กระแสตอบรับการฉีดวัคซีนดีขึ้นเรื่อยๆ หลัง 3 หมอใหญ่จาก รพ.ศิริราช จุฬาฯ และรามาธิบดี ออกมารณรงค์กระตุ้นให้คนไทยฉีดวัคซีนเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด นอกจากนี้ยังมีข่าวดีรัฐบาลอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากขึ้น จากเดิมผู้ที่ประสงค์ฉีดวัคซีนต้องลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” หรือแจ้งความประสงค์กับ อสม. ก็มีการเพิ่มช่องทางใหม่ให้วอล์กอินเดินเข้าไปฉีดตามจุดบริการได้เลย โดยจัดสัดส่วนวัคซีนสำหรับวอล์กอินให้ 20%
ระยะแรกนี้เพิ่งเปิดให้จองคิวฉีดวัคซีนเฉพาะ ผู้ที่อายุเกิน 60 ปี กับ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ยังมีคนลงทะเบียนไม่ค่อยมากตามเป้า บางคนอาจกล้าๆกลัวๆ รอดูคนอื่นฉีดก่อนว่าเกิด ผลข้างเคียง มากแค่ไหน แต่พอถึงจุดหนึ่งที่มีตัวอย่างมากๆให้เห็นว่าปลอดภัย ผู้คนจะหลั่งไหลไปฉีดไม่ขาดสายแน่นอน
นิสัยคนไทยไม่ได้บ้าสุดโต่งเหมือนพวกฝรั่ง ประเภทที่หัวเด็ดตีนขาดยังไงก็ไม่ยอมฉีดวัคซีน คงมีไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นพวกช่างติช่างบ่น อันนี้คงต้องทำใจ หรือพวกที่เกี่ยงงอนอยากได้วัคซีนยี่ห้อโน้นยี่ห้อนี้ รัฐบาลก็ไม่ต้องไปใส่ใจมาก ใครพร้อมควักจ่ายเองจะไปรอฉีดกับ รพ.เอกชน หรือจะซื้อทัวร์ไปฉีดที่เมืองนอกก็ตามสบาย
อย่างไรเสียวัคซีนพื้นฐานที่รัฐจัดให้ตอนนี้ทั้ง ซิโนแวค แอสตราเซ-เนกา ก็มีคุณสมบัติตาม มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก อยู่แล้ว และพอถึงไตรมาส 3 ไทยจะได้วัคซีน ไฟเซอร์ มาเสริมอีก 10-20 ล้านโดส เอาไปฉีดให้คนอายุต่ำกว่า 18 ปี จนถึงอายุ 15 ปี หรืออาจจะได้ถึงอายุ 12 ปี
ความกลัวความกังวลความเครียดเป็นภาวะที่ห้ามกันไม่ได้ แต่จากข้อมูลทางวิชาการพบว่าอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงจากการได้รับวัคซีนนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก โดยเฉพาะการแพ้อย่างรุนแรง (ทางการแพทย์เรียกว่าแพ้ชนิดแอนาฟิแล็กซิส) ตามข้อมูลปัจจุบันพบน้อยกว่า 5 ใน 1 ล้านเหตุการณ์
...
ชั่งน้ำหนักดูแล้ว ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันย่อมดีกว่าใช้ชีวิตอย่างหวาดผวาทุกวันกลัวว่าติดเชื้อ
วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมขอแนะนำให้คนที่ยังไม่มั่นใจ รวมถึงคนที่ตัดสินใจแล้วว่าจะฉีดวัคซีน ลองไปอ่าน “คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน” เป็นอีบุ๊กที่จัดทำโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดาวน์โหลดได้ที่ https://www.thaihealth.or.th/contact/getfile_books.php?e_id=714
อีบุ๊กชุดนี้เนื้อหาสบายๆ พร้อมภาพวาดประกอบสวยงาม ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็อ่านจบ อ่านแล้วท่านจะได้รู้ว่าวัคซีนต่างชนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่างกันหรือไม่ ฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้แค่ไหน ใครควรได้รับวัคซีน ใครที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ ข้อปฏิบัติทั้งก่อนฉีด ระหว่างฉีด และหลังฉีดวัคซีน รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์
ขอย้ำหัวใจสำคัญก่อนฉีด ต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากวัคซีนที่เป็นอาวุธหลักสู้กับโควิด อาหารการกินก็เป็นอาวุธเสริมไว้ต้านเชื้อโรคร้ายนี้ได้ด้วย ซึ่ง กรมอนามัย ได้แนะนำ เมนูอาหาร 7 อย่างลดความเสี่ยงติดโควิด ทั้งให้คุณค่าทางโภชนาการ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
ทั้ง 7 เมนู ได้แก่ 1.ไข่ยัดไส้ กินมะเขือเทศและแครอทให้ได้อย่างละครึ่งทัพพี จะได้รับวิตามินซี 42% วิตามินเอ 43% 2.ต้มเลือดหมู กินผักกาดหอมครึ่งทัพพี ตับหมู 1 ช้อนโต๊ะ เลือดหมู 1 ชิ้น หมูสับ 1 ช้อนโต๊ะ จะได้รับธาตุเหล็ก 45% 3.ต้มยำปลาทู มีมะเขือเทศและน้ำมะนาวเป็นส่วนประกอบ จะได้รับวิตามินซี 42% 4.ต้มจืดตำลึงเต้าหู้ไข่ มีส่วนผสมของแครอทครึ่งทัพพี ตำลึง 2 ทัพพี จะได้รับวิตามินเอ 42% 5.ปลานึ่งขิง หากใช้ปลาทับทิมเป็นส่วนประกอบ จะได้รับวิตามินดี 20% 6.ปลาผัดเปรี้ยวหวาน มีส่วนผสมของมะเขือเทศครึ่งทัพพี พริกหวาน 1 ลูก จะได้รับวิตามินซีเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย 7.ข้าวผัดหอยลาย มีส่วนผสมของเนื้อหอยลาย ได้รับธาตุเหล็ก 33% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน
ใครเบื่อสั่งฟู้ดดีลิเวอรี ลองหันมาทำเมนูเหล่านี้กินเอง ได้ประโยชน์ทั้งครอบครัวครับ.
ลมกรด