น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก เปิดเผยในการเสวนาเรื่อง “การระบาดสารเสพติดและตลาดการค้า” จัดโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับ สสส. ว่า การปรับแก้ พ.ร.บ.ยาเสพติดโดยอนุญาตให้ใช้กัญชา และพืชกระท่อม สามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ รวมถึงประกาศสาธารณสุข ที่ปลดล็อกส่วนของกัญชาและกัญชงให้นำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติดยกเว้นส่วนช่อดอกและเมล็ดกัญชานั้น แม้ผลด้านบวกจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรค แต่ด้านลบยังจำเป็นต้องเฝ้าระวัง โทษที่ยังมีอยู่ของสาร โดยเฉพาะช่อดอกและเมล็ดกัญชา และอาจมีการนำไปเสพเพื่อความรื่นเริงมากขึ้น เนื่องจากมองเห็นแต่ประโยชน์

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการ ศศก. กล่าวว่า สถานการณ์ยาเสพติด จะเห็นว่ามีสารแบบแปลกๆ ที่เกิดอันตรายในหมู่เยาวชนและเป็นข่าวใหญ่โต อาทิ ยาเคนมผง เป็นต้น และจากการสำรวจสถานการณ์ด้านยาเสพติดในประเทศไทย ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา สารเสพติดที่พบมาก คือ กัญชา กระท่อม ยาบ้า และไอซ์ ร้อยละ 4.6 ส่วนการใช้สารเสพติดแบบถูกกฎหมาย พบว่าร้อยละ 30 เป็นแอลกอฮอล์ ส่วนยาสูบพบมากกว่าร้อยละ20 เป็นผู้สูบในปัจจุบัน ถ้าเป็นกัญชาที่ไม่ใช้ทางการแพทย์หรือใช้เพื่อสันทนาการ พบมากกว่าร้อยละ 2 และพบยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เป็นกระท่อมมากกว่าร้อยละ 2 ยาบ้าและไอซ์ ร้อยละ 0.4

รศ.พญ.รัศมนกล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงคือ หลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ยาเสพติด อาจถูกกลับมาใช้มากขึ้น และที่สำคัญยังพบว่าสารเสพติดที่ตรวจพบถูกดัดแปลงสูตร เพื่อลดต้นทุน ทำให้ความบริสุทธิ์ของสารไม่เหมือนเดิม โอกาสที่จะกระทบต่อร่างกายสูงขึ้น

...

“เมื่อเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผู้ค้าลดต้นทุนด้วยการเอาสารอื่นมาผสมทำให้ขายได้ในราคาถูกลง แต่คนใช้ไม่รู้ เกิดความไม่ปลอดภัย รวมถึงการขนส่งที่ผ่านมาทำได้ยากของจึงล้นสต๊อก เมื่อเริ่มเอาออกมาขาย ทำให้ราคาถูกลงคนเข้าถึงได้ง่ายกว่าปกติ อาจทำให้มีการใช้สารเสพติดมากขึ้น จึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้” รศ.พญ.รัศมน กล่าวและว่า การใช้สารเสพติดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ต้องมองผลที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ทั้งทางกฎหมายและผลกระทบทางสังคม เพราะหากเสพติดแล้วหยุดไม่ได้จะเกิดปัญหา.