ไม่รู้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ไทยจะมีโอกาสได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด–19 เข็มแรก หรือไม่ เพราะ วัคซีนป้องกันโควิด–19 กำลังเป็นที่ต้องการของทุกประเทศทั่วโลกถึงขนาดต้องแย่งชิงกันเลยทีเดียว วัคซีนเป็นความหวังเดียวของโลกที่จะสู้กับโควิด–19 เพื่อช่วงชิงชีวิตปกติกลับคืนมา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายยับเยินจากการระบาดของไวรัสโควิด–19 ในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ยังไม่หยุดการระบาด ตัวเลขล่าสุดตอนปิดต้นฉบับ ผู้ติดเชื้อทั่วโลกสะสมกว่า 103 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 2.2 ล้านคน สหรัฐฯมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 26.6 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 450,000 คน มากมายอย่างคาดคิดไม่ถึง

เดิมไทยจะได้ วัคซีนแอสตราเซเนกาลอตแรก 50,000 โดส เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง แต่วันนี้ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีสาธารณสุข บอกว่า ไม่แน่เสียแล้ว กำลังหารือกับผู้ผลิตในต่างประเทศ หวังว่าจะได้วัคซีนในเดือนกุมภาพันธ์ตามแผน

ศึกแย่งชิงวัคซีนโควิด–19 เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายเดือนมกราคม เมื่อ แอสตราเซเนกา ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของอังกฤษ แจ้งไปยังสหภาพยุโรปว่า วัคซีน 80 ล้านโดสที่มีการตกลงกันไว้ จะส่ง ให้สหภาพยุโรปลอตแรกในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ อาจต้องลดจำนวนลงเหลือ 31 ล้านโดส และจำนวนที่จะส่งในเดือนเมษายนถึงมิถุนายนก็ยังไม่แน่นอน เนื่องจากมีปัญหาการผลิตในโรงงานเบลเยียมที่เป็นคู่สัญญา เพราะการผลิตวัคซีนต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีความแม่นยำสูง

เรื่องนี้ทำให้ สหภาพยุโรป ไม่พอใจอย่างยิ่ง นางเออร์ซูลา วอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ทวีตข้อความแจ้งว่า “ดิฉันคาดว่าบริษัท (แอสตราเซเนกา) จะส่งมอบวัคซีน 400 ล้านโดสตามที่ตกลงกันไว้” มีรายงานข่าวว่า อียูจะใช้มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนโควิด–19 ที่ผลิตในอียูทั้งหมด หากบริษัทผลิตวัคซีนไม่ปฏิบัติตามสัญญาส่งมอบ “การปกป้องความปลอดภัยของพลเมืองเรา เป็นสิ่ง สำคัญอันดับแรก ปัญหาที่เราเผชิญในขณะนี้ ทำให้เราไม่มีทางเลือก นอกจากต้องควบคุมการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในสหภาพยุโรป” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ 100 ประเทศทั่วโลกที่สั่งซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนการวมทั้งไทย

...

วันนี้ สหภาพยุโรป กำลังตกอยู่ในสภาพตึงเครียดกับ ปัญหาการขาดแคลนวัคซีน เนื่องจาก วัคซีนไฟเซอร์ของสหรัฐฯ ที่พัฒนาร่วมกับ บริษัท ไบโอเอ็นเทคของเยอรมนี ก็ได้แจ้งกับอียูว่า จะลดการส่งวัคซีนให้อียูในช่วงนี้เช่นเดียวกัน ขณะที่โควิด-19 ยังระบาดในยุโรปอย่างหนัก ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อในยุโรปกว่า 33 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 7 แสนคน

วัคซีนแอสตราเซเนกา มีโรงงานผลิตใน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม รวม 6 โรงงาน นายปาสคาล โซเวียต ซีอีโอแอสตราเซเนกา เปิดเผยว่า อียูเจรจาซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนกาล่าช้าและกระชั้นชิดเกินไป อังกฤษ สั่งจองลอตแรก 100 ล้านโดส ราคา 84 ล้านปอนด์ เดือนพฤษภาคม ปี 63 สหรัฐฯ สั่งจองลอตแรก 300 ล้านโดส ราคา 1,200 ล้านดอลลาร์ เดือนพฤษภาคม 63 เช่นเดียวกัน แต่อียูมาสั่งซื้อในเดือนสิงหาคม 63 จำนวน 300 ล้านโดส ราคา 750 ล้านยูโร แต่กลับมาเร่งรัดต้องการรับสินค้าในช่วงเดียวกับอังกฤษ จึงเป็นไปไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลที่อียูอาจไม่ได้รับสินค้าตามจำนวนที่ต้องการ

ก่อนปิดต้นฉบับมีข่าวว่า อียูจะชะลอมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนไปก่อน เพราะถูกชาวโลกวิจารณ์อย่างหนัก นพ.กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ องค์การอนามัยโลก ถึงกับกล่าวว่า เป็นความล้มเหลวทางศีลธรรมขั้นหายนะ

ผมก็หวังว่า ไทยจะได้รับวัคซีนในเดือนนี้ตามนัด และ วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ จะได้ฉลองการฉีดวัคซีนโควิด–19 เข็มแรก ในไทย ก็ต้องรอดูวันอาทิตย์หน้า ใครจะได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก ระหว่าง นายกฯตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญ-วีรกูล เพื่อบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์สาธารณสุขไทย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”