“รากษสเทวี” นางสงกรานต์ปี 64 ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมราภักษาหาร โลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังวราหะ ประกาศปฏิทินหลวง น้ำมาก พืชผลเสียหาย ปวงชนร้อนใจ
วันที่ 30 มี.ค. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแนวทางการการจัดกิจกรรมเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ในปี 2564 ภายใต้แนวคิด "สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย" ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ซึ่งเป็นการจัดงาน สงกรานต์วิถีใหม่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร แล้ว
โดยมีแนวทาง ดังนี้ งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก และมีการสัมผัสใกล้ชิด งดกิจกรรมรวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ งดประแป้ง งดเล่นปาร์ตี้โฟมและให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ให้มีการจัดงานในรูปแบบสืบสานวัฒนธรรม และส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ตามแบบแผนที่ดีงาม เช่น สรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังเทศน์ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ตลอดจนรณรงค์เชิญชวนการแต่งกายด้วยชุดสุภาพ ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่นหรือชุดไทยย้อนยุค เข้าร่วมกิจกรรม
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามปฏิทินหลวง ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2564 ระบุดังนี้ ปีฉลู (มนุษย์ผู้ชาย ธาตุดิน) ตรีศก จุลศักราช 1383 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน วันที่ 14 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันพุธ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6 เวลา 3 นาฬิกา 39 นาที 40 วินาที นางสงกรานต์ ทรงนามว่า "รากษสเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมราภักษาหาร โลหิต
...
วันที่ 16 เมษายน เวลา 07 นาฬิกา 37 นาที 12 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1383 ปีนี้ วันอาทิตย์ เป็น ธงชัย, วันจันทร์ เป็น อธิบดี, วันเสาร์ เป็น อุบาทว์, วันพุธ เป็น โลกาวินาศ ปีนี้ วันเสาร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า นาคให้น้ำ 6 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 0 ชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 1 ส่วน เสีย 9 ส่วน มหาชนร้อนใจ ด้วยอาหารแล เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก.