เพื่อก้าวไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ อันเป็นเป้าหมายร่วมของสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบเรื่องการจัดการขยะพลาสติก โดยตั้งธงสองเป้าหมายในปี 2565
เป้าหมายแรก “แบน” พลาสติก 4 ชนิดแบบเลิกใช้เด็ดขาดปีหน้า ได้แก่ กล่องโฟมบรรจุอาหาร ถุงพลาสติกหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน แก้วน้ำพลาสติกความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และหลอดพลาสติก
เป้าหมายที่สอง หมุนพลาสติก 7 ประเภทให้กลับมาใช้ประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพลาสติกเป้าหมาย ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว (HDPE LLDPE LDPE และ PP) บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (HDPE และ LL/ LDPE) ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) ฝาขวด แก้วพลาสติก ถาดกล่องอาหาร และช้อน ส้อม มีด
นโยบายเลิกใช้พลาสติกดังกล่าวอาจจะถูกใจคนรักสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องการลดปริมาณขยะในเมื่อการบริโภคยังเหมือนเดิม เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองในโลก ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และไม่ได้เน้นแค่พลาสติก แต่วางโรดแม็ปที่เน้นการจัดการขยะทั้งในเชิงโครงสร้างและนโยบาย
นิว นอร์มอล สัปดาห์นี้ พาไปดู “เมืองต้นแบบ” ไร้ขยะ 3 เมืองในเอเชีย...!!
...
ญี่ปุ่น : รีไซเคิลร้อยเปอร์เซ็นต์
จากปี ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514) ญี่ปุ่นมีนโยบายจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง เพราะโตเกียวเป็นเมกะซิตี้ที่มีการเติบโตสูงมาก ญี่ปุ่นในยุคนั้นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ “โอเวอร์แพ็กเกจจิ้ง” สุดๆ ขยะที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ล้นหลาม และลามไปถึงเมืองต่างๆที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ญี่ปุ่นเอาจริงเรื่องแรก คือ การปลูกฝังจิตสำนึก เริ่มตั้งแต่เด็ก ทำเป็นสามเหลี่ยมคือ บ้าน-โรงเรียน-ชุมชน
แฟนๆมังงะหรือหนังญี่ปุ่นก็คงเห็น “วัฒนธรรม” การจัดการขยะในระบบสามเหลี่ยมนี้ บางชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุที่เกษียณแล้วมารวมตัวจัดเวรไปช่วยกันคัดแยกขยะในพื้นที่สาธารณะ เช่น หน้าห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ เป็นงานจิตอาสาที่น่ายกย่องยิ่ง
อย่างที่สองคือ กระบวนการคัดแยกขยะ ทำจริงจังทุกชุมชน สามารถคัดแยกขยะออกมาได้มากกว่า 100 รายการ โดยแต่ละบ้านต้องนำขยะที่คัดแยกแล้วมาส่งในพื้นที่ที่ชุมชนจัดเตรียมไว้ให้ ต้องไม่มีขยะเปียกที่จัดการตั้งแต่ที่บ้าน งานนี้ไม่มีบริการหรือเจ้าหน้าที่ไปเก็บขยะหน้าบ้าน ยกเว้นบ้านที่มีแต่ผู้สูงอายุและผู้พิการ ในเมืองเล็กๆ จะมีรถมารับขยะเดือนละสองครั้งเพื่อจัดการตามระบบที่วางไว้ สุดท้ายคือ การกำจัดขยะ สำหรับเมืองใหญ่ๆ เช่น โตเกียว การทิ้งขยะต้องคัดแยกใส่ถุงแล้วนำไปวางในจุดที่กำหนด รถขยะจะเก็บและบีบอัดขยะที่คัดแยกแล้วเพื่อเข้าสู่โรงงานเฉพาะ หรือเข้าเตาเผาความร้อนสูงที่เปิดเตาตลอด 24 ชั่วโมง ความร้อนจากเตาเผาแปรเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อขายให้เอกชน เถ้าจากการเผาขยะนำไปทำคอนกรีตเพื่อการก่อสร้าง ส่วนขยะที่ถูกบดย่อยจะผ่านกระบวนการกำจัดสารพิษ เสร็จแล้วเอาไปถมทะเลเพื่อให้เกิดพื้นที่งอกใหม่
เกาหลีใต้ : CleanCUBE ถังขยะอัจฉริยะ
โซลเป็นอีกเมืองหนึ่งที่คนไทยชอบไปเยือนก่อนหน้านี้ ถนนในกรุงโซลล้นหลามด้วยขยะ แต่ในปี 2561 Eunomia Research and Consulting ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป จัดอันดับให้เกาหลีใต้เป็นประเทศ ที่มีการรีไซเคิลขยะได้ดีและมากที่สุดในโลก
ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้ออกกฎหมายสองตัวคือ Waste Control Act และ Act of Promotion of Saving and Recycle of Resources กฎหมายสองตัวนี้เน้นเรื่องหลัก 3R ชนิดเข้มข้น ทั้งลด ใช้ซ้ำ หมุนเวียน (reduce, reuse, recycle) เกาหลีใต้ปักธงว่าในปี 2573 หรือทศวรรษหน้าจะต้องลดขยะพลาสติกให้ได้ร้อยละ 50 และรีไซเคิลให้ได้ร้อยละ 70 กระบวนการจัดการขยะของเกาหลีใต้นับว่าคล้ายกับญี่ปุ่น แต่มี “ของเล่น” ที่เน้นเทคโนโลยี มาใช้ในเมกะซิตี้อย่างกรุงโซล นัยว่าเป็นการเพิ่มพูนภาพลักษณ์ความเก่งในด้านนี้ให้โลกเห็นชัดขึ้น
“ของเล่น” ที่ว่าคือถังขยะอัจฉริยะจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือคลีนคิวบ์ (CleanCUBE) มีกลไกบีบอัดขยะให้เล็กลงโดยใช้มอเตอร์ ทำให้จุขยะได้มากกว่าถังขยะทั่วไปถึง 5 เท่า หรือ 720 กก. ประมาณ 8 เท่าของถังขยะแบบเดิมๆแต่การทิ้งขยะใช่ว่าจะ “ฟรี” คนที่จะทิ้งต้องนำขยะมาชั่งน้ำหนัก เครื่องจะคำนวณค่าใช้จ่ายจากการทิ้งเศษอาหาร แล้วส่งใบเรียกเก็บไปที่บ้านซึ่งระบุในบัตรประชาชนของผู้ทิ้งขยะ ขยะจะเดินทางจากถังไปสู่ระบบกำจัด โดยเฉพาะถังที่รับขยะอาหารจะเวียนกลับไปเป็นปุ๋ย และยังแถมเชื่อมต่อระบบ wi-fi เพื่อแจ้งตำแหน่งว่า “ฉันอยู่ตรงไหน” บ้างในถนนสายต่างๆ แนวคิดถังอัจฉริยะนี้มาจากกลุ่มสตาร์ตอัพ Ecube Labs ไหนๆก็เวิร์กซะขนาดนี้ก็ทำขายเสียเลย ตอนนี้ CleanCUBE จำหน่ายออนไลน์ ส่งข้ามประเทศได้เลย
ไต้หวัน : กวักขยะด้วยเสียงเพลง
ไทเปเผชิญปัญหาขยะล้นในช่วงทศวรรษ 1980 (พ.ศ.2523) เพราะผู้คนทะลักเข้ามาทำงานในเมืองหลวงมากมาย เป็นเวลาถึง 25 ปีที่ไต้หวันได้รับการขนานนามว่า “เกาะแห่งขยะ” จนกระทั่งปี 2561 ไต้หวันพัฒนาระบบการจัดการขยะ เน้นอย่างที่สุดคือการคัดแยกขยะด้วยตนเอง แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ ขยะทั่วไป-รีไซเคิลไม่ได้กำจัดโดยการเผา ขยะรีไซเคิล ซึ่งแยกย่อยกว่า 10 ประเภท และขยะเศษอาหาร ที่กำจัดที่บ้าน ส่วนที่อื่นก็ต้องขนไปกำจัดในสถานที่ที่กำหนดให้ ถุงขยะต้องเป็นถุงที่มีบาร์โค้ดที่รัฐบาลกำหนดเท่านั้น ประเภทใส่ถุงก๊อบแก๊บมาทิ้ง-ห้ามเด็ดขาด
ใครเคยไปไต้หวันน่าจะได้ยินเสียงเพลง Maiden’s Player หรือเพลง Fur Elise ที่แว่วมาตามท้องถนน นี่คือ สัญญาณเตือนให้ ประชาชนรู้ว่ารถขยะกำลังมาแล้ว ให้เตรียมนำขยะที่คัดแยกแล้วออกมายืนรอริมถนน ซึ่งมีจุดจอดอยู่ถึง 4,000 จุดในกรุงไทเป มีตาราง กำหนดเส้นทาง วัน เวลา พร้อมแพลตฟอร์มในอินเตอร์เน็ตเพื่อให้ประชาชนเช็กได้ว่าตำแหน่งรถขยะใกล้สุดในขณะนั้นอยู่ตรงไหน ติดตั้งเครื่องรีไซเคิลชื่อ iTrash Booths ไว้รองรับขยะได้ถึง 200 กก. บริการ 24 ชั่วโมง คนทิ้งขยะต้องจ่ายค่าบริการ เพราะถือว่ามาไม่ทันรอบที่ “เปิดเพลง” เรียกและ นโยบายหนึ่งที่นับว่าได้ผลเห็นชัดคือ การสร้างจิตสาธารณะ โดยให้คนทิ้งขยะแบกรับค่าใช้จ่ายตามปริมาณขยะที่ทิ้ง ทิ้งมากจ่ายมาก ทิ้งน้อยจ่ายน้อย
แก้ปัญหาขยะต้องเริ่มที่ต้นทาง สร้างคน ปรับโครงสร้าง กำหนดมาตรการเป็นนโยบายที่ทำได้จริง ถุงผ้าและการแบนพลาสติก...เป็นแค่ปลายทางจุดเล็กๆเท่านั้น.