"รองนายกฯ ประวิตร" สั่งเตรียมรับมือปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งระยะสั้น กลางและยาว พร้อมเร่งพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติหลักๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ในฐานะคณะทำงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยประชาชน เพราะฤดูแล้งใกล้จะมาถึง จึงวางแผนรองรับปัญหาและสั่งให้ กอนช.เร่งรัดแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภค บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนมีน้ำสำหรับการอุตสาหกรรมเพียงพอตลอดปี มีการวางแผนงาน ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว

ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลองได้ติดตามความคืบหน้างาน ของคณะทำงานภายใต้การกำกับของคณะอนุกรรมการฯ จำนวน 5 คณะ สรุปสำคัญได้ ดังนี้ 1. คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์และฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ไปขับเคลื่อน ทบทวนและปรับปรุงแผนฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด 6 ด้าน 56 โครงการ ซึ่งเมื่อเสร็จตามแผนจะมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 67 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้ 21,000 ไร่ และช่วยพื้นที่เกษตร 85,000 ไร่

2. คณะทำงานพัฒนาอนุรักษ์และฟื้นฟูหนองหาร จ.สกลนคร มีผลดำเนินงานสำคัญ ดังนี้ แผนการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 7 โครงการ แผนสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 2 โครงการ แผนการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 14 โครงการ แผนจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจำนวน 23 โครงการ แผนบริหารจัดการ 15 โครงการ ขณะที่ จ.สกลนครได้จัดกิจกรรมเร่ิมต้นกำจัดวัชพืชในพื้นที่หนองหารไปเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2563 มีเป้าหมายกำจัดวัชพืชในปี 2564 รวม 620,000 ตัน ปัจจุบันกำจัดวัชพืชไปแล้ว 22,815 ตัน

...

3. คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์และฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก มีผลดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ จัดทำแผนบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมาย จัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน บริหารจัดการน้ำ รื้อย้าย จัดทำความหลากหลายทางชีวภาพ แผนการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย แผนความมั่นคงของน้ำภาคการเกษตร แผนการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ

4. คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์และฟื้นฟูบึงสีไฟ จ.พิจิตร มีผลดำเนินงานสำคัญ ดังนี้คือ ขุดลอกและขนย้ายกองดินออกจากบริเวณบึงสีไฟ จัดสรรน้ำเข้าบึงสีไฟ บูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดทำแผนหลัก พัฒนาฟื้นฟูและใช้ประโยชน์บึงสีไฟทั้งระบบ เร่งรัดจัดทำแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม และจัดโซนพื้นที่ใช้ประโยชน์รอบบึงสีไฟ

5. คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์และฟื้นฟูกว๊านพะเยา จ.พะเยา มีผลดำเนินงานสำคัญกำหนดแนวทางพัฒนา ดังนี้คือ ขุดลอกตะกอนดิน ปรับปรุงประตูระบายน้ำ ปรับปรุงลำน้ำสาขาในด้านตะวันตกของกว๊านพะเยา เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำและระบบกระจายน้ำ กำหนดแผนกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติตื้นเขินและการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ กำจัดวัชพืช และขยะมูลฝอยในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำสาขาและแหล่งน้ำจืด รวมทั้งจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ.