รมช.แรงงาน เปิดงาน "วันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลกออนไลน์" เยี่ยมชมการทำงาน-ประกอบอาชีพ สำหรับบุคคลออทิสติกฯ พร้อมร่วมมือ เครือข่ายส่งเสริมอาชีพคนพิการ
เมื่อวันที่ 2 เม.ย.64 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดงานวันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลกออนไลน์ และเยี่ยมชมระบบการเตรียมความพร้อม เพื่อการทำงานและประกอบอาชีพสำหรับบุคคลออทิสติก บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้ มูลนิธิออทิสติกไทย รวมถึงแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และเครือข่ายจัดกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR) ส่งเสริมอาชีพคนพิการ
โดย ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า นโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด 3 ประการ คือ "สร้าง-ยก-ให้ รวมไทยสร้างชาติ" ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพสำหรับกลุ่มเปราะบาง ให้เข้าถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ มีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาวของแรงงานและครอบครัว ซึ่ง กพร.ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดหลักสูตรการอบรมการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ เพื่อการมีงานทำสำหรับบุคคลออทิสติก บุคคลที่มีความพกพร่องทางสติปัญญา การเรียนรู้ใน 5 หลักสูตรและส่งต่อบุคคลออทิสติกเข้าสู่ระบบการจ้างงาน และประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมสำหรับกลุ่มคนพิการเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย ซึ่งปีนี้มีผู้เข้าการอบรมกว่า 100 คน และได้จัดศูนย์ต้นแบบเพื่อสนับสนุนระบบการเตรียมความพร้อมเพื่อการทำงานและประกอบอาชีพสำหรับคนพิการในประเทศไทย ตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
...
ช่วงบ่าย รมช.แรงงาน ได้ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และเครือข่าย จัดกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR) ส่งเสริมอาชีพคนพิการ เป็นกิจกรรมที่ช่วยเหลือคนพิการและสังคมรูปแบบหนึ่งให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้ มีงานทำ มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีตามความประสงค์ของผู้ประกอบการ อาจมีการช่วยเหลือคนพิการ รายบุคคล รายกลุ่มในชุมชน หรือนอกชุมชน รวมถึงการเป็นจิตอาสาช่วยคนพิการ เช่น การพาคนพิการไปรับบริการด้านสุขภาพ การเดินทาง การศึกษา การช่วยปรับปรุงที่พักอาศัย การปรับสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นต้น การจัดหรือสนับสนุนการฝึกอบรมความรู้ การฝึกอาชีพ แก่กลุ่มคนพิการ ตามความถนัดของบุคลากรในหน่วยงาน หรือความประสงค์ของผู้ประกอบการ การสนับสนุนโดยการซื้อสินค้า หรือผลิตภัณฑ์คนพิการตามความเหมาะสม การสนับสนุนกลุ่มกิจการเพื่อสังคมของคนพิการ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรม CSR ดังกล่าว จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และตอบโจทย์บทบาทของภาคธุรกิจเอกชนที่ประสงค์จะช่วยเหลือคนพิการ
"การเปิดให้บุคคลออทิสติกได้รับบริการพื้นฐานจากภาครัฐในด้านต่างๆ รวมถึงการฝึกทักษะด้านอาชีพ จะทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และพึ่งพาตนเองได้ ภายใต้แนวคิด "เพิ่มการจ้าง สร้างการจัด และลดการจ่าย" ด้วยการสร้างเครือข่ายทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมมือมากยิ่งขึ้น เพราะการช่วยคนพิการ 1 คน สามารถช่วยคนในครอบครัวคนพิการได้ 3-4 คน นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมั่นคงต่อไป" รมช.แรงงาน กล่าว