• Sexual Harassment การคุกคามทางเพศในรูปแบบต่างๆ ที่แม้สังคมพยายามให้ความสำคัญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรายังเจอข่าวประเภทนี้อยู่บ่อยครั้ง
  • เหยื่อส่วนใหญ่คือ "เด็ก" โดยพบว่า ร้อยละ 84.8 เป็นนักเรียน นักศึกษา
  • ต้นตอ วิธีคิด “ชายเป็นใหญ่” ปลูกฝังความเชื่อผิดๆ บวกกับมายาคติบิดเบี้ยว ที่ได้จากละคร

Sexual Harassment หรือที่เรียกว่า การคุกคามทางเพศ เป็นปัญหาที่มีให้เห็นในหลายรูปแบบ ทั้งการแทะโลมด้วยสายตา การใช้คำพูดสองแง่สองง่าม การแตะเนื้อต้องตัว โชว์อวัยวะเพศ ไปจนถึงการข่มขืน และเหยื่อของการคุกคามมักจะเป็นเด็ก และสตรี โดยปัจจุบันเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่สังคมไทยกำลังให้ความสำคัญ จึงเกิดคำถามต่อไปว่า ทั้งๆ ที่สังคมกำลังให้ความสนใจ แต่ทำไมข่าวการคุกคามทางเพศถึงยังมีให้เห็นอยู่แทบจะรายวัน

คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า สถิติที่มูลนิธิฯ ได้เก็บรวบรวมข่าวสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศปี 2562 ในหน้าหนังสือพิมพ์ 9 ฉบับ พบว่า มีข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกว่า 333 ข่าว แบ่งเป็น ข่าวข่มขืน ร้อยละ 43.9 ข่าวบังคับค้าประเวณี ร้อยละ11.7 ข่าวพยายามข่มขืน ร้อยละ 10.2 และอื่นๆ ที่เป็นข่าวอนาจาร, ปล่อยคลิปลามก และกระทำการรุมโทรม

สำหรับอายุผู้ถูกกระทำ พบมากที่สุด คือเด็กและเยาวชน 11-15 ปี รองลงมา อายุ 16-20 อายุ 6-10 ปี และอายุ 21-25 ปี อายุผู้ถูกกระทำที่น้อยสุด เป็น เด็กหญิง วัย 4 ขวบ (กรณีข่าว ถูกน้าชายเสพยาบ้าข่มขืน) ส่วนอายุมากสุด คือ อายุ 94 ปี (กรณี ถูกเพื่อนบ้านวัย 63 ปี ข่มขืน) และเมื่อตรวจสอบอาชีพของผู้ถูกกระทำ พบว่า ร้อยละ 84.8 เป็นนักเรียน นักศึกษา

นอกจากนี้ ผลสำรวจ ยังพบว่า ความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ อันดับแรกเกิดจากบุคคลแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน รองลงมาเป็นคนรู้จักคุ้นเคยและเป็นบุคคลในครอบครัว เช่น ครูกระทำกับนักเรียน นักเรียนกระทำกับนักเรียน เพื่อนร่วมงาน คนข้างบ้าน พ่อเลี้ยงกับลูกเลี้ยง ฯลฯ ส่วนอันดับสุดท้าย ถูกกระทำจากบุคคลที่รู้จักกันผ่าน Social Network โดยมีปัจจัยกระตุ้น จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด และความต้องการทางเพศ

...


คุกคามทางเพศ ต้นตอมาจากวิธีคิด “ชายเป็นใหญ่”



คุณจะเด็จ กล่าวว่า อันที่จริงแล้วสาเหตุของการคุกคามทางเพศ เริ่มต้นมาจากวิธีคิด “ชายเป็นใหญ่” ที่ถูกปลูกฝังจากในครอบครัวและระบบการศึกษา รวมถึงสื่อต่างๆ ที่สอนให้ผู้ชายต้องเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีอำนาจในการตัดสินใจแทนคนอื่นๆ เช่น ถ้าเป็นผู้นำก็ต้องเข้มแข็ง ห้ามแสดงความอ่อนแอ ต้องเป็นฝ่ายปกป้องผู้หญิง ส่วนผู้หญิงก็จะถูกปลูกฝังให้เป็นเพศที่ต้องคอยตอบสนองผู้ชาย งานบ้านต้องเป็นงานของผู้หญิง เหล่านี้ส่งผลไปถึงบทบาททางเพศของผู้ชายที่สัมพันธ์กับวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ อย่างการใช้อำนาจกระทำเพศหญิงเมื่อตนมีความต้องการทางเพศ ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมากในสังคมไทย



ละครบางเรื่องก็พูดถึงเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศแบบผิดๆ ทำให้คนเข้าใจผิดว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี ถ้าแฟนโดนข่มขืนจะต้องเลิก หรือ ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน คือ ผู้หญิงที่มีรอยด่าง น่าอาย ทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในชีวิตจริง ไม่กล้าไปแจ้งความหรือขอความช่วยเหลือ และอีกหนึ่งมายาคติที่ถูกสร้างจากสื่อคือ คนที่กระทำการข่มขืนจะต้องเป็นคนโรคจิต ทั้งๆ ที่สาเหตุที่แท้จริงแล้ว ผู้ชายที่กระทำการข่มขืนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนโรคจิต เพียงแต่ต้องการใช้อำนาจ อันนี้เป็นมายาคติที่เข้าใจผิดกันเยอะ



Victim Blaming เพราะเป็นเหยื่อ จึงเจ็บปวด



เมื่อเกิดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศขึ้น สังคมก็จะโทษไปที่ผู้หญิงก่อน และสิ่งที่สังคมกำลังเข้าใจผิดเป็นอย่างมากนั่นคือ “เสื้อผ้า” ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เหยื่อถูกข่มขืน ส่วนนี้มีผลงานวิจัยออกมาอย่างชัดเจน เราจะเห็นว่าชุดเสื้อผ้าที่เคยจัดในนิทรรศการ “พลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ” โดยคุณซินดี้-สิรินยา บิชอพ ชุดที่เหยื่อใส่ในวันเกิดเหตุ ไม่ได้เป็นชุดที่เซ็กซี่เลย เพราะฉะนั้นเสื้อผ้าไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เหยื่อต้องมาโดนกระทำแบบนี้ จริงๆ แล้วมันคือการใช้อำนาจของเพศชายมากกว่า


วัฒนธรรมอำนาจนิยมในสถานศึกษา



นอกจากนี้ สังคมไทย มักสอนให้เด็กเคารพคนมีอำนาจ เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ต้องกตัญญูรู้คุณ ยิ่งเป็นญาติผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์ยิ่งต้องเคารพ แต่ไม่ได้สอนให้แยกแยะระหว่างผู้ใหญ่ที่น่าเคารพกับผู้ใหญ่ที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต แสวงหาประโยชน์ ละเมิดสิทธิ หรือทำร้ายเด็ก พอวัฒนธรรมที่กดทับควบคุมเรื่องเพศของเด็กกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมมันมาเจอกัน

อย่างกรณีที่ครูใช้อำนาจที่เหนือกว่าไปใกล้ชิดเด็กทำให้เด็กประทับใจ หลังจากนั้นก็พาไปมีสัมพันธ์ด้วย และเมื่อเกิดเรื่องเด็กก็มักไม่กล้าออกมาพูด เพราะมันขัดกับสิ่งที่ผู้ใหญ่สั่งสอนมา ทั้งๆ ที่ในแง่ของคุณธรรมจริยธรรม คุณครูไม่ควรมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเด็กอยู่แล้ว มันผิดจรรยาบรรณขั้นรุนแรง

“เช่น กรณีครูข่มขืนนักเรียน การโทษเหยื่อก็จะเป็นการให้เหตุผลว่า เป็นเพราะเด็กไปชอบครูเอง เด็กแต่งตัวยั่ว เดินที่เปลี่ยว ซึ่งความคิดแบบนี้ทำให้คนที่เป็นผู้กระทำพ้นผิด คนที่เป็นเหยื่อจะไม่กล้าออกมาพูดเรื่องที่ตนเองถูกกระทำ อีกทั้งคนในสังคมบางกลุ่มจะหันมาประณามเด็กว่าโกหก หรือใจแตก”


สถานศึกษา ควรมีหลักสูตร เน้นให้ตระหนัก



จากกรณีการคุกคามทางเพศในเด็กที่เกิดขึ้นอยู่ต่อเนื่องนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการศึกษาควรทำคือ ในโรงเรียนต้องมีหลักสูตรที่เน้นย้ำให้นักเรียนตระหนักถึงการคุกคามทางเพศ พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือและเป็นอิสระโดยผู้ที่คอยช่วยเหลือไม่ใช่ครูในโรงเรียนทั้งหมด อาจจะเป็นผู้ปกครองหรือบุคคลภายนอกร่วมกัน เนื่องจากที่ผ่านมาศูนย์ที่จัดตั้งในโรงเรียนมีแต่เฉพาะครูด้วยกันเอง ทำให้เมื่อเกิดเหตุเหยื่อไม่กล้าไปร้องเรียน เพราะกลัวว่าจะถูกเล่นงานภายหลังได้


อย่างไรก็ดี ทางมูลนิธิฯ องค์กร หรือสมาคมต่างๆ ที่ช่วยเหลือเหยื่อ ต้องมีทำงานเชิงรุกกับครูและคนในชุมชน หากมีการคุกคามนักเรียนในโรงเรียน ต้องยกเลิกใบอนุญาตกับครูที่เป็นคนกระทำ ไม่ใช่ให้ออกจากโรงเรียนนี้ไปสอนที่อื่น และสังคมไม่ควรโทษผู้หญิงเพราะเขาคือเหยื่อ ซึ่งในประเด็นนี้ควรรณรงค์อย่างต่อเนื่องไม่ใช่เฉพาะในวันสำคัญ ทั้งนี้เพื่อเป็นกระแสเคลื่อนไหวในหลายองค์กรด้วย


ผู้เขียน : Siratchaya Thongtree
กราฟิก : Phantira Thongcherd