยาออกควบคุมโรคเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อแยกรักษา 200 คน ที่ชุมชนตรอกสุเหร่า ผลไม่พบเชื้อ

ปิดโรงงานกุนเชียงดังโคราช

ด้าน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา สั่งปิดโรงงานผลิตกุนเชียง ศูนย์ของฝากโคราช โรงงานขนาดใหญ่มีคนงานกว่า 800 คน ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ ต.สุรนารี อ.เมือง ตั้งแต่วันที่ 14-28 พ.ค.2564 หลังพบการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์กระจายใน 5 อำเภอ คือ อ.เมือง ชุมพวง โนนไทย ด่านขุนทด และ อ.สูงเนิน รวมแล้ว 30 คน นำไปสู่การสั่งปิดหมู่บ้านที่พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน รวมถึงประสานให้ทางโรงงาน ปิดแผนกฝ่ายผลิตโรงงานและพื้นที่ศูนย์ของฝาก เร่งทำความสะอาด ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ส่วนผลิตภัณฑ์กุนเชียงที่จำหน่ายตามท้องตลาดยืนยันมีความปลอดภัย

ศรีสะเกษตายรายแรก

ส่วนที่ จ.ศรีสะเกษ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงสายวันที่ 15 พ.ค.มีการฌาปนกิจผู้ป่วยโควิด-19 ที่เสียชีวิตเป็นรายแรกของจังหวัดที่เมรุของวัดแห่งหนึ่งในเขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ โดยมีญาติมาร่วมส่งศพราว 8 คน แต่รออยู่ในศาลาห่างเมรุราว 30 เมตร เพื่อรอเก็บเถ้ากระดูกนำกลับไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิด ทั้งนี้ ผู้ตายเป็นชายวัย 69 ปี เสียชีวิตที่ รพ.ศรีสะเกษ ขณะเดียวกัน มีรายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่ในจังหวัดถึง 18 คน ที่หมู่บ้านตูม ต.ตูม อ.ศรีรัตนะ ทำให้มีการตั้งจุดตรวจคัดกรองคนเข้าออกหมู่บ้านทันที โดยผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้มาจากการค้นหาเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงของครอบครัวสามีภรรยาอาชีพค้าขายในพื้นที่ เป็นคลัสเตอร์ของตลาดใน อ.กันทรารมย์

หญิงชราตายรายที่ 2 ของกาญจน์

เช่นเดียวกับ จ.กาญจนบุรี มีรายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่แค่ 5 คน แต่เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน เป็นผู้ป่วยรายที่ 114 ของจังหวัดเป็นหญิง อายุ 79 ปี ชาว ต.หวายเหนียว อ.ท่ามะกา ก่อนติดเชื้อเข้ารักษาอาการป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ที่โรงพยาบาลมะการักษ์ อ.ท่ามะกา เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 27เม.ย.เนื่องจากสัมผัสผู้ติดเชื้อจาก จ.เชียงใหม่ จากการเสียชีวิตของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายที่ 114 ในครั้งนี้ทำให้ จ.กาญจนบุรี มีผู้เสียชีวิตสะสม 2 ราย

“อนุทิน” ปลื้มภูเก็ตทำตามแผน รบ.

นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาติดตามการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน พร้อมส่งมอบวัคซีนซิโนแวคสำหรับฉีดให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และมอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์หน้ากาก N95 ชุด Cover All ยาแผนไทยฟ้าทะลายโจรให้กับ รพ.วชิระภูเก็ต โดยมีนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ภูเก็ต เป็นตัวแทนรับมอบ ทั้งนี้ นายอนุทินกล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตจะเป็นจังหวัดแรกของประเทศที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวตามแผนรัฐบาลในวันที่ 1 ก.ค.64 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวฟื้นตัว การจะเปิดเมืองภูเก็ตได้ คนในพื้นที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้ร้อยละ 70 ของประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีน 466,587 คน จะต้องฉีดเข็มที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. และฉีดเข็มที่ 2 ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาได้จัดสรรวัคซีนมายังจังหวัดภูเก็ตจำนวน 2 แสนโดส และกระทรวงสาธารณสุข ยินดีที่จะสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้ได้ตามเป้าและในเดือนนี้เป็นต้นไป วัคซีนจะทยอยเข้ามาตามแผนอีกประมาณ 3.5 แสนโดส ซึ่งจะเกิดความครอบคลุมตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้คนในพื้นที่มีภูมิคุ้มกันและภูเก็ตเปิดเมืองได้อย่างปลอดภัย

เขาย้อยจ่อติดเชื้ออื้อใน รง.

ส่วนที่ จ.เพชรบุรี ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยทางโทรศัพท์จากนางวิพร แววศรีผ่อง นายอำเภอเขาย้อย ว่าขณะนี้ใน อ.เขาย้อย พบผู้ติดเชื้อโควิดในส่วนของโรงงานขนาดใหญ่จำนวนมาก เริ่มจากคนไทยรายแรกที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เจ้าหน้าที่เข้าสอบสวนโรค พบว่ามีการแพร่กระจายเชื้อภายในโรงผลิต บริเวณไลน์ 9 ของโรงงานดังกล่าว เจ้าหน้าที่ขยายผลการตรวจไปยังกลุ่มเสี่ยงผู้ที่ทำงานใกล้ชิด ปรากฏว่ากลุ่มเสี่ยงติดเชื้อทั้งหมด จึงเชื่อมข้อมูลจากกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวขยายผลออกไปปรากฏว่า 26 คนที่ทำงานใกล้ชิดเป็นผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังขยายผลการตรวจเพิ่มเติม โรงงานที่เกิดเหตุเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีพนักงาน 1 หมื่นคนเศษ เป็นคนไทยราว 4,500 คน ที่เหลือเป็นชาวเมียนมา ทำงานลักษณะเป็นกะสลับกัน ขณะนี้ได้ปิดพื้นที่เสี่ยง และปิดตลาดนัดทั้งหมดในพื้นที่ อ.เขาย้อย เป็นการชั่วคราว 14 วัน

โควิดชลบุรีดีขึ้น-นนท์ยังไม่แผ่ว

ขณะที่ จ.ชลบุรี ที่เป็นหนึ่งในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก แต่ในวันที่ 15 พ.ค. สสจ.ชลบุรี รายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่แค่ 33 คน ต่างจาก จ.นนทบุรี 1 ในจังหวัดพื้นที่สีแดง แต่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังสูงถึง 88 คน ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อภายในตลาดสด ที่ทำงานและภายในครอบครัว จำแนกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 43 คน อ.บางกรวย 14 คน อ.ปากเกร็ด 13 คน อ.บางบัวทอง 13 คน อ.บางใหญ่ 3 คน และ อ.ไทรน้อย 1 ราย

ไต้หวันเจอระบาดระลอกใหม่

ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก เมื่อวันที่ 15 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อสะสม 162,525,588 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 3,371,049 คน นอกจากนี้ ทางการไต้หวันยกระดับการเตือนภัยการระบาดของโควิด-19 ในกรุงไทเป และเมืองรอบๆ อย่างนิวไทเป ซิตี้ หลังจากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 180 คน โดยมีคำสั่งปิดโรงภาพยนตร์และสถานบันเทิงอื่นๆ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ สระว่ายน้ำในร่ม และสวนสนุก รวมทั้งจำกัดการรวมตัวพบปะสังสรรค์ของสมาชิกในครอบครัวไม่เกิน 5 คน หากอยู่ในบ้าน และไม่เกิน 10 คน สำหรับนอกบ้าน และประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่นอกอาคาร โดยมีผลบังคับใช้ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไต้หวันมีรายงานผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 1,500 คน จากจำนวนประชากรราว 24 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และไม่เคยประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบเลย แต่การระบาดที่เกิดขึ้นในระยะนี้เริ่มทำให้ชาวไต้หวันหวาดวิตก และไต้หวันสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 20 ล้านโดส จากบริษัทโมเดอร์นา และแอสตรา-เซเนกา แต่เพิ่งได้รับวัคซีนเพียง 315,000 โดสเท่านั้น และจนถึงขณะนี้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วเพียง 112,500 โดส ตามรายงานของบลูมเบิร์ก