• ซีรีส์วาย และปัง หรือแป้ก หัวใจสำคัญนอกจากนักแสดง ผู้กำกับ ยังต้องยกเครดิตให้ "คนเขียนบท"
  • พิม พลอยพรรณ มาคะผล หนึ่งในทีมเขียนบท "ซีรีส์วาย" นามปากกา "สี่อักษร" แชร์ประสบการณ์การ เขียนอย่างไรให้คนดูอิน
  • มากกว่าการเป็นสาววาย "ทัศนคติ" ด้านมุมมองความรักของคน 2 คน ที่ไม่ต้องสนใจเรื่องเพศ คือคุณสมบัติหลัก ที่นักเขียนนิยายวายควรมี


ปี 2563 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ตัวเองได้เปิดใจลองอะไรใหม่ๆ มากขึ้น หนึ่งในนั้น คือการดู “ซีรีส์วาย” ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับประเทศไทย หรือคนไทยบางกลุ่ม แต่สำหรับผู้เขียนเอง เหมือนเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาเบิกเนตร จากที่ไม่เคยอินกับกระแสคู่จิ้นใดๆ แต่เมื่อจบเรื่องแรก เรื่องที่สอง ที่สาม ก็ตามมาในระยะประชิด ซึ่งตอนนี้ไม่รู้จะเรียกตัวเองว่า “สาววาย” ได้ไหม เนื่องจากยอมรับว่า ไม่ได้ดูทุกเรื่อง เพราะบางเรื่อง เคมีพระเอก นายเอก มันไม่คลิกจริงๆ

ซึ่งข้อมูลจากทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มที่เรียกว่า ทำให้เปิดโลกวงการนี้เลยก็ได้ เผยข้อมูลของปี 2020 ว่า เป็นปีที่ผู้คนต่างหันมาเสพความบันเทิงออนไลน์มากขึ้น วัดได้จากบทสนทนาเกี่ยวกับวงการบันเทิงกว่า 678 ล้านทวีตบนทวิตเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

...



“เพราะเราคู่กัน” ซีรีส์สายวายมาแรง



และจากข้อมูลล่าสุดของทวิตเตอร์ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 20 พฤศจิกายน 2020 ได้รายงานข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับแนวโน้มของผู้คนในการบริโภคภาพยนตร์และรายการทีวี รวมถึงการพูดคุยที่เกี่ยวข้องบนทวิตเตอร์ว่า ถึงแม้ว่าในไตรมาส 3/2020 บทสนทนาเกี่ยวกับภาพยนตร์บนทวิตเตอร์ในประเทศไทยลดลง 24% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2020 และ 2019) แต่พบว่า ทวีตที่เกี่ยวกับรายการต่างๆ บนออนไลน์สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม หรือ OTT มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 103% (เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2020 และ 2019) และทวีตที่เกี่ยวกับรายการทีวีไทยเพิ่มขึ้น 14% (เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2020 และ 2019)

ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปในปี 2020 ทวิตเตอร์ รายงานว่า เป็นปีขาลงของจอเงินในโรง และเป็นปีขาขึ้นของจอแก้ว โดยกระแสที่มีการกล่าวถึงมากเรื่องหนึ่งคือ ซีรีส์ “เพราะเราคู่กัน” ที่แสดงโดยคู่จิ้น ไบร์ท วชิรวิชญ์ และ วิน เมธวิน ซึ่งไม่เพียงแต่กระแสในประเทศไทย แต่คู่จิ้นคู่นี้ ยังโด่งดัง ถูกใจแฟนคลับต่างชาติอีกหลายประเทศ

นอกจากนี้ ยังมี คู่จิ้น หรือพระเอก นายเอกซีรีส์วาย ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดบนทวิตเตอร์ในปีก่อน อาทิ คิมม่อนคอปเตอร์ คริสสิงโต เตนิว บิวกิ้นพีพี ฯลฯ

ทีมเขียนบท หัวใจหลักของซีรีส์ ไม่แพ้ผู้กำกับ


และอย่างที่เกริ่นไว้ ไม่ใช่ซีรีส์วายทุกเรื่องจะมีกระแส ดันให้พระเอก นายเอก หรือแม้แต่นักแสดงในเรื่อง ถูกพูดถึงจนสินค้าแห่ต่อแถว อยากได้ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้ซีรีส์เรื่องนั้นๆ ได้รับความนิยม นอกจากตัวเอกของเรื่องแล้ว คงไม่พูดถึง “นักเขียนบท” ไม่ได้

ซึ่งเดี๋ยวนี้ นิยายวายไม่ใช่สิ่งที่หาอ่านได้ยาก เพราะนอกจากนิยายของสำนักพิมพ์ชื่อดัง ที่วางขายตามร้านหนังสือต่างๆ แล้ว ยังมีอีกหลายแอปฯ ที่รวมนิยายวาย จากนักเขียนหน้าใหม่ ซึ่งหลายคนก็ใช้พื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่แจ้งเกิด ดันให้นิยายตัวเองได้ออกไปโลดแล่น ผ่านหน้าจอแก้ว

จากการพูดคุยกับ พิม พลอยพรรณ มาคะผล หนึ่งในทีมนักเขียนบท ซีรีส์วาย ที่กำลังมีผลงานออนแอร์อยู่ในขณะนี้ เล่าให้เราฟังว่า เริ่มต้นเขียนบทซีรีส์วายมาได้ประมาณปีกว่าแล้ว โดยเริ่มจากการที่รุ่นน้องมาถามหาคนเขียนบทซีรีส์ ซึ่งเราก็ช่วยติดต่อให้ แต่เขาไม่ว่าง น้องจึงถามตนว่า อยากลองไหม ซึ่งตนไม่เคยทำมาก่อน ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน แต่อยากลอง คุยกันเป็นชั่วโมง สรุปได้ความว่า มาฟอร์มทีมกันเถอะ เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยากทำ แต่ยังไม่มีโอกาส

สำหรับตน คนที่จะเขียนบทซีรีส์วายได้ การเป็นสาววายไม่ใช่คุณสมบัติหลัก เท่ากับ เรามีทัศนคติต่อซีรีส์วายอย่างไร ถ้าตัดเรื่องเพศออก มันก็แค่เป็นความรักระหว่างคนสองคน ถ้าคนเขียนเองยังไม่อินในสิ่งที่กำลังเขียน คนดูเขาก็จะดูออก ว่า “ปลอม”

ดังนั้น การจะสื่อสารความรู้สึกของตัวละครออกมา ให้คนดูอิน อย่างที่บอกว่า เราไม่ได้มองว่ามันคือความรักแบบชายรักชาย เรามองว่ามันเป็นความรักของคนสองคน สถานการณ์ต่างๆ ในเรื่องที่เกิดกับตัวละคร จะช่วยส่งอารมณ์ ความรู้สึกให้กับตัวละครอยู่แล้ว ดังนั้น เราแค่ต้องวางพล็อตเรื่องให้ดี ให้แน่น ทุกการกระทำต้องมีที่มาที่ไป มีเหตุผลมารองรับ และที่สำคัญเราต้องเข้าใจตัวละครของเราก่อนว่า เขาเป็นคนอย่างไร ถ้าเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น เขาจะรับมืออย่างไร ซึ่งทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานความคิดของตัวละคร ไม่ใช่นักเขียน ดังนั้น การวางคาแรกเตอร์ของตัวละครให้ชัด เป็นสิ่งที่จำเป็น เวลาเขียนบท จะได้ไม่หลุด

อย่างซีรีส์ ที่ตนร่วมในทีมเขียนบท ซึ่งกำลังออกอากาศอยู่ตอนนี้ มีเรื่อง “You Never Eat Alone” เป็นเรื่องของคนที่กินข้าวคนเดียวไม่ได้ ต้องมาทำภารกิจหาเพื่อนกินข้าวให้ได้ทุกมื้อ ออกอากาศผ่านแอปพลิเคชัน AIS PLAY มีทั้งหมด 12 ตอน ตอนนี้ออกอากาศไปได้ 3 ตอนแล้ว

อีกเรื่องที่กำลังถ่ายทำอยู่ คือ “Second Chance The Series” ของ Mflow Ent. เป็นเรื่องราวความรักวัยรุ่นในโรงเรียนมัธยม ซึ่งเริ่มปล่อยภาพโปรโมตออกมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีโปรเจกต์ซีรีส์วาย 12 ตอน ที่กำลังทำอยู่ ซึ่งน่าจะได้ดูกันปลายปี



อยากเขียนบท “ซีรีส์วาย” ความยาก ง่าย อยู่ที่ไหน



จริงๆ ซีรีส์วาย มีมาพักใหญ่ๆ แล้ว มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ฐานแฟนคลับของซีรีส์วาย ก็จะตามมาจากนิยายวาย ที่ได้รับความนิยม และถูกหยิบมาทำเป็นซีรีส์ ซึ่งก็จะวางใจได้ในระดับหนึ่งว่า จะมีฐานคนดูที่ตามมาจากการอ่านนิยาย พอซีรีส์ฉายจริง ก็จะได้แฟนคลับกับคนดูเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าซีรีส์ดี สนุก คนก็จะบอกต่อไปเอง ซึ่งยังมีนิยายสนุกๆ อีกหลายเรื่อง ที่ถูกหยิบมาทำซีรีส์

โดยความยากง่าย ของการเขียนบทซีรีส์แต่ละเรื่อง ไม่เหมือนกัน สำหรับตนเรื่องแรกยากสุด เพราะเราเริ่มแบบคนไม่รู้อะไรเลย โชคดีที่มีทีมที่คอยซัพพอร์ตกันตลอด จะคอยบอกว่า เขียนแบบนี้ไม่ได้นะ มันถ่ายยาก ซึ่งแรกๆ เราไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ได้ ภาพในหัวมันสวยมากนะ จนเรามีโอกาสไปกองถ่าย ไปเห็นการถ่ายทำซีรีส์จริงๆ ทำให้เริ่มมองออก ซึ่งบทซีรีส์ ไม่เหมือนนิยาย ที่เราอยากจะเขียนให้ฉากอลังการขนาดไหนก็ได้ตามจินตนาการ แต่บทซีรีส์ ต้องเป็นบทที่เขียนออกมาแล้ว สามารถนำไปถ่ายทำได้จริง

“ถ้าถามว่าอะไรยากสุดในการเขียนบทซีรีส์ สำหรับตนคิดว่า สิ่งที่ยากสุดเลยคือการมองเห็นภาพให้ตรงกับที่ผู้กำกับเห็น ถ้าคนเขียนบทกับผู้กำกับเห็นภาพตรงกัน บทเราจะเขียนรอบเดียวผ่าน ไม่ต้องแก้เยอะ แต่ถ้าเมื่อไรที่เรามองภาพคนละอย่าง ปัญหามาละ เหมือนช่องสัญญาณที่จูนกันไม่ติด ภาพมันก็ไม่มา มันก็ไปต่อไม่ได้ เราก็ต้องคุยกันกับผู้กำกับจนกว่าจะเข้าใจตรงกัน เห็นภาพภาพเดียวกัน”

และเมื่อถามว่า เรื่องไหนที่เขียนออกมาแล้วรู้สึกอิน หรือฟินที่สุด พิม พลอยพรรณ บอกว่า จริงๆ อินกับทุกเรื่องที่เขียน เพราะตอนเขียน เรากล่อมตัวเองให้เป็นตัวละครตัวนั้น ให้รู้สึกร่วมไปกับทุกๆ เหตุการณ์ที่เขาเจอ

มีบ้างที่เขียนไป ยิ้มไป ซึ่งตนเชื่อว่ามันเป็นปฏิกิริยาตอบสนอง ที่เป็นไปเองของร่างกาย เหมือนเวลาเราอ่านนิยายหรือดูซีรีส์ มีฉากน่ารัก เรายังยิ้ม อาทิ ฉาก kiss scene บางครั้ง ก็เขินจนเขียนต่อไม่ได้ ซึ่งเราก็คิดเองว่า ถ้าเราเขียนเอง ยังเขินขนาดนี้ คนที่ดูซีรีส์ ก็ต้องเขินบ้างแหละ



ความชอบส่วนตัว ใครก็เสพ “ซีรีส์วาย” ได้



ขณะที่ “สาววาย-หนุ่มวาย” ศัพท์ที่ใช้เรียกเพศหญิง เพศชาย ที่ชื่นชอบคู่รักชาย-ชาย หรือชอบเสพโมเมนต์คู่ชาย-ชาย เอง ซึ่งปัจจุบันเห็นได้ว่า มีหลายหลากวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ฯลฯ ซึ่ง พิม พลอยพรรณ มองว่า ถ้าเราตัดเรื่อง gender หรือ เพศออกไปได้ ทำไมเราถึงจะตัดเรื่อง Generation Gab หรือ ช่องว่างระหว่างวัย ออกไปไม่ได้ ซึ่งตนมองว่า การดูซีรีส์ เป็นความชอบส่วนตัว เป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง เหมือนกับบางคนที่ชอบดูหนัง บอกคนชอบอ่านหนังสือ บางคนชอบไปคาเฟ่

ซึ่งตนคิดว่า “วงการซีรีส์วาย” ในอนาคต ยังไปได้อีกไกล ทั้งฐานคนดูเดิม ทั้งกลุ่มคนดูใหม่ๆ ที่เปิดใจดูมากขึ้น

ฝากถึงคนที่เริ่มหัดเขียน “นิยายวาย”


พิม พลอยพรรณ บอกว่า เริ่มเลยค่ะ อย่ากลัวว่าจะทำไม่ได้ อย่าเพิ่งไปคิดว่าจะมีคนอ่านหรือไม่ คนจะชอบหรือเปล่า นั่นเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือตัวเรา ต้นฉบับเราจะเสร็จ เราต้องเริ่มลงมือเขียน อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ คือ เราต้องอ่านเยอะๆ ยิ่งอ่านเยอะ เราจะมีคลังคำศัพท์ในหัวเพิ่มขึ้น และเรายังจะได้เห็นด้วยว่า แนวการเขียนแบบไหน ที่คนชอบ หรือไม่ชอบ

พร้อมฝากนามปากกา “สี่อักษร” ของทีมด้วย ตอนนี้มีผลงานซีรีส์ ที่กำลังออนแอร์อยู่ตอนนี้ด้วย

ผู้เขียน : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟฟิก : Jutaphun Sooksamphun