คล้อยหลังวันพระใหญ่ “มาฆบูชา” ข่าวดีจากแนวรบไวรัสโควิด-19 ก็ยังไหลบ่าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่อง “วัคซีน” อาวุธสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อมรณะ
อย่างบ้านเราก็ได้รับมาแล้ว “โคโรนาแวค” บริษัทซิโนแวค ประเทศจีน และ “เอแซดดี 1222” บริษัทแอสตราเซเนกา พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ที่กำลังจะเข้ามาเพิ่มอีกในเดือน มี.ค. และ เม.ย. ซึ่งหลังจากทยอยฉีดให้บุคลากรการแพทย์ไปเรื่อยๆแล้ว คงอีกไม่นานเกินรอสำหรับพี่น้องประชาชนทั่วไป
และสถานการณ์ก็จะดีขึ้นไปตามลำดับ เพราะถ้าลองคิดง่ายๆ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่ได้รับวัคซีน ก็จะลดโอกาสในการล้มป่วย ไม่กลายเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่น แล้วทีนี้พอเริ่มฉีดให้ประชาชน คนก็จะมีภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้น แล้วทีนี้โควิดก็คงกลายเป็นโรคท้องถิ่นไปโดยปริยาย
อาจพลั้งเผลอไปติดเชื้อกันได้ แต่ก็จะมั่นใจว่าจะไม่มีอาการหนัก หามส่งโรงพยาบาล หรือปอดถูกทำลาย ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตในภายภาคหลัง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือทฤษฎีที่มีการพูดกันมาตั้งแต่เริ่มต้นแพร่ระบาด “การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่” (Herd Immunity) แต่หลายประเทศตีความกันอย่างผิดๆ ปล่อยไหลให้คนติดเชื้อกันมากๆ ออกแนวธรรมชาติคัดสรร คนที่ติดแล้วไม่ตาย ก็จะไม่ติดอีก
ปรากฏไวรัสไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เคยติดแล้วก็ติดใหม่ได้ แถมหนำซ้ำเชื้อพัฒนากลายพันธุ์ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่ามาจากการที่ ผู้ป่วยบางรายใช้เวลารักษาตัวนานหลายเดือน และเมื่อเชื้อเจอกับยารักษาขนานต่างๆที่เข้าไปในร่างกายมากเข้าๆ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรืออีกกรณีคือ ล้มป่วยนาน เชื้อมีโอกาสขยายตัวไปเรื่อยๆ ซึ่งพอถึงจุดหนึ่งคิวซีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์เริ่มเปลี่ยน เชื้อใหม่ที่ขยายตัวออกมาต่างไปจากเบ้าหล่อเดิม
...
สุดท้ายก็กลายพันธุ์กันเต็มไปหมด เหมือนอย่างที่พบในอังกฤษรหัส B.1.1.7 แอฟริกาใต้ B.1.351 ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐฯ B.1.526 หรือตัวที่ยังไม่มั่นใจที่มาที่ไปอย่าง B.1.525 ในยุโรป
รูปการณ์ทั้งหมดทั้งปวง น่าจะเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงนับถอยหลัง รอวันที่โควิดจะพ่ายแพ้ต่อความสามารถทางวิทยาศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ แต่แน่นอนว่ากว่าจะถึงวันนั้น ความปลอดภัย มาตรการป้องกัน ยังต้องคงไว้ไม่ควรปล่อยปละละเลย เหมือนอย่างที่หมอแอนโทนี เฟาซี ประจำทำเนียบขาวสหรัฐฯ ประเมินไว้ว่า ชาวอเมริกันอาจต้องสวมหน้ากากอนามัยกันต่อไปจนถึงปี 2565
เรื่องที่น่าสนใจคือ เราจะรักษาแนวรบกันต่อไปได้หรือไม่ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดประเด็นหารือกันว่า ในเมื่อคนได้รับวัคซีนมากขึ้น มีเกราะป้องกันในระดับหนึ่งแล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะฟื้นฟูการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของนานาประเทศในยุคปัจจุบันให้กลับคืนมา ด้วยการนำเสนอ แผนการมอบ “บัตรวัคซีน” หรือ “วัคซีนพาสปอร์ต” แก่ผู้ที่ได้รับการฉีดจนครบโดส เพื่อที่คนเหล่านั้นจะได้ไปไหนมาไหนอย่างอิสระ กระตุ้นการหมุนเวียนของเงินตรา
มีรายงานกระแสข่าวจากยุโรปว่า รัฐบาลสหภาพยุโรป อังกฤษ สมาคมการบินระหว่างประเทศ ไปจนถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพราะได้มีคำถามมากมายตามมา (ในยุคที่คนเซนซิทีฟเป็นพิเศษ) อย่างประการแรกเรื่องของ “สิทธิ” ในการไม่ยอมฉีดวัคซีน ซึ่งย่อมหมายความว่าคนเหล่านี้หมดสิทธิเดินทางใช่หรือไม่? ตามด้วย “คิว” การฉีดวัคซีน ใครได้ก่อนเดินทางก่อน ใครได้หลังตามไปทีหลัง ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือ?
เช่นเดียวกับ ปมสงสัยที่ยังไม่มีใคร หรือแม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกออกมารับรองว่า คนที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ยังสามารถนำเชื้อไปติดให้ผู้อื่นได้เหมือนเดิมหรือไม่? และผู้ที่เคยติดเชื้อและรอดพ้นจากโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกันในร่างกายนานเพียงใด และคนกลุ่มหลังนี้ต้องมีพาสปอร์ตวัคซีนด้วยหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามาตรการนี้จะได้รับการสนับสนุนในที่สุด แต่อาจต้องใช้เวลา (อาจจะเป็นช่วงหลังเดือน มิ.ย.) เพราะต้องอย่าลืมว่า ในช่วงเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา คนทั่วโลกได้รับความบอบช้ำอย่างหนัก จากการขาดรายได้ ธุรกิจหลายประเภทที่แต่ก่อนคิดว่าคงกระพัน ก็พากันร่วงระนาว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
ยากที่เรื่องสิทธิจะมาเป็นใหญ่กว่าเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ ซึ่งล่าสุดทางรอยเตอร์รายงานว่า เริ่มมีสัญญาณมาแล้วจากสหภาพยุโรปว่า มาตรการดังกล่าวต้องเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย ส่วนจุดยืนส่วนตัวอย่างเรื่องฉีดไม่ฉีดวัคซีนดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องที่มีความ “พิเศษ” อะไรขนาดนั้น พร้อมยกตัวอย่างข้อตกลงเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างอิสราเอลกับกรีซ ที่บังคับยื่นหลักฐานการฉีดวัคซีน
ในฐานะผู้ร่วมชะตากรรมโควิด-19 มาด้วยกัน ขอไว้อย่างเดียวว่า อย่าเพิ่งการ์ดตกกัน รักษาความสะอาด สวมหน้ากาก ล้างมือกันให้ดี จุดหมายอยู่อีกไม่ไกลเกินรอครับผม.
วีรพจน์ อินทรพันธ์