ในปี 2558 ที่ประชุม “สมัชชาสหประชาชาติ” ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีตัวชี้วัดหนึ่ง คือการทำให้ทุกประเทศมีระบบสุขภาพที่เข้าถึงได้ และเป็นธรรมภายในปี 2573 โดยระบบ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เป็นเครื่องมือสำคัญในการพาไปถึงเป้าหมาย

นี่คือเป้าหมายที่ยากและใหญ่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย เช่น ในแอฟริกา หรือลาว คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำระบบได้ในทันทีทันใด...การทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในแต่ละประเทศ จึงอยู่ที่นิยามที่พวกเขาให้กับระบบ และความพร้อมด้านบริการสาธารณสุข

เช่น จะให้สิทธิประโยชน์ตอนเริ่มได้มากน้อยแค่ไหน มีความคุ้มค่าหรือไม่ ใช่ว่า...จะให้สิทธิประโยชน์ทุกอย่างได้ จำเป็นต้องเลือกสิ่งที่ทำได้และเหมาะสม

แอนน์ มิลส์ (Anne Mills) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สุขภาพ และรองผู้อำนวยการ London School of Hygiene and Tropical Medicine วิทยาลัยภายใต้มหาวิทยาลัยลอนดอน ย้ำไว้ว่า

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอาจฟังดูทะเยอทะยานเกินไป แต่หากเรามีเป้าหมายเราก็จะมีหมุดหมายให้เดินไปข้างหน้า มันอาจจะดีที่เราทะเยอทะยานไว้ก่อน เพราะ...“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย ช่วยจุดประกายให้ทุกประเทศเชื่อว่า...อะไรก็เป็นไปได้”

...

19 ปีแห่งพัฒนาการ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า...ตัวเลขรายจ่ายครัวเรือนด้านสุขภาพลดลงจากปี 2538 อยู่ที่ 44% เหลือ 11% ในปี 2560 ที่สำคัญตัวเลขครัวเรือนยากจนจากค่ารักษาพยาบาลก็ลดลงไปมากมายจากปี 2533 อยู่ที่ 2.5 แสนครัวเรือน ในปี 2560 ลดเหลือ 5.2 หมื่นครัวเรือน...ช่วงเวลา 7 ปี ลดลง 79.2%

พลิกแฟ้มพันธสัญญา “บัตรทอง 30 บาท” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 4 ปี ระยะที่ 1...2546-2550 โรดแม็ป “มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงด้วยความมั่นใจ” ความครอบคลุม มีส่วนร่วม หนุนเสริมจัดระบบบริการที่ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก

ระยะที่ 2...2551-2554 ความสุข “มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงด้วยความมั่นใจและผู้ให้บริการมีความสุข” เพิ่มประสิทธิภาพบริหารงบประมาณโดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คุ้มครองสิทธิ พัฒนาระบบบริหาร สปสช.ให้เข้มแข็งมากขึ้น

ระยะที่ 3...2555-2559 มั่นใจ “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” มุ่งสู่ความยั่งยืนของระบบ ครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย มีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ ระบบประกันสุขภาพภาครัฐสอดคล้องกลมกลืน สนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ

ระยะที่ 4...2560-2564 มั่นคง “ประชาชนเข้าถึงบริการการเงินการคลังมั่นคง ดำรงธรรมาภิบาล” พัฒนาระบบโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ เป็นตัวแทนประชาชนจัดหาบริการคุณภาพ

เปิดวิสัยทัศน์ นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาฯสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแกะกล่องตอกย้ำ “สิทธิครอบคลุมถ้วนหน้า ไม่พาล้มละลาย ขยายสิทธิประโยชน์” เพิ่มจุดแข็งให้มากยิ่งขึ้น

ภายใต้...ยุทธศาสตร์ 1 สร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ ยุทธศาสตร์ 2 สร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานและความเพียงพอของบริการ

ยุทธศาสตร์ 3 สร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพการบริหารกองทุน ...ยุทธศาสตร์ 4 สร้างความมั่นใจในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน... ยุทธศาสตร์ 5 สร้างความมั่นใจในธรรมาภิบาล

ว่ากันถึงปัญหาอุปสรรค...ความท้าทาย โอกาส และอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในอีก 4 ปีต่อจากนี้...ด้วยปัจจัยรอบด้าน เช่น ระบบสาธารณสุข Disruptive technology...เทคโนโลยี

นวัตกรรมที่เข้ามาสร้างตลาดและมูลค่า จนทำให้เกิดผลกระทบรุนแรง (กระทบของเดิม)

นับรวมไปถึง...สภาพแวดล้อม โรคอุบัติใหม่ โรคระบาด เศรษฐกิจ สังคม การเมืองในประเทศ

นายแพทย์จเด็จ บอกว่า มุมแรกที่สำคัญที่สุดคือ “ประชาชน”...

ผู้มีสิทธิบัตรทอง โดยเฉพาะ กลุ่มเปราะบาง ที่ยังตกหล่น...มีข้อจำกัดในการใช้สิทธิ กลุ่มคนชั้นกลาง...ที่ยังไม่เชื่อมั่นระบบ...สังคมผู้สูงอายุ และภาวะพึ่งพิงและ บริการสำคัญที่ยังเข้าถึงน้อย โรคร้ายแรง ฯลฯ ต้องสามารถเข้าถึงสิทธิได้อย่างเต็มที่ที่สุด

มุมต่อมา...ระบบบริการ ที่สอดรับวิถีชีวิตใหม่...มียา เช่น การรักษา และเทคโนโลยีใหม่ๆ...มี ระบบการแพทย์ดิจิทัล...มี หน่วยบริการ แบบ ใหม่ๆหลากหลาย

มุมที่สาม...การบริหารจัดการองค์กร ก็สำคัญไม่แพ้ไปกว่ากัน นั่นก็คือ การบริหารจัดการโครงสร้างและกลไกภายในองค์กร ควบคู่ไปกับสภาพแวดล้อมการบริหารจัดการที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและตลอด เวลา...การตรวจสอบการเบิกจ่าย ที่ต้องตรวจจับได้ดีและรวดเร็วควบคู่ไปกับเบิกจ่ายถูกต้อง รวดเร็วกว่าเดิม

การทำงานกับคณะกรรมการกลไกอภิบาลต่างๆ, ความร่วมมือและความเชื่อถือไว้วางใจ, กติกาขั้นตอนการทำงานตามระบบคู่ไปกับการขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมายได้ทัน และการติดตามประเมินผลที่ต้องพัฒนาศักยภาพ การใช้ประโยชน์ข้อมูล...บิ๊กดาต้า (big data) เพื่อการเข้าถึงบริการอย่างมีประสิทธิผล

“สปสช.ต้องรู้บทบาทตัวเองว่าเป็นผู้สนับสนุนการเงินไปยังหน่วยบริการ จึงต้องวางกติการะบบกลไกการตรวจสอบที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะระบบตรวจสอบ ระบบบริหารการจ่ายปรับการเบิกจ่ายให้มีประสิทธิภาพ

ถูกต้อง ตรงเวลา ทบทวนกฎ ระเบียบ อะไรต้องทำ อะไรต้องปรับ ตัดสินใจเชิงนโยบายจากข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์...การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”

มุมที่สี่...การเงินการคลัง เป็นอีกหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน งบประมาณด้านสุขภาพจะต้องสอดคล้องอย่างมากกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ต้องเคร่งครัดในเรื่องปลีกย่อยต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจ่ายเงิน การควบคุมต้นทุน และประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย

ทั้งนี้ทั้งนั้น “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” จะเดินหน้าไปได้อย่างไม่ติดขัด สะดุดล้ม จะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนอย่างที่สุดด้วยความจริงใจจริงๆ

ไล่เรียงมาตั้งแต่หน่วยบริการ...องค์กรวิชาชีพ, ประชาชนและเครือข่ายผู้ป่วย, รัฐบาลการเมือง ผู้ตัดสินใจนโยบาย, หน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ต่างๆ, นักวิชาการ, สาธารณะ

แน่นอนว่าเพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าการก่อร่างสร้างระบบให้แข็งแกร่งยิ่งๆขึ้นไปนี้จะต้องก้าวและเติบโตไปเรื่อยๆ คิดดี คิดได้ นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง...อย่างกลไกการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วม การตอบสนองเชิงรุก สนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิที่เน้นให้ประชาชนทุกคนมี... “แพทย์ประจำครอบครัว”

“เร่งรัดการปรับระบบที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงบริการ และหากดำเนินการไม่ดีจะทำให้ประชาชนต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย เช่น ระบบสร้างเสริมสุขภาพ...ป้องกันโรคสำหรับคนไทยทุกคน...โรคที่สำคัญ โรคที่เป็นปัญหาสุขภาพ...ทำให้เกิดภาวะล้มละลายจากการเจ็บป่วย” นายแพทย์จเด็จ ว่า

พร้อมทั้งเพิ่มความสะดวกในการรับบริการ ลดความแออัดของระบบบริการ...จัดกลไกการเงินการคลังรองรับประเภทบริการ ระบบบริการรูปแบบใหม่ๆ

ยุคนิวนอร์มอล...ชีวิตวิถีใหม่ โรคร้ายรุมเร้า ทั้งโรคทางกาย โรคทางใจที่กระทบแรงมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน “ระบบหลักประกันสุขภาพ” จะต้องพร้อมแบกรับกับปัญหาปัจจุบันและอนาคต “สิทธิครอบคลุมถ้วนหน้า ไม่พาล้มละลาย ขยายสิทธิประโยชน์”...ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.