วิกฤติระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้พ่นพิษหนักหน่วงยืดเยื้อมากยิ่งนัก “คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกตายลงดั่งใบไม้ร่วงโดยไร้เหตุผล” และส่งผลกระทบ “ทำลายเศรษฐกิจ” พังย่อยยับอย่างไม่เคยปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์มาก่อนด้วยซ้ำ
ไม่เว้นแม้แต่ “ประเทศไทย” ต้องเผชิญกับ “การระบาดระลอกใหม่” ที่เป็นการซ้ำเติม “ภาคเศรษฐกิจ” หนักหนาสาหัสกว่าเดิม สังเกตจากใน 1 เดือนนี้ “ธุรกิจหลายประเภท” ตั้งแต่โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า และสถานที่บริการอื่น ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย จำใจในการปิดกิจการชั่วคราวกันอย่างต่อเนื่อง
ตอกย้ำ...“มนุษย์เงินเดือน” ที่มักเป็นผู้มี “ฐานะระดับล่างทางสังคม” ต้องเจอผลกระทบนี้ถูก “เลิกจ้างตกเป็นผู้ว่างงาน” ทำให้อยู่ใน “ภาวะไม่มีจะกินมีหนี้สินเพิ่มพูน” กลายเป็นปัญหา “รุมเร้า” จนเกิดความเครียดสะสมต้องดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยการ “ตัดสินใจก่อคดีประสงค์ต่อทรัพย์” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
...
ด้วยเหตุนี้ในช่วง “โควิด-19 ระบาด” มักมี “คนร้ายก่อเหตุคดีเกี่ยวกับทรัพย์” กันขึ้นแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการลักทรัพย์ จี้ชิงทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ รวมถึงคดีในการประทุษร้ายเพื่อหวังต่อทรัพย์ ที่มีทั้งเป็นข่าวตามหน้าสื่อมวลชน และไม่เป็นข่าวมากมาย ถ้านับกรณีคนร้ายก่อคดีเกี่ยวกับทรัพย์เฉพาะเดือน ม.ค.2564 ไปแล้ว เช่น...
ในวันที่ 19 ม.ค. คนร้ายใช้อาวุธปืนจี้ร้านทองเยาวราชกรุงเทพ ในห้างดัง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ได้ทองคำ 73 บาท วันที่ 21 ม.ค. คนร้ายใช้มีดจี้ร้านสะดวกซื้อ ถ.ลาดพร้าว 101 ได้เงินสด 1,800 บาท วันที่ 24 ม.ค. คนร้ายใช้ปืนชิงเงิน ธ.กรุงไทย ห้างดังย่านบางกะปิได้เงินสด 6 แสนบาท
วันที่ 25 ม.ค. มี 2 คนร้ายใช้อาวุธปืนจี้ร้านทอง อ.เมืองเชียงราย ได้ทอง 54 บาท มูลค่า 1 ล้านบาท วันที่ 28 ม.ค. คนร้ายใช้มีดจี้ร้านสะดวกซื้อ บริเวณทางเข้าท่าเรือน้ำลึก จ.ภูเก็ต ได้เงินสด 2,270 บาท
สะท้อนให้เห็น “เศรษฐกิจตกต่ำ” มักนำสู่การก่อเหตุคดีเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นนี้ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต บอกว่า ตามหลักวิชาการ “ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ” มักมีปัจจัยส่งผลต่อ “การเกิดอาชญากรรม” มีแนวโน้มสูงขึ้น
โดยเฉพาะ “คดีเกี่ยวกับทรัพย์” มีตั้งแต่ “ลัก วิ่ง ชิง ปล้น” ในทางกลับกัน “ยุคเศรษฐกิจดีเฟื่องฟู” ก็ไม่ได้หมายความว่า “อาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์จะไม่เกิดขึ้น” เพียงแต่รูปแบบพฤติกรรมการก่อเหตุอาจเปลี่ยนแปลงไป “ลักษณะเน้นการฉ้อโกง หรือหลอกลวงหวังผลเม็ดเงินก้อนใหญ่” เป็นหลักเท่านั้น
ดังนั้นแม้ว่า “สถานการณ์เศรษฐกิจจะดี หรือไม่ดีก็ตาม” ย่อมมีอาชญากรรมเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น แต่ว่า “สภาวะโรคระบาด” มักเกิดปัจจัยใน “ภาวะคนไม่มีจะกิน” กลายเป็นแรงผลักดันให้ “บางคน” ต้องกระทำความผิด “คดีเกี่ยวกับทรัพย์” เพิ่มสูงมากกว่าปกติ 2-3 เท่าตัว
ประเด็นนี้ยังสอดคล้องกับปัจจัย “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ตามข้อมูลของธนาคารโลก พบว่า ในช่วง 5-10 ปีมานี้ “ประเทศไทย” มีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะ “อัตราความยากจน” เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4.85 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 7.21 เพิ่มขึ้นเป็น 6.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 9.85
แยกเป็น “ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มีประชากรยากจนเพิ่มขึ้น 5 แสนคน ในช่วงปี 2561 กระจายตัวจาก 61 จังหวัด เป็น 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดมีอัตราความยากจนสูงสุด คือ จ.แม่ฮ่องสอน ปัตตานี กาฬสินธุ์ นราธิวาส และตาก เป็นต้น
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดต้องมาเจอ “โควิด-19 ระบาด” ทำให้ต้องมีมาตรการ “ล็อกดาวน์ประเทศ” ส่งผลให้ “ชาวต่างชาติ” เดินทางเข้าประเทศไทยไม่ได้ “ธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว” ต้องปิดตัว “พนักงานหลายคนตกงาน” ไม่มีกำลังเงินใช้จ่ายในครัวเรือน ทั้งค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าเช่าบ้าน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ทว่าการช่วยเหลือจาก “ภาครัฐ” กลับมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ส่งผลให้ผู้เดือดร้อนจากผลกระทบโรคระบาดนี้ได้ไม่ทั่วถึงกัน และยิ่งตอกย้ำให้ “เกิดความเหลื่อมล้ำ” หนักกว่าเดิมหลายเท่า ทำให้บางคนต้องตัดสินใจลงมือก่อเหตุเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ที่มีลักษณะระดับการก่อเหตุร้ายแรงขึ้น
เพราะ “คนร้าย” สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลผิดกฎหมายเสรีอย่าง “ดาร์กเว็บ” (Dark Web) ที่เป็นเว็บไซต์ไม่เหมาะสม มีการขายสิ่งผิดกฎหมายมากมาย ถูกสร้างขึ้นสำหรับ “เว็บใต้ดินโดยเฉพาะ” ดังนั้นการก่อเหตุแต่ละครั้งมัก “ใช้อาวุธปืน” และมีโอกาสเกิดความรุนแรง ในการทำร้ายเจ้าทรัพย์ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตสูงขึ้นด้วย
ส่วนใหญ่ก็มุ่งเป้า “ก่อเหตุร้านทอง ธนาคาร หรือร้านเพชร” ตามหลัก “คนร้าย” จะทราบดีอยู่แล้วเมื่อก่อเหตุขึ้น มีโอกาสได้ทรัพย์สินก้อนโต และมีความปลอดภัยสูง เพราะ “สถานบริการนี้” มีระบบประกันภัยความเสียหาย ทำให้เจ้าหน้าที่มักปล่อยให้ “ผู้ก่อเหตุ” นำทรัพย์สินไปโดยง่ายปราศจากการขัดขืนต่อสู้กันขึ้น
ทำให้โอกาสเกิดการปะทะกันค่อนข้างน้อย ยกเว้นเจอ “ตำรวจ” อาจเกิดการต่อสู้กันขึ้นก็ได้
สิ่งสำคัญ...“คนร้ายมืออาชีพจะมีเวลาวางแผน” ตั้งแต่การสำรวจหา “สถานที่ก่อเหตุที่มีความปลอดภัยหละหลวม” มีการตรวจสอบดูลาดเลาในช่วงเวลาตำรวจตรวจตู้แดง เวลาคนพลุกพล่านน้อย และสำรวจเส้นทางหลบหนี นำมาวิเคราะห์ก่อนลงมือก่อเหตุไม่ต่ำกว่า 15 วัน ทำให้ประสบความสำเร็จตามแผนที่วางไว้อยู่เสมอ
ถ้ามองมุมตรงข้ามกรณี...“คนร้าย” เลือกก่อเหตุ “วิ่งราวทรัพย์ หรือชิงทรัพย์” ตามที่ชุมนุมย่อมมักมีความเสี่ยงที่ “เจ้าทรัพย์” ขัดขืนต่อสู้ได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีโอกาสได้ทรัพย์สินเป็นของปลอมด้วยซ้ำ ทำให้ไม่คุ้มค่าก่อเหตุนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่า “คดีลักทรัพย์จะไม่เกิดขึ้นเลย” แต่ด้วยเหตุอาจ
ไม่ใช่ “คดีร้ายแรง” จึงไม่ตกเป็นข่าวเท่านั้น
ประการต่อมา “ยุคโรคระบาดโควิด-19” ยังปรากฏเหตุ “อาชญากรหน้าใหม่” ด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ ในการหลอกลวงผ่านแอปพลิเคชันสารพัดรูปแบบ เช่น หลอกโอนเงินผ่านแอปเฟซบุ๊ก การฉ้อโกงหลอกขายของออนไลน์ที่ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง หรือไม่ได้รับสินค้าก็มี สร้างความเสียหายมากมายเช่นกัน
ข้อมูล “ตำรวจสากล และ UNODC” ระบุว่า “อาชญากรรมทางไซเบอร์” มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่า ด้วยเหตุ “โควิด-19” ประชาชนต่างพำนักอยู่ที่บ้าน งดการเดินทางออกสังสรรค์ ทำให้หันมาใช้อินเตอร์เน็ตสูงสุด เปิดโอกาสให้แฮกเกอร์นำข้อมูลไปแสวงหาผลประโยชน์ และมีการปลอมอีเมลเข้าไปหลอกลวงนี้
อีกทั้งยังมีการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) และทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันเพิ่มมากขึ้น ที่เป็นการเปิดช่องความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตง่ายตามมา
โดยเฉพาะ “ธุรกิจพนันออนไลน์ขยายตัวสูงขึ้นมาก” และสามารถเข้าถึงเว็บไซต์พนันออนไลน์ได้ง่าย ทำให้มีเงินหมุนเวียนหลายร้อยล้านบาท เพราะ “คนมีความเครียด” ที่เกิดจากปัจจัย “ปัญหาตกงานต้องการใช้เงิน” กลายเป็นแรงผลักดันส่งผลให้มีความต้องการเสี่ยงโชคมากยิ่งขึ้นตามมานี้
ไม่เท่านั้น “การระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19” ยังส่งผลกระทบต่อ “ความเครียดสะสม” โดยเฉพาะคนตกงาน ขาดรายได้ ที่อาจไม่สามารถหาทางออกได้ก็ส่งผลให้ “คิดสั้นฆ่าตัวตาย” เพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ
ฝากย้ำว่า...“รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ต้องจัดทีมให้คำปรึกษาทางด้านจิตวิทยา จิตแพทย์บุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้านนี้ในการทำงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ชุมชนมากกว่านี้ เพื่อป้องกันการตัดสินใจหลงผิดคิดก่อเหตุ “กระทำสิ่งผิดกฎหมาย” หรืออาจนำสู่ “การฆ่าตัวตาย” เพิ่มสูงขึ้น
และ “นโยบายของรัฐ” ในการช่วยเหลือเยียวยาต้องมี “ความโปร่งใส” มีความตั้งใจต่อการดูแลปากท้องของประชาชนในระดับชุมชนจริงๆ เน้นอบรมความรู้ให้ “เกิดการจ้างงาน” โดยเฉพาะ “การแจกจ่ายฉีดวัคซีนให้คนไทย” ต้องกระจายอย่างทั่วถึงทุกกลุ่มผู้มีความเสี่ยง เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามมาอีก
ทั้งหมดนี้ “เตือนภัยกันไว้” ในสถานการณ์เช่นนี้ “ทุกคน” มีโอกาสตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเสมอ และคงต้องฝาก “ฝ่ายความมั่นคง” ทำหน้าที่ดูแลสังคมให้สงบปลอดภัยจากอาชญากรอย่างเฉียบขาด.