เรียกว่าเป็นกระแสกันมาหลายปี กับการอนุญาตใช้กัญชา ทั้งในทางการแพทย์ และการบริโภคในหมู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งในช่วงหลังมานี้ เราได้เห็นร้านอาหารนำกัญชามาต่อยอดในการทำอาหารและเครื่องดื่ม ให้ผู้บริโภคได้ตื่นเต้นกัน รวมถึงผู้ป่วยที่ได้ประโยชน์จากการใช้กัญชาทางการแพทย์ และการถกเถียงกันถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับจากพืชชนิดนี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาเสวนาถึงผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากมีการเปิดโอกาสในการเข้าถึงกัญชา รวมถึงบทเรียนจากประเทศที่มีการเปิดใช้กัญชามาก่อนประเทศไทย ให้ผู้สนใจได้ร่วมรับฟัง และต่อยอดถึงแนวทางที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย
ภายในงานมีแขกผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. นพ.ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการ ศศก. และ Dr.Jürgen Rehm Senior Scientist, Institute for Mental Health Policy Research & Campbell Family Mental Health Research Institute, Centre for Addiction and Mental Health (CAMH), Canada ได้เข้าร่วมเสวนาผ่านทางออนไลน์
การเปิดเสรีกัญชา ต้องมาพร้อมกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน
ดร.เจอร์เกน ไรห์ม ได้เล่าถึงสถานการณ์ในประเทศแคนาดา เกี่ยวกับการใช้กัญชา โดยกล่าวว่า ก่อนที่จะมีการเปิดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายในปี 2001 และการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการในปี 2018 ชาวแคนาดาก็มีการใช้กัญชากันเองอยู่แล้ว เมื่อมีการประกาศให้กัญชาถูกกฎหมาย ตัวเลขของผู้ใช้งานจึงไม่ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงอุบัติเหตุที่เกิดจากผู้ใช้กัญชาก็มีรายงานตัวเลขอยู่ก่อนแล้ว การปลดล็อกกัญชาจึงไม่มีกระทบมากนัก
ทั้งนี้ ดร.เจอร์เกน ได้พูดถึงบริบทของประเทศไทยว่า มีความแตกต่างจากการบริหารประเทศของแคนาดาที่ให้อำนาจแต่ละมลรัฐในการดูแล ต่างจากของไทยที่ดูแลโดยรัฐบาลกลางทั้งหมด แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือควรมีการควบคุมการบริโภคกัญชา เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ ควรมีการศึกษาถึงผลกระทบว่าหลังจากมีการปลดล็อกแล้วมีอัตราผู้ใช้ และมีอุบัติเหตุจากกัญชาเพิ่มขึ้นไหม และจะหาแนวทางควบคุมผลที่จะตามมาอย่างไร นั่นคือประเด็นสำคัญที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น
กัญชา เสพแล้วติดจริง ผลกระทบในเด็กรุนแรงกว่าผู้ใหญ่
นพ.ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช ผู้มีประสบการณ์ด้านการบำบัดผู้ติดยาเสพติดโดยตรง ได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านกัญชา ก็คือ คนทั่วไปเริ่มรู้สึกว่าการเสพกัญชาเป็นเรื่องปกติสามัญมากขึ้น โดยมีการสำรวจพบว่าประชากรในกรุงเทพมหานคร 1,000 คน จะมีจำนวน 90 คน ที่เคยเสพกัญชา รวมถึงมีสถิติรายงานจาก ป.ป.ส. ว่ากัญชาได้รับความนิยมแซงหน้ากระท่อม ที่เคยเป็นแชมป์เก่า ซึ่งต่างก็เป็นสารเสพติดที่ส่งผลต่อร่างกาย
ที่ผ่านมา ทางหน่วยงาน สบยช. จะมีผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาอาการติดยาเสพติดอยู่ที่ 200,000 คนต่อปี อันดับหนึ่ง จะเป็นผู้เสพติด ยาบ้า ยาไอซ์ ส่วนอันดับสองรองลงมาก็คือ ผู้เสพติด กัญชา กระท่อม ซึ่งการเสพกัญชานั้น มีผลทำให้ร่างกายเสพติด หากเสพมากๆ ก็จะมีผลต่อสมองและเกิดอาการทางจิตได้ เช่น ความจำบกพร่อง หวาดระแวง ครึกครื้น รวมถึงการกะระยะทางที่ผิดพลาด ซึ่งมีผลต่อการขับขี่ นอกจากนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ หากผู้เสพกัญชาเป็นเด็ก อายุต่ำกว่า 20-25 ปี สมองของเด็กจะยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงเกิดการเสพติดง่ายกว่าสมองผู้ใหญ่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะร้ายแรงกว่า พ่อแม่ผู้ปกครอง และโรงเรียน ควรสอนเด็กให้ชัดเจนในจุดนี้ ว่าสภาพร่างกายของเขาแตกต่างจากผู้ใหญ่
เมนูกัญชา เช็กให้ชัวร์ รู้ให้จริง ไม่วางทิ้งปะปนกับอาหารปกติ
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการ ศศก. กล่าวว่าเมนูกัญชาที่มีการขายกันในหลายๆ ร้านนั้น ทางร้านจะต้องทำตามข้อกฎหมาย เช่น ต้องเป็นกัญชาที่มาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาต ต้องมีความเข้มข้นตามที่กฎหมายกำหนด หรือหากซื้อมาบริโภคแล้วก็ต้องระวังไม่ให้เด็กมาเผลอบริโภคโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างในกรณีของต่างประเทศ เช่น ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย มีรายงานว่า เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี บริโภคขนมประเภทคุกกี้ บราวนี่ ที่ผสมกัญชา ทำให้ส่งผลต่อร่างกายของเด็ก เช่น เกิดอาการเนือย อ่อนแรง ใจสั่น ม่านตาขยาย ซึ่งทั้งนี้ ประเทศไทยเรายังไม่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการแบบต่างประเทศ
ก้าวต่อไป ประเทศไทยกับการควบคุมกัญชาที่เหมาะสม
ทางด้าน นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ก็ได้ชวนทุกคนมองหาข้อสรุปและแนวทางในการปลดล็อกกัญชาในประเทศไทย ว่าควรมีขอบเขตแค่ไหน โดยเรามีหลักเกณฑ์ที่ใช้มาก่อน ก็คือเรื่องการควบคุมเหล้า บุหรี่ ที่จำหน่ายให้บุคคลอายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งกัญชาก็ถือว่าใกล้เคียง อาจจะสามารถใช้มาตรฐานอายุเดียวกันได้ แต่สิ่งที่ยังไม่มีก็คือ การดูแลเรื่องการขับขี่ เพราะจะต้องมีอุปกรณ์การตรวจแบบแอลกอฮอล์ รวมถึงกฎหมายที่ต้องนำมาบังคับใช้ ส่วนอีกประเด็นที่ต้องคำนึงถึง ก็คือ การป้องกันเยาวชนให้เข้าถึงสารเสพติดได้น้อยที่สุด หรือแม้แต่เกิดอาการเสพติดแล้วก็สามารถเข้าถึงแหล่งรักษาได้ ทั้งนี้ สสส. ก็ได้มีการสนับสนุนหลักสูตรเพื่อให้เด็กๆ รู้ถึงความเสี่ยงจากภัยต่างๆ รวมถึงยาเสพติด ให้เขาสามารถป้องกันตนเองได้