เมื่อวานนี้ผมหยิบผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจในช่วงตรุษจีนปีนี้ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยมากราบเรียนท่านผู้อ่านไปแล้วว่า...ตรุษจีนปีวัวซึ่งมาถึง “วันไหว้” แล้ววันนี้จะซบเซาอย่างแน่นอน
เหตุเพราะผลสำรวจในเขต กทม. พบว่าการใช้จ่ายของผู้คนในเมืองหลวงจะอยู่ที่ประมาณ 11,700 ล้านบาทเท่านั้น หดตัวลงถึง 10.4 เปอร์เซ็นต์
วันนี้ขออนุญาตเขียนต่ออีกวันนะครับ ในประเด็นเดียวกันนี้ เพราะเพิ่งได้อ่านผลสำรวจของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งสำรวจกว้างขวางกว่า ครอบคลุมไปทั่วประเทศ ที่ผมเห็นว่าควรจะได้นำมาบันทึกไว้ด้วย เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
จะได้ฟันธงกันให้จะจะไปว่าเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลตรุษจีนของปีนี้ 2564 ของประเทศไทยทั่วประเทศเป็นเช่นไร
ผลปรากฏว่าตัวเลขของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยออกมาค่อนข้างหนักหน่วงกว่าของกสิกรไทยเสียด้วยซํ้า
เริ่มจากภาพรวมทั้งประเทศคาดว่าค่าใช้จ่ายทุกประเภทรวมกันของปีนี้ (2564) จะอยู่ที่ 44,939 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 2563 ซึ่งอยู่ที่ 57,639 ล้านบาท ถึง 21.85 เปอร์เซ็นต์
ถือเป็นอัตราลดลงที่ตํ่าสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจภาวะเศรษฐกิจตรุษจีนมาตั้งแต่ปี 2552
ท่านอาจารย์ เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อดีตอธิการบดีฯ ซึ่งมาร่วมแถลงข่าวด้วยถึงกับอุทานว่า “ปี 2563 ลดจาก 2562 ไป 1.3 เปอร์เซ็นต์ ก็ว่าน่าตกใจแล้ว พอมาเจอปีนี้ติดลบถึง 21.85 เปอร์เซ็นต์ หายไป 12,000 กว่าล้านบาท ยิ่งน่าตกใจมากขึ้นไปอีกหลายๆเท่า”
เมื่อมองเป็นรายภาคพบว่า ภาคใต้ ติดลบมากสุดถึง 25.80 เปอร์เซ็นต์ กทม.และปริมณฑล อันดับสองติดลบ 24.50 เปอร์เซ็นต์ ภาคกลางอันดับสาม ติดลบ 21.40 เปอร์เซ็นต์ ภาคเหนืออันดับสี่ ติดลบ 17.21 เปอร์เซ็นต์ และภาคอีสานลบน้อยสุดแต่ก็ยังสูงถึง 15.55 เปอร์เซ็นต์
...
มองเฉพาะ กทม.และปริมณฑล เมื่อวานนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าลดไป 10.4 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าเยอะแล้ว...ปรากฏว่าของหอการค้าไทยกลับเยอะกว่าคือลงไปถึง 24.50 เปอร์เซ็นต์ โน่นเลย
สำหรับสาเหตุของการลดค่าใช้จ่ายแบบฮวบฮาบ อาจารย์เสาวนีย์สรุปว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ประชาชนลดลงอันเป็นผลมาจากโควิด-19 ซึ่งก็เป็นเหตุผลเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยนั่นเอง
เป็นอันว่าชัดเจนนะครับจากผลการสำรวจของทั้ง 2 สำนักวิจัยที่มีชื่อเสียงและเชื่อถือได้...ว่าตรุษจีนปี “วัวทอง” คงจะเป็น “วัวตะกั่ว” คือหนักหน่วงและหงอยเหงาอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
เฉพาะเม็ดเงินที่ขาดหายไปทั้งประเทศถึงกว่า 12,000 ล้านบาทนั้น ถือว่าเยอะพอสมควร และน่าจะมีผลกระทบต่อจีดีพีมิใช่น้อย
นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่รัฐบาลไม่สามารถใช้เทศกาลตรุษจีนมาเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างปีก่อนๆ
เมื่อวานนี้เช่นกัน คุณ ยุทธศักดิ์ สุภสร ท่านผู้ว่าการ ททท. ท่านก็แถลงไว้ว่าการท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนจะหดตัวลงอย่างมากแม้นักท่องเที่ยวไทยเองก็ลดอย่างน่าใจหาย ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศถือได้ว่าเป็นศูนย์...ฟังท่านแล้วก็ใจฝ่อลงไปอีกหลายเท่า
อย่างที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า รัฐบาลไทยท่านอุตส่าห์มีมติให้วันพรุ่งนี้ (11 ก.พ.) ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่จีน เป็น “วันหยุดพิเศษ” โดยหวังจะให้เป็นวันหยุดยาว 3 วันติดต่อกัน ประชาชน โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนจะได้ออกเที่ยว ออกใช้จ่ายกันได้อย่างเต็มที่
ถ้าหากไม่มีการระบาดรอบ 2 ละก็...สถานการณ์จะดีกว่านี้แน่นอน ผู้คนจะออกเที่ยวในวันหยุดพิเศษมากขึ้นอย่างแน่นอน
นึกแล้วก็ยังโกรธกลุ่มคนที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน ลักลอบนำแรงงานเมียนมาซึ่งประเทศเขากำลังระบาดอย่างหนักเข้ามาประเทศเรา โดยไม่ผ่านการกักตัว 14 วัน จนบ้านเราพลอยระบาดหนักไปด้วย
ก็ได้แต่บ่นไประบายไป บ่นเสร็จก็หาทางแก้ปัญหากันต่อไป
ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันคนละมือคนละไม้ เพื่อให้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นเรื่อยๆนะครับ
อย่าให้ยืดเยื้อยาวนานต่อไปอีกก็แล้วกัน
โดยเฉพาะอย่าให้ยืดไปถึง “เมษายน” เชียวนะครับ...เราพลาดเป้าเทศกาล “ตรุษจีน” ไปแล้ว ถ้าพลาดเพราะคนไม่เที่ยวและไม่ใช้จ่ายช่วง “สงกรานต์” อีกละก็...เมื่อไรจะฟื้นตัวได้ละครับเศรษฐกิจประเทศไทย?
“ซูม”