สร้าง “คลังปัญญา” พัฒนาประเทศ “มีคำถามว่า ทุกวันนี้ที่คนไทยหันไปใช้สมาร์ทโฟนหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเพราะอะไร ได้รับความรู้จริงหรือไม่จริง ขณะเดียวกันเราไม่อาจทำให้ผู้อ่านตื่นเต้นดีใจได้ในหนังสือกระดาษ ไม่อาจจะรู้ได้ว่า แต่ละปีมีการผลิตหนังสือออกมากี่เล่ม มีเรื่องอะไรบ้าง มีสาระสำคัญอะไรบ้าง มีประชาชนเข้าถึงและเข้าไม่ถึงหนังสือจำนวนเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้อะไรเลยประเทศก็จะพัฒนาต่อไปไม่ได้” ความเห็นของ นายมกุฏ อรฤดี เลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ ที่สะท้อนปัญหาการเข้าถึงหนังสือและการอ่านของคนไทย

ทั้งๆที่การอ่านเป็นทักษะสำคัญของชีวิตทุกคน ทำให้เกิดการพัฒนาด้านสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ พฤติกรรมและค่านิยมต่างๆ เป็นการวางรากฐานแห่งการคิด วิเคราะห์ สร้างจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

สำหรับประเทศไทย ซึ่งจัดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา มีผลวิจัยหลายต่อหลายชิ้น ชี้ให้เห็นพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทยเป็นกิจกรรมที่ไม่แพร่หลาย แม้ในหมู่ผู้รู้หนังสือแล้ว โดยเฉพาะการอ่านหนังสือที่ดีและมีสาระยิ่งมีน้อยมากถือเป็นปัญหาระดับชาติ ที่รัฐบาลและทุกฝ่ายต้องหันมาตระหนัก สร้างให้สังคมไทยและคนไทยรักการอ่าน มีวัฒนธรรมในการอ่านให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมหนังสือที่ดี และมีคุณภาพให้มากขึ้นด้วย

...

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงร่วมมือกับ มูลนิธิวิชาหนังสือ และสถาบันไทยศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อน โครงการพัฒนาวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือ ของประเทศไทยให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมครั้งแรก พร้อมรณรงค์ให้คนไทยทุกระดับมีวัฒนธรรมรักการอ่าน

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการวัฒนธรรมหนังสือฯ ว่า ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำหนดให้มีการจัดทำแผนพัฒนาวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทย (พ.ศ.2565-2569) มีเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการอ่านหนังสือในแต่ละประเภทที่แต่ละคนสนใจได้มากขึ้นและเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ที่ดีมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง อีกทั้งร่วมกันเผยแพร่และประกาศนโยบาย “หนังสือเป็นวัฒนธรรมของชาติ” ตลอดจนมีกลไกการเผยแพร่หนังสือทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเกื้อหนุนวงการหนังสือไทยให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาองค์ความรู้ ให้คนไทยนำไปใช้พัฒนาประเทศได้

ขณะเดียวกัน นายมกุฏ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมการจัดระบบหนังสือให้มีคุณภาพ และครบวงจร เพื่อส่งผลต่อการพัฒนาวงการหนังสือทั้งระบบทั้งนักเขียน นักแปลสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ ผู้อ่าน ที่สำคัญจะส่งเสริมการอ่านเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องส่งเสริมให้มีหนังสือที่มีเนื้อหาตรงตามเป้าหมายของผู้อ่านด้วย เพราะหากไม่มีหนังสือที่สนุก และจูงใจคนก็ไม่อ่าน

“ในการดำเนินงานสถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ จะประมวลผลเกี่ยวกับปัญหาระบบหนังสือ ระบบความรู้ของประเทศไทย โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนชรา ด้วยการใช้โจทย์จากความไม่รู้ดังกล่าวมาทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ชุดข้อมูลตอบโจทย์ที่สำคัญ แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าเราจะแก้ปัญหาแต่ละจุดได้อย่างไร คาดว่าจะใช้เวลาวิจัย 1 ปี

จากนั้น สวธ.จะเสนอให้หนังสือเป็นวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งรวมไปถึงส่ง-เสริมวัฒนธรรมการอ่าน วัฒนธรรมการเขียน วัฒนธรรมการส่งเสริมการทำหนังสือ และในอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้มาดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง” เลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือกล่าว

นอกจากการดำเนินงานใน ข้างต้นแล้ว สวธ.ยังมีแนวทางการดำเนินงานในโครงการย่อยคู่ขนานไปด้วย อาทิ 1. โครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือ ส่งเสริมและเกื้อหนุนร้านหนังสืออิสระ ให้ดำเนินกิจการอย่างราบรื่น มีสถานะมั่นคงขึ้นด้วยนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล เพื่อเป็นแหล่งความรู้พื้นฐานที่ดีและมีคุณภาพ มีบรรยากาศเอื้อต่อการส่งเสริมการอ่าน และเอื้อให้สำนักพิมพ์มีพื้นที่ขายหนังสือมากขึ้น ซึ่งมีกิจกรรมหนังสือเดินทางร้านหนังสือ (Book Passport) เมื่อซื้อหนังสือที่ร้านเข้าร่วมโครงการ จะได้รับ Book Passport ฟรี พร้อมตราประทับ สะสมเป็นที่ระลึก และรับสิทธิ์แลกรางวัล นอกจากนี้จะมีการยกย่องเชิดชูเกียรติร้านหนังสืออิสระดีเด่น เพื่อเป็น ต้นแบบของร้านหนังสือ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้แลก เปลี่ยน ความรู้ ความคิด วัฒนธรรมที่สําคัญของชุมชนนั้นๆ อีกทั้งสนับสนุนร้านหนังสืออิสระที่ผ่านมาตรฐานให้เป็นตัวแทนภาครัฐ ในการส่งเสริมการอ่านในพื้นที่ภูมิภาค

2.โครงการแปลหนังสือ วรรณกรรม และวรรณคดีแห่งชาติอาเซียนเป็นภาษาไทย ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจวัฒนธรรมประเทศอาเซียน จะนําไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างชาติสมาชิกด้านต่างๆ และฟื้นฟูระบบหนังสือ ระหว่างนักแปล ผู้ถือลิขสิทธิ์ ตัวแทนลิขสิทธิ์ บรรณาธิการ สํานักพิมพ์หน่วยการพิมพ์ ผู้อ่าน และประชาชนโดยระดมนักแปลราว 110 คน เพื่อแปลหนังสือภาษาต่างๆ ในโครงการ 110 เล่ม ระดมบรรณาธิการ 100 คน เพื่อตรวจเทียบต้นฉบับ และระดมสํานักพิมพ์ต่างๆทั่วประเทศพิมพ์ต้นฉบับเพื่อจําหน่ายเผย แพร่ทั่วประเทศ นับเป็นการรวมนักแปล บรรณาธิการ และสํานักพิมพ์มากที่สุดในประวัติศาสตร์การแปลหนังสือของประเทศไทย

3.โครงการห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พัฒนาให้เป็นต้นแบบห้องสมุดภายในพิพิธภัณฑ์ เป็นศูนย์เผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวันก่อนขยายผลการดำเนินงานไปยังพิพิธภัณฑ์อื่นๆ และ 4.โครงการห้องสมุดประจําเมืองต้นแบบ ณ เมืองสงขลา การพัฒนาห้องสมุดเอกชน ที่คํานึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยหลังเกษียณเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในห้องสมุด มีค่าตอบแทนให้เป็นรายชั่วโมง มีการดําเนินงานที่เน้นการเกื้อกูลกันระหว่างห้องสมุดและร้านหนังสืออิสระในชุมชน นอกจากนี้ มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพสื่อการอ่าน โดยคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดต้องครอบคลุมผู้อ่านทุกวัย และให้ห้องสมุดประจําเมืองเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวต่อไป

ทีมข่าววัฒนธรรม มองว่า นับเป็นการเริ่มต้นซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี ด้วยการกดปุ่มสตาร์ตการดำเนินงานจากหน่วยงานภาครัฐ ที่เดินหน้าส่งเสริมการติดอาวุธทางปัญญาโดยการสร้างกลไกลให้ประเทศไทย มี “วัฒนธรรมหนังสือ-ระบบหนังสือ” และเป็นแนวทางปลูกฝังนิสัยรักการอ่านกับคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม

และเราขอตั้งความหวัง ทั้งฝากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ต่อจากนี้ อีก 1 ปี จะเห็นผลการดำเนินงาน ที่ทำให้คนไทยมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านหนังสือรูปเล่มมากขึ้น ได้รับประโยชน์จากการอ่านหนังสือที่มีคุณภาพ

ที่สำคัญสามารถนำความรู้จากการสร้าง “คลังปัญญา” ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง และพัฒนาชาติได้อย่างยั่งยืน.

ทีมข่าววัฒนธรรม