แม่สอดบันทึกประวัติศาสตร์ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เข็มแรก โดยที่ปรึกษา รมช.สาธารณสุข ประเดิมฉีดคนแรก ตามด้วย ผวจ.ตาก ผอ.รพ.นครพิงค์ เชียงใหม่ แถลงชี้แจงไม่มีวีไอพีเข้าฉีดวัคซีนลอตแรก ด้านนายกฯปัดตุนวัคซีนให้วีไอพี ที่ประชุม ครม.อนุมัติ 6.3 พันล้าน ซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา กองทัพบกแจงหมอทหารฉีดวัคซีนพลการ แถมขาดราชการหายไปไม่มาทำงาน เตรียมยื่นเรื่องแพทยสภาเพิกถอนใบอนุญาต หลายจังหวัดทั่วไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนกันแล้ว แต่ยังไม่มีผลกระทบถึงเรื่องอาการข้างเคียงหรือการแพ้วัคซีน ขณะที่นายกฯชี้แจงดราม่าเรื่องตุนวัคซีนที่แพร่ในโซเชียล
นายกฯปัดตุนวัคซีนให้วีไอพี
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อบ่ายวันที่ 2 มี.ค. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีมีการกักตุนวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับฉีดให้บุคคลระดับวีไอพีของแต่ละจังหวัดว่าไม่ได้สั่งอย่างนั้น เป็นเรื่องของคณะกรรมการประจำจังหวัดดำเนินการให้เป็นธรรม โดยต้องดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์ และในพื้นที่ท่องเที่ยว ช่วงแรกอาจมีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจาก จำนวนจำกัด รอระยะต่อไปแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง วันนี้ ครม.ได้อนุมัติงบฯจัดหาวัคซีนลอตที่ 2 คาดสามารถฉีดให้ครบ 60% ของคนทั้งประเทศที่ต้องฉีด ขอให้มีความเชื่อมั่นการจัดหาและฉีดวัคซีน จังหวัดต้องทำให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมให้มากที่สุด ยืนยันไม่มีนโยบายกักตุนไว้ให้ใคร แต่ต้องวางแผนแจกจ่ายฉีดตามกฎหมาย และตามจำนวนวัคซีนที่มีอยู่
ปลื้มบ่อน–แรงงานเถื่อนลดฮวบ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีแจ้งข้อมูลการทำผิดกฎหมาย ยอดที่แจ้งมารายวัน รายสัปดาห์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หมายความว่าข้อมูลที่ส่งเข้ามา และนายกฯได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ทั้งเรื่องบ่อนการพนัน แรงงานผิดกฎหมายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้สั่งการเน้นย้ำลงไปว่าทุกคนต้องปฏิบัติแก้ไขปัญหา และดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ใช้กระบวนการทางกฎหมายอย่างรัดกุม
...
อนุมัติ 6.3 พัน ล. ซื้อวัคซีนแอสตราฯ
บ่ายวันเดียวกัน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบฯ 6,387,285,900 บาท สำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม จำนวน 35 ล้านโดสจากบริษัท Astra Zeneca เพื่อให้ครอบคลุมเป้าหมายการฉีดให้ประชากรไทยอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2564 วงเงินรวมทั้งสิ้น 5,673.67 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าวัคซีน 5,302.50 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 371.17 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการวัคซีนเพื่อรองรับการฉีดวัคซีน 713.61 ล้านบาท ทั้งนี้ แผนการกระจายวัคซีนแบ่งเป็นระยะที่ 1 เดือน มี.ค.-พ.ค.จำนวน 2 ล้านโดส ใน 18 จังหวัด ระยะที่ 2 เดือน มิ.ย.- ธ.ค. 61 ล้านโดสในทุกจังหวัด รวมจำนวนวัคซีนที่ให้กลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 63 ล้านโดส
“กนกวรรณ” เผยฉีดแล้วไร้แพ้
ขณะที่นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ฉีดวัคซีนจากบริษัท ซิโนแวค รอบปฐมฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. จนถึงตอนนี้ไม่มีผลข้างเคียงอะไร สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีอาการแพ้หรือคันต่างกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เคยฉีดแล้วมีไข้เล็กน้อย แต่เจ้าหน้าที่จะติดตามอาการผ่านแอปพลิเคชัน 3 เวลา และมีใบนัดให้ไปฉีดเข็มที่ 2 ในวันที่ 22 มี.ค. ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวพร้อมจะฉีดวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาหรือไม่ โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่รู้
แจงหมอทหารฉีดวัคซีนพลการ
ที่กองบัญชาการกองทัพไทย แจ้งวัฒนะ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่เอกสารกองทัพในช่วงเดือน เม.ย.2563 ส่งถึงเลขาธิการแพทยสภาให้พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแพทย์กับทหารไปปฏิบัติหน้าที่ยังกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย/เซาท์ซูดาน ที่เรียกเก็บเงินค่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ช่วงการระบาดของโควิด-19 ว่าช่วงประมาณต้นปี 2563 แพทย์ทหารจากกองทัพบกที่เดินทางไปกับกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทยในเซาท์ซูดาน ฉีดวัคซีนให้กำลังพลโดยพลการ เก็บเงินกำลังพลประมาณ 20 ดอลลาร์ต่อคน รวมประมาณ 5 พันดอลลาร์ ถูกกำลังพลร้องเรียนผู้บังคับกองร้อยและผู้แทนสายงานแพทย์สหประชาชาติ สอบสวนพบว่าฉีดวัคซีนโดยพลการจริงจึงส่งตัวกลับไทย ต่อมาบุคคลดังกล่าวขาดราชการไม่มาทำงาน แต่กลับไปร้องเรียนหลายองค์กร เข้าใจว่ากองทัพบกได้ปลดออกจากราชการแล้ว และยื่นเรื่องให้แพทยสภาเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาเวชกรรม ส่วนกำลังพลที่ฉีดวัคซีนไม่มีอันตรายใดๆ
เผย “หมวดหมอ” หลอกลวงกองทัพ
พล.ท.เชาวลิตร สังฆฤทธิ์ โฆษก บก.ทท.กล่าวว่า นายแพทย์คนดังกล่าวเป็นนายทหารสัญญาบัตรยศร้อยโทตำแหน่งนายแพทย์โรงพยาบาลสนามระดับ 1 กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย/เซาท์ซูดาน กรณีนี้กองทัพไทยดำเนินการอย่างทันท่วงทีไม่มีการปกป้องผู้กระทำผิดแต่อย่างใด ผลการสอบสวนของ ทบ.สรุปกระทำผิดจริง มีพฤติกรรมหลอกลวงผู้บังคับบัญชาและกำลังพล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำผิดส่วนบุคคล เป็นเรื่องที่ผิดวินัยทหารและกฎหมาย รวมทั้งสร้างความเสื่อมเสียร้ายแรงต่อชื่อเสียงของกองทัพและประเทศชาติ
ขอเบิกวัคซีนของจริงบินไปฉีดให้
พล.ต.ณัฐพล แสงจันทร์ ผอ.ศูนย์การเพื่อพัฒนาสันติภาพ กล่าวว่า สถานการณ์ของโควิด-19 ในเซาท์ซูดานต่อกองร้อยทหารช่างผลัดที่ 2 จำนวน 272 นาย ยูเอ็นแจ้งว่า เซาท์ซูดานติดเชื้อประมาณ 7,900 กว่าราย เสียชีวิตสะสม 93 ราย ในหมื่นกว่าคนติดเชื้อเพียง 300 คน ถือว่าป้องกันเข้มแข็งดี ทั้งนี้ กำลังพลกองร้อยทหารช่างไทยสามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ให้ได้รับผลกระทบ ยืนยันว่าไม่มีกำลังพลผลัด 2 ติดเชื้อ ขณะนี้กองทัพไทยอยู่ระหว่างการประสานกับกรมควบคุมโรคเพื่อขอวัคซีนนำไปฉีดให้กับกำลังพลในเซาท์ซูดาน
ติดเชื้อใหม่ 42 ราย ตายยัง 84
ด้าน ศบค. เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 2 มี.ค.ผ่านเฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลโควิด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 42 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 35 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 4 ราย นอกจากนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 26,073 ราย หายป่วยสะสม 25,420 ราย อยู่ระหว่างรักษา 569 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 รายทำให้ยอดสะสมคงที่ 84 ราย
ตั้งคณะ กก.สอบวัคซีน VIP
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกระแสข่าวการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เชียงใหม่ มีการฉีดให้แขกวีไอพีที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ว่า วันที่ 1 มี.ค.วันแรกของการฉีดกำหนดไว้ที่ 373 คน แต่มีผู้ลงทะเบียนฉีดน้อยคงเพราะยังไม่มั่นใจ แต่เมื่อมีการประชาสัมพันธ์ ว่าการฉีดวัคซีนมีความปลอดภัย ทำให้มีคนมาฉีด 140 คนเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 73 คน เจ้าหน้าที่อื่นๆที่เกี่ยวข้อง 67 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน หรือมีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ไม่ใช่แขกวีไอพี แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ขณะนี้มีการกระจายวัคซีนไปให้จังหวัดเป้าหมาย 13 จังหวัดครบแล้ว รวม 116,520 โดส มีผู้รับวัคซีนแล้ว 3,021 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 2,781 คน เจ้าหน้าที่อื่นๆที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 133 คน ผู้มีโรคประจำตัว 21 คน ประชาชนพื้นที่เสี่ยง 86 คน ในจำนวนนี้มีอาการไม่พึงประสงค์ 5 คน โดยมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด 4 คน คลื่นไส้อาเจียน 1 คน เป็นเรื่องปกติที่พบได้
มีเอกสารรับรองหลังฉีด
วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กับคณะผู้บริหาร รับมอบชุดอุปกรณ์พร้อมระบบตรวจวัดอุณหภูมิและควบคุมห่วงโซ่ความเย็นเพื่อประกันคุณภาพการจัดเก็บเพื่อประกันคุณภาพวัคซีนโควิด-19 จากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) นายอนุทินได้แสดงตัวอย่างหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 และกล่าวว่า ในวันที่ 8 มี.ค. จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะมีวาระหารือถึงการออกเอกสารรับรองหลังรับวัคซีนโควิด-19 ที่ออกโดยกรมควบคุมโรคใช้แนบไปกับพาสปอร์ตเวลาเดินทาง สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าไทยพร้อมเปิดประเทศแล้ว
ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงแต่สนใจฉีดให้รอ
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริการจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กล่าวว่า วัคซีนซิโนแวค 2 แสนโดสแรกที่ได้รับ จะฉีดได้ 1 แสนคน และยังไม่มีกำหนดว่าลอตต่อไปจะเข้ามาวันไหน วัคซีนต้องฉีดเข็มแรกและเข็มสอง ตามที่กอย.อนุมัติห่างได้ประมาณ 14-28 วัน คณะกรรมการฯจึงกำหนดให้ห่างที่ 21 วัน ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทจึงฉีด 1 แสนคนโดยประมาณ กลางเดือน มี.ค. จะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาเข้ามาเสริมฉีดในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ขอย้ำช่วงนี้ ไม่มีการจองคิววัคซีน ขอให้ รพ.เป็นผู้กำหนดกลุ่มเป้าหมายใครจะได้รับก่อนหลังตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ส่วนประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงแต่สนใจฉีด ขอให้รออีกระยะ
แม่สอดฉีดธนิตพลเข็มแรก
ส่วนการฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมายในต่างจังหวัด วันเดียวกัน ที่ห้อง OPD ชั้น 6 อาคารกรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษา รมช.สาธารณสุข นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผวจ.ตาก นพ.วิทยา พลสีลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากและคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรมการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เข็มแรกของ จ.ตาก โดยนายธนิตพลประเดิมฉีดเป็นคนแรก นายธนิตพลกล่าวว่า จ.ตาก ถือเป็น 1 ในจังหวัดเป้าหมายหลักที่ประชาชนต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าว แม้มีการควบคุมโรคได้ทำให้ผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง แต่ยังวางใจไม่ได้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคจะทำให้ประชาชน ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ การเจ็บป่วยรุนแรง และการเสียชีวิตได้
ผอ.รพ.นครพิงค์ยันไม่มี VIP
ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ นพ.วรเชษฐ เต๋ชะรักษ์ ผอ.โรงพยาบาลนครพิงค์ ชี้แจงเรื่องดราม่าวัคซีนวีไอพีว่า วัคซีนลอตแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับ 1,750 คน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดสรรให้กับบุคลากรการแพทย์ทั้งหมด 1,450 คน กับกลุ่มบุคลากรด่านหน้าอื่นๆ ตัวแทนภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งหมด 300 คน แต่ละหน่วยงานจะคัดเลือกเจ้าหน้าที่เข้ารับการฉีดตามลำดับความสำคัญของแต่ละหน่วยงาน ไม่มีกลุ่มบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีความจำเป็นเข้ารับการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด ที่เกิดเป็นประเด็นอาจเพราะก่อนที่จะเริ่มฉีด มีการแถลงข่าวในงานมีทั้ง ผวจ. ตัวแทนหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรฉีดวัคซีนเข้าร่วม โดยทุกคนแต่งชุดข้าราชการ ประจำหน่วยงาน ขณะที่หลายหน่วยงานอาจส่งผู้บริหาร หรือผู้บังคับบัญชามาร่วมฉีด เพราะต้องการสร้างความเชื่อมั่น มั่นใจให้กับคน ในหน่วยงานของตัวเอง ยืนยันไม่มีบุคคลวีไอพีหรือบุคคลอื่นที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าฉีดวัคซีนอย่างแน่นอน
ผอ.รพ.แหลมฉบังฉีดคนแรก
ที่โรงพยาบาลแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายดงพล รุจิธรรมธัช นอภ.ศรีราชา เดินทางมาให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ นพ.ราเมศร์ อำไพพิศ ผอ.โรงพยาบาลแหลมฉบัง ที่จะเป็นผู้รับการฉีดวัคซีนคนแรกของ อ.ศรีราชา ต่อด้วยนายกมนต์ อินทรวิชัย สาธารณสุขอำเภอศรีราชา โดย อ.ศรีราชา ได้รับวัคซีน 700 โดส จาก จำนวน 4,700 โดส ของ จังหวัดชลบุรี
นอภ.บ้านโป่งมาให้กำลังใจหมอ
ที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง จ.ราชบุรี นพ.ธิติ แสวงธรรม ผอ.รพ.บ้านโป่ง เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นคนแรก ตามด้วย พญ.มนัญญา วรรณไพสิฐกุล รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ นายมงคล เกตุพันธ์ สาธารณสุขอำเภอบ้านโป่งและบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีนายยุทธพร พิรุณสาร นอภ.บ้านโป่ง มาร่วมเป็นกำลังใจ เช่นเดียวกับที่ จ.นนทบุรี นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 เดินทางมาฉีดวัดซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นคนแรกของจังหวัดนนทบุรี มี นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี นพ.มณเฑียน เพ็งสมบัติ ผอ.โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ร่วมการฉีดวัคซีนด้วยต่อมาเวลา 11.00 น. นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผวจ.นนทบุรี นายอภิชัย อร่ามศรี รอง ผวจ. พล.ต.ต.ไพศาล วงศ์วัชรมงคล ผบก.ภ.จ.นนทบุรี มาเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19
“คำรณวิทย์” จัดรถตรวจโควิด
ที่หมู่บ้านพฤกษา 13 หมู่ 3 ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ได้นำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน 2 คัน มาตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตำบลคลองสาม มีประชาชนเดินทางมาตรวจคัดกรองเป็นจำนวนมาก โดยมีนายนิติชัย วิริยานนท์ นอภ.คลองหลวง ผศ.ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายก อบต.คลองสาม นายสัญชาติ คุระนันท์ ส.อบจ.คลองหลวง ข้าราชการ และ อสม.นำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่คอยคัดกรองและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
ยันไม่มีเนื้อสัตว์ติดเชื้อโควิด
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์เผยว่า จากสถานการณ์โควิดที่โรงตัดแต่งเนื้อสุกรในพื้นที่ปทุมธานี และโรงงานได้ปิดทำการเพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค กรมขอย้ำความมั่นใจให้ประชาชนว่า เนื้อสุกรในช่วงนี้ยังบริโภคได้ปลอดภัย รวมทั้งเป็ด ไก่ ก็ไม่มีการติดโควิดแน่นอน แต่เพื่อความมั่นใจขอให้ประชาชนรับประทานเนื้อสัตว์ปรุงสุก จากการเก็บตัวอย่างสินค้าปศุสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์และสถานที่ตัดแต่งทั่วประเทศมาตรวจสอบกว่า 1,600 ตัวอย่าง พบว่ายังไม่มีสินค้าปศุสัตว์ชนิดใดมีเชื้อหรือปนเปื้อนโควิด นอกจากนี้ขอแนะนำให้ประชาชนเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ณ สถานที่จำหน่าย ที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรองมาตรฐาน