ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า สาขาวิชาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมมือกับสาขาโลหิตวิทยา สาขาวิชาระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติโรคระบบการหายใจ และสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ร่วมกันรักษาพยาบาลผู้ป่วย 2 ราย ที่มีปัญหาผิวหนังแข็งและปอดเป็นพังผืด ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์ที่นำเอาองค์ความรู้ และการศึกษาวิจัยรวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์เกี่ยวกับสเต็มเซลล์มาใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้าน ศ.พญ.มนาธิป โอศิริ หัวหน้าสาขาวิชาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรคผิวหนังแข็ง หรือ systemic sclerosis เป็นโรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของหลายอวัยวะในร่างกาย โดยมีลักษณะเด่น คือ การเกิดพังผืดที่ผิวหนังและอวัยวะภายใน ทำให้ผิวหนังแข็ง ปอดเป็นพังผืด กล้ามเนื้อหัวใจเป็นพังผืด ทำให้หัวใจโต และหัวใจวายได้ เกิดกล้ามเนื้อเรียบในระบบทางเดินอาหารเป็นพังผืด ทำให้เกิดการบีบตัวของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ลดลงหรือไม่บีบตัว ร่วมกับอาการจากการตีบตันของหลอดเลือดแดง ทำให้ปลายนิ้วขาดเลือด ที่ไตทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้ หลอดเลือดแดงที่ปอดตีบตัน ทำให้แรงดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง มีผลต่อการบีบตัวของหัวใจทำให้หัวใจวายได้

ศ.พญ.มนาธิป กล่าวด้วยว่า การดำเนินของโรคนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการแบบเรื้อรัง ทุกข์ทรมาน แต่ก็มีบางส่วนที่มีการดำเนินของโรครวดเร็ว รุนแรง ทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้นได้ โรคผิวหนังแข็งพบได้ไม่บ่อย ความชุกประมาณ 4 ถึง 35 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 3 เท่า อายุเฉลี่ยขณะเริ่มมีอาการ 40-50 ปี ส่วนใหญ่พบในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ คือ ภาวะปอดเป็นพังผืด แรงดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง และหัวใจวาย การรักษาโรคนี้ควรจะเริ่มให้การรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อชะลอการดำเนินของโรคและความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย โดยประเมินว่าโรคมีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็วรุนแรงหรือค่อยเป็นค่อยไป และมีอาการที่อวัยวะใดบ้างที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย วิธีที่จะจัดระเบียบของระบบภูมิคุ้มกันให้กลับมาเป็นปกติ คือ การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ นั่นเอง.

...