สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินติดตามการช่วยเหลือประชาชนช่วงโควิด-19 ระบาดใกล้ชิด ยกโมเดลบางพื้นที่สามารถหาปลา เก็บผัก สร้างงานเลี้ยงชีพได้ ช่วยลดการเดินทาง
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศีวรขาน ประธานคณะกรรมการบริหาร หรือ บอร์ด สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. กล่าวว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล บจธ. ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบมอบหมายให้ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ติดตามสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทันท่วงที จึงสั่งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ประสานงานทุกพื้นที่ บจธ. สนับสนุนที่ดินทำกิน
ล่าสุด มี 2 ชุมชน จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ ชุมชนน้ำแดง ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำกัด ยื่นขอความช่วยเหลือหลายหน่วยงาน สมาชิกต้องเผชิญปัญหารอบด้านหลายปี กระทั่งสามารถยุติความขัดแย้ง โดย บจธ. จัดซื้อที่ดิน 69 ไร่ ให้สมาชิก 37 ครัวเรือน ทำประโยชน์ในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วม และทำสัญญาเช่าซื้อกับสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรฯ เมื่อเดือน ม.ค.2564 และอีกแห่งหนึ่งคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรวมพลังสร้างอาชีพวัดประดู่ ต.ปากฉลุย อ.ท่าฉาง โดย บจธ.สนับสนุนจัดหาและพัฒนาที่ดินทำกิน 117 ไร่ ให้สมาชิก 23 ครอบครัว ในรูปแบบทำสัญญาเช่าเมื่อปี 2563
นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ บจธ. กล่าวว่า ติดตามความคืบหน้าทั้ง 2 พื้นที่ สมาชิกชุมชนน้ำแดง ต.คลองน้อย ประกาศความพร้อมยกระดับเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งบริหารจัดการให้เป็นต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินยั่งยืน เนื่องจากในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์ม ทุเรียนและพืชผักพื้นบ้าน เป็นต้น มีแหล่งน้ำธรรมชาติใช้ประโยชน์ร่วมกัน
...
นอกจากนี้ ช่วงโควิด-19 ระบาด ชุมชนน้ำแดงได้พูดคุยกับสมาชิกเรื่องการป้องกันตัวเองและหาปลาในคลอง เก็บผักข้างบ้านมาบริโภค เพื่อลดการเดินทาง ขณะเดียวกันยังกำลังจะสร้างโรงเรือนผักกลางมุ้งชุมชน เพื่อทุกคนจะได้บริโภคผักปลอดภัย
นายกุลพัชร กล่าวต่อว่า ขณะที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรวมพลังสร้างอาชีพวัดประดู่ มีปาล์มน้ำมันอายุ 5 ปี เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อเนื่องหลายสิบไร่ ทำรายได้ให้สมาชิกครั้งละ 40,000-60,000 บาท ซึ่งสมาชิกตกลงใช้เงินรายได้ดังกล่าว พัฒนาพื้นที่ร่วมกับงบประมาณที่ บจธ. สนับสนุน นอกจากนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลปากฉลุย ยังได้สนับสนุนการพัฒนาเส้นทางเข้าพื้นที่ ล่าสุด ยังเตรียมพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นประจำถิ่นและพืชผักอายุสั้น รวมทั้งทยอยสร้างบ้านพักอาศัย
อย่างไรก็ตาม ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 บจธ.ยังคงติดตามความก้าวหน้าในพื้นที่โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนทั้ง 12 แห่ง และโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 แห่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบของประชาชน.