แนวโน้ม “วิกฤติขาดแคลนอาจารย์ใหญ่” เริ่มทวีความรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลซ้ำเติม “วงการศึกษาวิชาแพทย์ไทย” ต้องระส่ำระสายหวั่นกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอนนิสิตแพทย์จบใหม่ กลายเป็นปัญหาขาดแคลนมีผลให้ “แพทย์ใหม่” ฝึกฝนน้อยลงตามมา

ผศ.นพ.ธนศิลป์ หวลมานพ หน.หน่วยมหกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า แต่ละปีมีผู้แสดงจำนงอุทิศร่างกายราว 1-2 หมื่นรายต่อปี แต่มี “ผู้เสียชีวิต” ที่ญาติแจ้งให้รับร่างกายเป็น “อาจารย์ใหญ่ 300 ร่าง” เท่านั้น ในจำนวนนี้ต้องตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ

ตั้งแต่อวัยวะร่างกายต้องครบถ้วน ไม่เสียชีวิตโรคร้ายแรง เช่น เชื้อโควิด-19 เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ วัณโรค พิษสุนัขบ้า ไม่ตายผิดธรรมชาติที่ต้องผ่าพิสูจน์ ไม่ถูกฝังแร่รังสีใน 6 เดือน เหตุนี้ทำให้ “จำนวนร่างผู้อุทิศอาจารย์ใหญ่” ที่รับเข้ามาลดน้อยลง เหลือไม่ถึง 300 ร่างต่อปีด้วยซ้ำ

ขั้นตอนต่อไปต้องนำไปฉีดน้ำยารักษาศพเข้าทางเส้นเลือดแล้วนำไปแช่น้ำยา 1 ปี จึงนำขึ้นมาให้นิสิต และแพทย์ใหม่ฝึกฝนเรียนรู้ 1 ปี ที่ต้องใช้น้ำยาพรมให้ชุ่มชื้นตลอด เพื่อไม่ให้ร่างแห้ง หรือเกิดราตามมา

ต้องเข้าใจว่า...“ร่างอาจารย์ใหญ่” เอื้อคุณประโยชน์ให้ “วงการแพทย์” ในการศึกษาหาความรู้ระบบร่างกายได้อย่างมากมาย เพื่อช่วยผู้ป่วยต่อไปในอนาคต แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก...“นิสิตแพทย์” ในการเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ของนักศึกษาชั้นปี 2 จำนวน 6 คน ต่อร่างอาจารย์ใหญ่

...

ในการศึกษาโครงสร้างร่างกาย และอวัยวะของมนุษย์อย่างแท้จริง ทั้ง 2 เพศ เพื่อดูความแตกต่าง ตั้งแต่กล้ามเนื้อ กระดูก และอวัยวะสำคัญ ที่ต้องใช้อาจารย์ใหญ่เฉลี่ย 50 ร่างต่อปี สามารถทำการศึกษาได้ 1 ปี

กลุ่มที่สอง...“ศูนย์ฝึกผ่าตัด จุฬาฯ” ที่มีความทันสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มักมีกลุ่มแพทย์สาขาต่างๆ ทั้ง “หมอไทย และหมอต่างชาติ” เข้ามาศึกษาฝึกฝนความเชี่ยวชาญแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ในการพัฒนาศักยภาพการผ่าตัดเฉพาะทาง ลักษณะเป็นความร่วมมือเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มาตลอดหลายปี

ส่วนใหญ่แล้ว “ใช้ร่างแบบนุ่มเฉลี่ย 200–250 ร่างต่อปี” ในการศึกษาเป็นแบบสัดส่วน เช่น หมอศัลยกรรมกระดูกเข้ามาทำเกี่ยวกับข้อเข่าเสร็จแล้วก็นำเก็บให้หมอคนอื่นศึกษาต่ออีก ในหนึ่งร่างใช้ศึกษาได้ 1 ปีเช่นกัน ทำให้จำนวนร่างอาจารย์ใหญ่ได้รับบริจาคในแต่ละปีไม่เพียงพอจำต้องขอรับบริจาคอยู่อีกมากมายเสมอ

โดยเฉพาะ “ในช่วงโควิด–19” เจ้าหน้าที่ทำงานรับ “ร่างผู้แสดงความจำนง” ค่อนข้างลำบาก ทั้งต้องรอผลตรวจหาการติดเชื้อไวรัสนี้ด้วย ทำให้ไม่สามารถนำร่างอาจารย์ใหญ่หลังจากเสียชีวิตทันทีได้ ส่งผลให้ร่างไม่เป็นธรรมชาติเหมือนเสียชีวิตใหม่ๆ และกระทบต่อการศึกษาฝึกผ่าตัดของแพทย์ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ “แพทย์” ฝึกทักษะผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีใหม่ไม่เต็มประสิทธิภาพในอนาคต มีโอกาสเกิดผิดพลาดง่าย ในส่วน “นิสิตแพทย์” ยังแก้ปัญหาให้เหมาะสมต่อจำนวนอาจารย์ใหญ่ที่มีได้ ดังนั้น “ผู้อยู่เขต กทม. และปริมณฑล” ประสงค์อุทิศร่างกายแสดงจำนงได้ “ศูนย์ฝึกผ่าตัด” 0-2256-4281 ต่อ 1156

และมักมีคำถามว่า “บัตรอุทิศร่างกายหาย” หรือไม่แจ้งจำนงแต่สั่งเสียลูกหลานไว้บริจาคได้หรือไม่ ในเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาอุปสรรคขอให้ “ญาติผู้เสียชีวิต” มีเจตนาอนุญาตก็สามารถรับเป็นอาจารย์ใหญ่ได้แล้ว

แต่ต้องรีบติดต่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการรับร่างมาเป็นอาจารย์ใหญ่โดยเร็ว ด้วยเหตุเพราะ “การเสียชีวิตอยู่บ้าน” มักไม่มีห้องเย็น อีกทั้ง “ประเทศไทย” มีสภาพภูมิอากาศเมืองร้อน หากปล่อยไว้นานเกินไปย่อมส่งผลให้ “ศพเสื่อมสภาพ” ไม่สามารถนำมาเป็นอาจารย์ใหญ่ได้

ย้ำว่า “ผู้จำนงอุทิศร่างกายในพื้นที่ภูมิภาค” ก็สามารถเข้าบริจาคโรงเรียนแพทย์ใกล้บ้านได้ เช่น “ภาคใต้” สามารถติดต่อบริจาคร่างกายสาขาวิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” รพ.ศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น “ภาคเหนือ” คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

เรื่อง...“สิทธิประโยชน์” ต้องอธิบายว่า “การบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่” แตกต่างจาก “บริจาคอวัยวะ” ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการ ในการรักษาพยาบาลของสภากาชาดไทย ในส่วน “การบริจาคร่างกาย” จะไม่มีสิทธิประโยชน์นี้ แต่จะขอรับพระราชทานเพลิงเผาศพเป็นกรณีพิเศษ

“สำหรับนิสิตแพทย์แล้ว “อาจารย์ใหญ่” เป็นผู้ให้องค์ความรู้ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ในการฝึกฝนผ่าตัดที่เป็นรากฐานอันสำคัญให้เข้าใจโครงสร้างร่างกายมนุษย์ ทั้งยังมีคุณประโยชน์ต่อ “ศูนย์ฝึกผ่าตัด” เพื่อฝึกจำลองผ่าตัด และทดลองเครื่องมือใหม่ๆ ในการพัฒนาขีดความสามารถวงการแพทย์สู่อนาคต” ผศ.นพ.ธนศิลป์ว่า

ประเด็น...“แนวคิดใช้เทคโนโลยีแทนในอนาคต” ที่กำลังเป็นกระแสในวงการแพทย์ทั่วโลก เช่น โต๊ะหุ่นยนต์จำลองใช้ผ่าตัดอาจารย์ใหญ่เสมือนจริง หรือการใช้โฟร์ดีสร้างภาพการผ่าตัดเสมือนจริง เรื่องนี้มองว่านำมาเสริมทำความเข้าใจในการเรียนของนิสิตแพทย์ได้ แต่ไม่อาจนำมาทดแทนอาจารย์ใหญ่ได้แน่นอน

เพราะ “อาจารย์ใหญ่” เปรียบเสมือนตำราเล่มใหญ่ที่ทำให้นิสิตแพทย์เห็นรายละเอียดในร่างกายมนุษย์อย่างชัดเจน รวมทั้งยังได้สัมผัสกับความรู้สึกกรีดมีดลงไปบนผิวหนังมนุษย์ของจริงที่มีความยืดหยุ่นไม่ใช่เป็นเพียงหุ่นยนต์รูปปั้นที่ใช้เทคโนโลยีมาแทน ทั้งยังรู้อวัยวะสำคัญอยู่จุดตำแหน่งใดจากความลึกลงผิวหนังเท่าไหร่

ประสบการณ์นี้ไม่มีเทคโนโลยีใดนำมาทดแทนอาจารย์ใหญ่ได้ โชคดี “ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ” เข้าใจเกี่ยวกับการบริจาคร่างกาย เพื่อเป็นกุศลผลบุญขั้นสูง ทำให้มีการบริจาคร่างกายต่อเนื่อง

แตกต่างจาก “หลายประเทศ” มักมีอุปสรรคเกี่ยวกับการรับบริจาคร่างกายมากมาย ทำให้ “อาจารย์ใหญ่ไม่พอ” ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยทดแทนการเรียนการสอนแพทย์สามารถได้ประสิทธิภาพระดับหนึ่ง และในบางประเทศจำเป็นต้องซื้อขายกันด้วยซ้ำทั้งยังมี “แพทย์บางส่วน” ใช้ความสัมพันธ์จากความร่วมมือกันระหว่างประเทศ

ในการขอเข้าฝึกทักษะตามประเทศที่มีอาจารย์ใหญ่เพียงพอ เช่น “ในไทย” มีแพทย์นานาชาติมาแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าวงการแพทย์ไทยอยู่ตลอดนี้

ประการต่อมา...“สิ่งลี้ลับเกี่ยวกับวิญญาณอาจารย์ใหญ่” ส่วนใหญ่มักเป็น “เจ้าหน้าที่” เจอลักษณะเห็นเดินในห้องเรียนกายวิภาคศาสตร์ หรือแม้ตัวเองก็เคยเจอเวลาขึ้นลิฟต์ผ่านชั้นอาจารย์ใหญ่ประตูเปิดโดยไม่มีคนกด แต่ก็ไม่คิดอะไร เพราะถ้ากลัวคงไม่มาทำงานนี้ได้เป็นแน่ ซึ่งก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลด้วย

ส่วนด้าน “นิสิตแพทย์” ไม่ค่อยคลุกคลีกับการจัดเตรียมร่างอาจารย์ใหญ่ จึงไม่มีเรื่องเล่าสิ่งลี้ลับวิญญาณมากนัก แต่มีลักษณะกลัววันเปิดเทอมแรก “บางคนถึงกับเป็นลม” เพราะไม่เคยสัมผัสคุ้นเคยการเรียนการสอนแบบนี้ “อาจารย์ผู้สอน” ต้องพาปรับสภาพด้วยการพาเดินสำรวจห้องกายวิภาคศาสตร์ก่อน

สุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านไปอย่างราบรื่นด้วยดีเสมอ แต่ปัจจุบันนี้ “มหาวิทยาลัยแพทย์” ต่างมีกิจกรรมให้ “นักเรียนชั้นมัธยมปลาย” เข้ามาสัมผัสกับ “อาจารย์ใหญ่” มากยิ่งขึ้น เช่น กิจกรรมเข้าค่ายอยากเป็นหมอ ทำให้เมื่อเข้ามาเป็น “นิสิตแพทย์” สามารถปรับตัวได้ดี กลายเป็นตั้งตารอคอยเรียนภาควิชากายวิภาคศาสตร์ด้วยซ้ำ

จริงๆแล้ว...“อาจารย์ใหญ่ทุกท่าน” บริจาคร่างกายมาด้วยจิตอันเป็นกุศล ต่างมีความมุ่งมั่นเพื่อเข้ามาเป็น “ครูวงการแพทย์” และไม่มีเจตนาทำให้ใครเดือดร้อนอยู่แล้ว แตกต่างจากการเสียชีวิตแบบอื่นก็ได้

ฝากถึงผู้มีความรู้สึกถึง “การบริจาคอวัยวะ หรือร่างกายแล้วชาติหน้าอวัยวะจะไม่ครบ” อันนี้ขอยกคำกล่าว “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” สอนว่า การบริจาคอวัยวะ หรือร่างกายเป็นทานบารมีขั้นสูงสุด เพราะเป็นการบริจาคชีวิตช่วยเหลือคนอื่น เพื่อรักษาธรรม ทั้งยังโยงหาหลักสำคัญอีกอย่างที่เรียกว่า “มหาบริจาค” อีกด้วย

นับว่าการอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษานี้ ถือเป็นการเสียสละอันยิ่งใหญ่ จึงขอยกย่องเชิดชูเกียรติ “อาจารย์ใหญ่” ผู้สร้างคุณประโยชน์ให้วงการแพทย์อย่างแท้จริง เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยในอนาคต...