- อภัยภูเบศร เปิดตัว "มาชิมกัญ" เมนูหลากรส มีส่วนผสมจากใบกัญชา
- ว่ากันว่า ... กัญชา ชูรสอาหารอร่อย กินแล้วติด จริงหรือ?
- ประโยชน์ของ "กัญชา" เปิดหลักสูตรต่อยอดธุรกิจอาหารสุขภาพที่ยั่งยืน
หลังจากมีประกาศปลดล็อกบางส่วนของ "กัญชา" และ "กัญชง" ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ยกเว้นช่อดอก และเมล็ดกัญชา โดยส่วนที่นำมาใช้นั้น ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก ซึ่งไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด
ซึ่งในโลกโซเชียล ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ทั้งในเรื่องของฤทธิ์ของ "กัญชา" และ "กัญชง" หรือแม้กระทั่ง จะเป็นการเปิดทาง สำหรับการนำ "กัญชา" และ "กัญชง" มาใช้อย่างเสรี เหมือนในต่างประเทศหรือไม่
แต่ที่ดูจะถูกพูดถึงมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงเป็นเรื่องที่ มีการแชร์เมนูอาหาร "มาชิมกัญ" ของ หน่วยงานหนึ่ง จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ได้นำส่วนที่ปลดล็อกมาทำเป็นเมนูอาหาร เช่นเมนูรื่นเริงบันเทิงยำ ข้าวกะเพราสุขใจ เล้งแซ่บซดเพลิน ขนมปังคิกคิก
จุดเริ่มต้นของโครงการ "มาชิมกัญ"
จากการสอบถาม ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถึงที่มาของโครงการ มาชิมกัญ หรือ อาหารจากใบกัญชา เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ได้รับอนุญาตให้ปลูก และผลิตยา จากกัญชาอยู่แล้ว ทั้งยาแผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย
...
สำหรับ "กัญชา" เป็นนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข ในเฟสแรกอยากให้คนไข้เข้าถึงยา ส่วนเฟสที่สอง อยากให้มีการขับเคลื่อนในเรื่องของเศรษฐกิจ จากกัญชาให้ได้ ประกอบกับมีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อกกัญชาในส่วนของ ใบ ราก ลำต้น ออกจากรายการยาเสพติดให้โทษ เนื่องจากมีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) หรือ สารเมา ในปริมาณค่อนข้างน้อย และมีความปลอดภัยที่จะใช้อยู่พอสมควร น่าจะพัฒนาเป็นโมเดลในเรื่องของการดูแลสุขภาพด้วยกัญชาได้ และเป็นการเพิ่มมูลค่า จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา โดยเริ่มจากอาหารก่อน จากนั้นจะค่อยๆ ขยายไปยังเซกชั่นอื่น เช่น สปา การท่องเที่ยว ฯลฯ
อาหารจากใบกัญชา กระแสตอบรับดีล้นหลาม
ดร.ภญ.ผกากรอง เปิดเผยว่า หลังจากเปิดตัวโครงการ "มาชิมกัญ" ไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ปรากฏว่าคนให้ความสนใจอย่างมาก จึงต้องเร่งทำข้อมูลเกี่ยวกับ "กัญชา" ออกมาให้ความรู้ เป็นตัวอย่างแก่ผู้ประกอบการที่สนใจ แม้ว่า "กัญชา" จะมีความปลอดภัย แต่หากดูจากหลักฐานทางวิชาการ ก็อาจจะต้องระมัดระวังในการใช้กับคนบางกลุ่ม และต้องไม่บริโภคมากจนเกินไป
ซึ่งขณะนี้ ได้มีการทำงานร่วมกับองค์กรอาหารและยา (อย.) และสถาบันกลุ่มกัญชาทางการแพทย์เกี่ยวกับการควบคุม หรือกำกับ ให้ข้อมูลความรู้ เพื่อในอนาคตจะได้ใช้สิ่งเหล่านี้ในการคุ้มครองผู้บริโภค
กัญชา กับความรู้ของคนไทยอดีต
การที่เราเลือก "ใบกัญชา" มาทำเป็นอาหารก่อน เพราะพิจารณาจากปริมาณการใช้ใบกัญชาของคนไทยในอดีต และหลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่บ้าง พบว่าส่วนใหญ่จะใช้ใบในการประกอบอาหารเป็นหลัก ซึ่งเราได้ให้ความรู้กำกับว่า ควรบริโภคในปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม และคนกลุ่มใดบ้างที่ควรระวัง
ผู้ที่ต้องระวังเป็นพิเศษ
ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า จากหลักฐานที่มีการตีพิมพ์ มีข้อมูลว่าในกัญชาจะมีสารอยู่ประมาณกว่า 500 ชนิด แต่สารหลักๆ ที่มีการพูดถึงและวิจัยอย่างกว้างขวางก็คือสาร THC หรือ สารเมา และ สาร cannabidiol (CBD)
สำหรับสารตัวที่ต้องกังวลในการใช้ก็คือ THC เนื่องจากสารตัวนี้สามารถเข้าสู่สมอง และมีหลักฐานยืนยันว่า การบริโภคในปริมาณสูง ระยะยาวจะทำให้เสพติด แต่เรายังไม่ทราบถึงปริมาณว่า บริโภคเท่าใดจะทำให้เสพติด และจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด เพราะมีปัจจัยในเรื่องของการปรุงอาหาร การดูดซึมของยา รวมทั้งปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ใช้ด้วย ตอนนี้เราจึงต้องให้ข้อมูลประชาชนไปก่อน โดยให้บริโภคตามองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมคือ ไม่เกิน 5 ใบต่อวัน
กัญชาอาหารหลากรส สู่ เมนูขนมหวาน
นอกจากนี้ เราอยากให้เห็นว่า กัญชา สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ ในต่างประเทศเองก็มีการนำไปใส่ในคุกกี้ บราวนี่ ช็อกโกแลต เราจึงนำมาปรับให้เข้ากับวิถีวัฒนธรรมให้เข้ากับคนไทย เริ่มจากเมนูอาหาร เช่น ผัดกะเพรา ต้มแซ่บ ตอนนี้ก็กำลังจะเพิ่มในขนม เพื่อให้ผู้ประกอบการเห็นไอเดีย และนำไปพัฒนาต่อได้
รู้หรือไม่...แต่ละคนเมากัญชาไม่เท่ากัน
หลังจากรับประทานเข้าไปแล้ว แต่ละคนจะมีความไวต่อสารเมาไม่เท่ากัน บางคนอาจจะไม่รู้สึกอะไรเลย แต่บางคนกลับมีอาการมึนนิด ๆ
ดังนั้น การนำกัญชาไปทำอาหาร จึงแบ่งเมนูตามระดับของแต่ละคน ยกตัวอย่าง เมนูสำหรับคนที่ไวต่อสารเมามากๆ แนะนำ "ใบกัญชาคั้นสด" จะไม่มีสารเมาเลย
สำหรับผู้ที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน อาจจะเทียบความไวต่อสารเมาของกัญชา กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ โดยเมนูของคนที่คออ่อน แนะนำให้รับประทานในปริมาณน้อย เช่น ผัดกะเพรา จะใส่ใบกัญชาเพียงครึ่งใบ ถือเป็นปริมาณที่น้อยมาก
ถัดมาจะเป็นเมนูที่ใส่ใบกัญชาเพิ่มขึ้นมา และผสมตัวใบเข้าไปในอาหาร จะทำให้สารเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการทำ หากเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบและเข้าใจ ที่สำคัญคืออยากให้ผู้ประกอบการนำสิ่งต่างๆ ที่เราทำไปใช้ประโยชน์ คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค และเพื่อให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันกัญชาจะปลดล็อกแล้ว แต่การจะนำใบกัญชามาทำอาหารนั้น วัตถุดิบจะต้องมาจากแหล่งที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกเท่านั้น ไม่เช่นนั้น ก็ยังถือว่าผิดกฎหมาย
และจากการปลูกและศึกษาพบว่า ใบกัญชา สามารถดูดซึมโลหะหนักได้ดี การที่นำมาจากแหล่งที่ไม่ได้รับอนุญาต อาจมีสาร ปนเปื้อน เช่น ยาฆ่าแมลงได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ มากกว่าผลดี
อาหารที่ใส่กัญชา ทำให้อร่อย กินแล้วติด จริงหรือ?
ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวถึงประโยชน์ของกัญชาในอาหารว่า ภูมิปัญหาดั้งเดิมของคนไทย จะใส่ใบกัญชาในอาหารเพื่อเป็นเครื่องชูรส ทำให้กินข้าวได้ นอนหลับดี แต่จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลทราบว่า การรักษาคนป่วยของหมอพื้นบ้าน หรือ การแพทย์พื้นบ้าน จะเน้นที่คนป่วยเป็นหลัก ไม่ได้เน้นที่อาการป่วย หากเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง จะพยายามทำให้ผู้ป่วยกินข้าวได้ ใบกัญชาจึงเป็นส่วนหนึ่งในเมนูอาหาร เพื่อให้คนป่วยกินข้าวได้ นอนหลับได้ดี เมื่อหายแล้วจึงหยุดกิน
อีกมุมหนึ่งมองว่า เป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าธุรกิจ นอกจากเป็นการส่งเสริมการใช้ในเชิงนโยบายแล้ว ต้องควบคู่กับการศึกษาวิจัย อยากให้นักวิจัยลองศึกษากันดูว่า การเพิ่มใบกัญชาเข้าไปในอาหาร มีฤทธิ์ตามที่คนโบราณได้พูดไว้หรือไม่
ยกตัวอย่างการศึกษาในต่างประเทศ มีข้อมูลว่า ใบกัญชาสด ไม่มีสารเมาเลย มีประโยชน์ในการปกป้องสมองจากสารพิษ ช่วยลดอาการอักเสบ ต้องศึกษาว่าเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ ถ้าเรามีองค์กรความรู้พื้นบ้าน บวกกับงานวิจัยในปัจจุบัน จะช่วยสร้างตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทำให้อาหารสุขภาพจากกัญชายั่งยืนมากขึ้น
เปิดตำรับ "กัญชา" หลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการ
การเปิดอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการเป็นสิ่งสำคัญ การที่ผู้ประกอบการจะนำกัญชาไปใช้ ไม่ใช่ว่าหยิบใบกัญชามา 2-3 ใบแล้วใส่ในผัดกะเพราเลย เนื่องจากสารเมาที่อยู่ในกัญชายังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความอ่อน ความแก่ของใบ สมมติต้องการปรุงให้กับคนที่คออ่อน จะต้องเลือกใบอ่อนๆ ไม่ใช่ใบแก่
นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับขั้นตอนการปรุง ถ้าเกิดเป็นอาหารที่ใช้ไขมันเยอะๆ จะทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมสาร THC หรือ สารเมา เข้าไปได้มากขึ้น และยังมีปัจจัยส่วนบุคคล เช่น คนน้ำหนักมาก มีไขมันในตัวสูง ก็จะดูดซึมสารเมาได้ดีขึ้น นี่คือองค์ความรู้พื้นฐาน ที่เราพยายามจะทำออกมาให้ง่ายขึ้นเพื่อใช้ในการอบรมผู้ประกอบการ
เหมือนกับผลิตภัณฑ์สุขภาพหลายตัวที่ฮิตชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อขาดหลักฐานงานวิจัยที่ชัดเจน ประกอบกับมีผู้บริโภคได้รับอันตราย ธุรกิจก็จะพากันเสียหายไปทั้งระบบ
นอกจากนี้ เราได้ทำงานร่วมกับ Food designer ในการออกแบบอาหารให้ดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า รวมทั้งพยายามคุยกับนักวิจัยเพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์และปลอดภัยมากที่สุด สิ่งเหล่านี้จะเป็นองค์ความรู้ทั้งหมดที่จะใส่ในหลักสูตร
หากประชาชนสนใจสามารถไปพบกันได้ในงานมหกรรมกัญชากัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน ณ สนามช้างอารีน่า จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 5-7 มีนาคม 2564 ภายในงานจะมีพันธมิตร โดยเฉพาะหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข จะมีการให้ลงทะเบียนผ่านระบบ ซึ่งรายละเอียดจะมีประกาศอีกครั้ง
สำหรับผู้ที่สนใจ "เมนูอาหารจากใบกัญชา" สามารถไปชิมได้ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หรือสามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่แฟนเพจ การแพทย์แผนไทย อภัยภูเบศร.
ผู้เขียน : J. Mashare