การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด–19 สร้างความเสียหายให้มวลมนุษยชาติทั่วโลก ในทุกด้านอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้
ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมล่าสุดทะลุ 25,000 กว่าราย และเสียชีวิตสะสมไปแล้ว 83 ราย ขณะที่ผลกระทบกลายเป็นไฟลามทุ่ง ลุกลามไปยังประชาชนทุกกลุ่มก้อน ไม่เว้นแม้กระทั่งแวดวงการศึกษา สถานศึกษาต้องปิดการเรียนการสอนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะ
และนั่น ทำให้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีโรงเรียนในกำกับดูแลจำนวนมากต้องคิดหารูปแบบในการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่และผู้เรียน โดยให้เหตุผลชัดเจนว่าเรื่องอื่นอาจจะหยุดได้ แต่เรื่องการศึกษานั้นหยุดไม่ได้
สำหรับรูปแบบในการจัดการเรียนการสอนในยุคนิวนอร์มอลจะมีทั้งการเรียนในห้องปกติ (Onsite) ในพื้นที่ที่ไม่มีการแพร่ระบาด ส่วนพื้นที่ที่มีการระบาดมีการผสมผสาน ทั้งรูปแบบออนไลน์ (Online) จัดการเรียนการสอนผ่านโทรทัศน์ทางไกล (On air) รวมทั้งให้ ครูออกเยี่ยมบ้านและกำหนดใบงานแก่นักเรียน (On hand) เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยแต่ละโรงเรียนเลือกใช้รูปแบบที่เหมาะสมจัดการเรียนการสอนตั้งแต่เชื้อโควิด-19 มีการแพร่ระบาดรอบแรกเดือน มี.ค.-ธ.ค.2563 รวมถึงระบาดระลอกใหม่ในเดือน ม.ค.2564 จนถึงปัจจุบัน
...
แน่นอนการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายรูปแบบของ ศธ.ในครั้งนี้ ย่อมเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในด้านบวกและด้านลบ โดย ด้านบวก ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นรูปแบบที่สามารถนำมาใช้เฉพาะหน้าได้ดีที่สุด ณ ขณะนี้ ส่วน ด้านลบ รูปแบบดังกล่าวไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องคุณภาพของนักเรียนได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารที่มีข้อจำกัดในเรื่องของอุปกรณ์ที่จะใช้ในการเข้าถึงการเรียนการสอน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ ที่ร้ายไปกว่านั้นบางพื้นที่ยังขาดแคลนไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้
สอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัยของ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่ได้ ศึกษาวิจัย “รูปแบบการจัดการเรียนสำหรับนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด–19” พบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ 4 เรื่องสำคัญ
1.ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนคือกลไกสำคัญที่ต้องรู้จักเลือกการใช้รูปแบบการเรียนอย่างสอดคล้องและยืดหยุ่นตามความรุนแรงของการระบาดของไวรัสโควิด–19 สามารถผสมผสานทุกรูปแบบการเรียนในห้องปกติ (Onsite) ในพื้นที่ที่ไม่มีการแพร่ระบาด การสอนออนไลน์ (Online) สอนผ่านโทรทัศน์ทางไกล (On air) รวมทั้งการไปเยี่ยมบ้านและกำหนดใบงานแก่นักเรียน (On hand) เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน
2.ครู–ผู้ปกครอง–นักเรียน ต้องร่วมกันปรับตัวเพื่อให้สามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่องในสถานการณ์ที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านและกลับมาเรียนตามปกติเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดลดความรุนแรงลง ขณะที่กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ครอบคลุมถึงการศึกษาทั้งระบบต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น และเร่งจัดเตรียมงบประมาณ และอุปกรณ์ให้แก่นักเรียนที่มีความเสี่ยงที่จะเสียโอกาสจากการเรียนทางไกล เพราะไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเตอร์เน็ตที่บ้านหรือไม่มีไฟฟ้าใช้ ควรใช้โอกาสนี้เก็บข้อมูลเพื่อวางแผนให้การสนับสนุน
3.ต้องสร้างการสื่อสารทำความเข้าใจให้ตรงกันถึงนโยบายและมาตรการสนับสนุนการเรียนรู้แก่บุตรหลานในสถานการณ์โควิด–19 เพื่อให้ผู้ปกครองรับทราบแนวทางที่ชัดเจนของรัฐบาลในการจัดการเรียนการสอนไม่ให้ขาดตอน เบื้องต้นอาจทำคู่มือการใช้สื่อการเรียนรู้ วิธีการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อเรียนออนไลน์ เป็นต้น
และ 4.ผู้บริหาร ครู รวมถึงผู้ปกครอง อยากให้รัฐบาลมีแผนรองรับการจัดการเรียนรู้วิถีใหม่ (New Normal Learning) โดยพร้อมประกาศใช้อย่างทันสถานการณ์ ซึ่งทุกฝ่ายมีความเข้าใจระดับหนึ่งถึงการจัดการ เรียนการสอนรูปแบบใหม่ ทั้งการสั่งงานผ่านโซเชียลมีเดียผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ผ่านการสอนออนไลน์ หรือให้ใบงานแก่นักเรียน ดังนั้นจำเป็นต้องพัฒนาแพลตฟอร์มที่เข้าถึงง่ายในทุกพื้นที่ และจัดให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม
เช่นเดียวกับข้อมูลจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ได้ประเมินผลกระทบการปิดโรงเรียนที่ยาวนานในจังหวัดสมุทรสาคร แม้เป็นข้อมูลเพียงจังหวัดเดียว แต่สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มเด็กนักเรียนยากจนด้อยโอกาสกำลังเผชิญวิกฤติทางการศึกษา 2 ด้าน คือ 1.ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในช่วงล็อกดาวน์เพราะขาดอุปกรณ์ส่งผลให้เกิดภาวะความรู้ถดถอย (learning loss) และ 2.มีแนวโน้มที่เด็กและเยาวชนยากจนด้อยโอกาสเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม
จึงจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องนำกลไกศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤติทางการศึกษา หรือ smart refer เข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือเด็กยากจน ด้อยโอกาสที่ประสบกับภาวะวิกฤติทางการศึกษา 2 ระยะ คือ 1.ระยะวิกฤติ ประคับประคองเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และ 2.ระยะฟื้นฟูจัดทำโปรแกรมช่วยเหลือดูแลรายคนให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะวิถีปกติทางการศึกษา หรือได้รับการศึกษาตามสภาพปัญหาของแต่ละคน
ขณะที่ข้อมูลของ กรมอนามัย ประเมินสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ พบประเด็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งน่าสนใจ คือ การปิดภาคเรียนทำให้พัฒนาการเด็กล่าช้า เด็กอนุบาลเรียนออนไลน์ไม่ได้ เด็กในเมืองสั่งอาหารฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น ร้อยละ 60 เด็กชนบทไม่ได้รับอาหารกลางวัน เด็กกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มไม่ได้เรียนต่อ ครอบครัวไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์ ครูเครียดค่าใช้จ่ายเพิ่มกับการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป
จากข้อมูลเชิงลึกของหน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายภาคประชาสังคมหลายภาคส่วนซึ่งสะท้อนสภาพปัญหาในการจัดการเรียนการสอนในครั้งนี้ “ทีมการศึกษา” มองว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่ ศธ. โดยเฉพาะ สพฐ.มิอาจมองข้าม
ทั้งต้องเร่งรัดถอดบทเรียน และเตรียมพร้อมการจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพให้กับนักเรียนทุกคน
เพราะสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นในขณะนี้คงไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้ายที่จะก่อปัญหาให้ระบบการศึกษาชาติต้องหยุดชะงักเช่นนี้แน่
ถึงเวลาเปลี่ยนจากการตั้งรับเป็นเดินเครื่องรุกทลายความเหลื่อมล้ำ เพื่อปั้นเยาวชนของชาติให้มีคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียมแท้จริงเสียที...!!!
ทีมการศึกษา