เปียร์กา ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และ คาริน ฮัลชอฟ ผอ.ยูนิเซฟเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ยังมองต่อเรื่องโรงเรียนว่า เราต้องสานต่อสิ่งที่ได้ดำเนินการมาไปพร้อมๆกับการหาแนวทางใหม่ๆที่สร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึงการต้องเริ่มลงทุนในการศึกษาตั้งแต่ตอนนี้

โรงเรียนต้องปลอดภัย ครูต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อให้ตอบสนองความต้องการทางการศึกษาของเด็กได้ นอกจากนี้ เรายังต้องปรับระบบให้เด็กและเยาวชนเรียนจบไปพร้อมทักษะจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21

เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าประทับใจ รัฐบาลต่างจัดการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ โทรทัศน์ วิทยุ และมือถือ ที่ประเทศไทย เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและเสี่ยงต่อการออกจากการเรียน ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อช่วยให้ยังอยู่ในระบบ เวียดนามปรับเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อลดความกดดันด้านวิชาการและความเครียด

ความพยายามที่จะฟื้นฟู ปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนเริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะบ่มเพาะความพยายามนี้ต่อไปอย่างไร ถึงเวลาแล้วที่เราจะจินตนาการถึงระบบการศึกษาแบบใหม่ และนำนวัตกรรมท้องถิ่น ข้อเสนอแนะของชุมชน และเทคโนโลยีต่างๆมาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล ทลายอุปสรรค และให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่ทันสมัย ยืดหยุ่น และส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม

เหนือสิ่งอื่นใด การตัดงบประมาณด้านการศึกษาควรเป็นทางเลือกสุดท้าย ถึงแม้ทั้งโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ นอกจากเราไม่ควรนำงบสนับสนุนการศึกษาไปใช้อย่างอื่นแล้ว เรากลับยิ่งต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการศึกษา เนื่องจากการศึกษามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนามนุษย์

นี่เป็นโอกาสที่เกิดขึ้นอาจเพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิตที่จะข้ามพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ด้วยการทำในสิ่งที่ต่างไปจากเดิม เราต้องนำบทเรียนที่ได้จากวิกฤติโควิด-19 นี้ มาเปลี่ยนโรงเรียนที่จะกลับมาเปิดอีกครั้ง ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่แท้จริง ที่มอบความรู้และทักษะที่จำเป็นให้กับเด็ก ความคิดที่จะกลับไปใช้ระบบการเรียนแบบเก่า ที่ไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนจะถือเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวง

...

หากเราจะบรรลุภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ เราต้องตระหนักว่าเราไม่สามารถทำอะไรแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป ถ้าเราเรียนรู้บทเรียนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะสามารถจินตนาการและพัฒนาระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมสำหรับทั้งคนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆไป.