“หนังสือพิมพ์นั้นอยู่ได้ด้วยศรัทธาของประชาชน ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสก็ควรจะตอบแทนประชาชน...ประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรืองกว่าที่เป็นอยู่จำเป็นต้องส่งเสริมการศึกษาด้วยการสร้างคนและให้คนมาสร้างประเทศ”
กำพล วัชรพล หรือ “ป๊ะกำพล” ของคนไทยรัฐกล่าวไว้นานมาแล้ว หากแต่ยังติดอยู่ในจิตสำนึกของนักข่าวมืออาชีพหลายๆคนและบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงทุกวันนี้
ในวาระ 100 ปี ชาตกาล “กำพล วัชรพล” ในฐานะสามัญชนคนหนังสือพิมพ์ การประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 39 ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) พ.ศ.2560 ได้ประกาศยกย่องให้...“กำพล วัชรพล” เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านสื่อสารมวลชน และการศึกษา
พลิกแฟ้มบันทึกปูมประวัติแบบย่นย่อ วันวาน พ.ศ.2511 ช่วง 7 ปีแรก หนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” เติบโตไม่หยุด จนกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.2511 ยอดพิมพ์ใกล้ถึง 200,000 ฉบับต่อวัน...กระทั่งวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 หนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” จึงขยับขยายออกจากโรงพิมพ์ที่ซอยวรพงษ์ ย่านบางลำพู มาอยู่บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์
เลขที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต
พ.ศ.2514 ระหว่างทางการเติบโต มีสิ่งที่ท้าทายเสมอ สำหรับ “กำพล” เกือบเข้าคุกเพราะเหตุการณ์ทางการเมืองช่วง พ.ศ.2514 ...เวลานั้นไม่เพียงผ่านไปด้วยดี แต่สิ่งที่ทิ้งไว้เบื้องหลังคือการต่อสู้กับอำนาจทางการเมือง กับนักหนังสือพิมพ์ที่ “กำพล” พิสูจน์ให้เห็นว่า “ยิ่งเตะยิ่งดัง”
นอกเหนือจากปัญหาคนในกองบรรณาธิการถูกซื้อตัว...นับได้ว่าความเป็นนักเผชิญวิกฤติของ “กำพล” เกิดขึ้นเป็นระยะ และทุกครั้งไม่เพียงผ่านไปด้วยดี แต่คือการเพิ่มความแข็งแกร่งให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทำสถิติยอดพิมพ์จำหน่ายวันละ 1 ล้านฉบับ เป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศ
และ...ยังได้ปฏิวัติการเรียงพิมพ์ด้วยมือมาเป็นการเรียงพิมพ์ด้วยแสง จนถึงด้วยระบบคอมพิวเตอร์
“ไทยรัฐ”...เส้นทางที่ท้าทายและเติบโต เดินบนเส้นทางข่าวที่โดดเด่นหลากหลายโดนใจผู้อ่านและการสร้างระบบจัดจำหน่ายที่ทำให้ข่าวถึงมือผู้อ่านรวดเร็ว เพราะ “กำพล” สามารถผูกใจเอเย่นต์ ที่ยึดหลักพึ่งพา อาศัยกันดุจญาติมิตร ไม่ใช่การพูดคุยด้วยภาษาผลประโยชน์
พ.ศ.2512 “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ไม่เพียงเป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนเท่านั้น ยังมีสิ่งหนึ่งที่ “กำพล” คิดถึงอยู่เสมอคือ การให้โอกาสเด็กนักเรียนในชนบทมีการศึกษาที่ดี มีอาหารกลางวันอิ่มท้อง
...เป็นวิถีการสร้างคน และให้คนมาสร้างประเทศ
โรงเรียนไทยรัฐวิทยาแห่งแรก ที่จังหวัดลพบุรี จึงได้เกิดขึ้น
จากนั้นโรงเรียนไทยรัฐวิทยาแห่งอื่นๆก็เกิดขึ้นตามมาโดยมีมูลนิธิไทยรัฐที่ “กำพล” ตั้งขึ้นเมื่อครั้งอายุ 60 ปี ติดตามดูแลจนเกือบ 30 ปี “กำพล” สร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 101 แห่ง ด้วยงบประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดูแลนักเรียนแล้วกว่า 30,000 คน
“ต่อไปในภายหน้า ถ้าพบคนดีๆที่ไหนและถ้าถามและได้รับคำตอบว่าเมื่อเล็กๆเคยเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยาแล้ว ผมจะมีความสุขมาก”...นั่นคือความปรารถนาที่ไม่เพียงต้องการให้ไทยรัฐวิทยา เรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะคนดีออกสู่สังคมด้วย
ฉากชีวิตในวัยเยาว์ “กำพล วัชรพล” เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2462 ที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เรียนจบชั้น ป.4 ล่องเรือช่วยพ่อแม่ค้าข้าวเรือเร่ ตามลำน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และ
แม่กลอง...เป็นเด็กเก็บค่าโดยสารเรือเมล์ ลำน้ำกระทุ่มแบน-ประตูน้ำ ภาษีเจริญ ธนบุรี
และ...สมัครเป็นพลทหารเรือ โดยไม่จับใบดำใบแดง
“กำพล” ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 แต่เรื่องราวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและการให้การศึกษาแก่เด็กในชนบท ถูกบอกเล่า ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ที่ไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2562 ณ สำนักงานใหญ่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้มีพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี รักษาการประธานองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ไปในงานประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของโลก นายกำพล วัชรพล
เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องนายกำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และผู้ก่อตั้งโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อชุมชนในชนบท จำนวน 111 แห่ง เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชน ระหว่างปี 2561-2562
วัตถุประสงค์เพื่อให้ชีวิตและผลงานของนายกำพล วัชรพล เป็นแบบอย่างของผู้ที่มีความมุ่งมั่น พากเพียรให้บรรลุเป้าหมาย พร้อมอุทิศตนสร้างประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ
เพื่อแสดงถึงพัฒนาการของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ควบคู่กับการสะท้อนเหตุการณ์ ทางสังคมเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดกว่า 6 ทศวรรษ แห่งการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และ...เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์แก่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
“กำพล วัชรพล นักสู้ สามัญชน...คนของโลก” คือแนวความคิดหลักในนิทรรศการ ใครที่ได้เคยมาสัมผัสอาจจะยังพอจำภาพบรรยากาศได้บ้างว่ามีการจัดแสดง 5 โซน โซนที่หนึ่ง...พิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล จัดแสดงภาพ และบทประพันธ์กล่าวสดุดีนายกำพล วัชรพล โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
โซนที่สอง...“นักสู้สามัญชน...คนของโลก” จัดแสดงเหตุการณ์สำคัญที่องค์การยูเนสโกประกาศเกียรติคุณยกย่องให้นายกำพล วัชรพล เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชน
ในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล นายกำพล วัชรพล วันที่ 27 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นคนไทยและคนเอเชียเพียงคนเดียวที่ได้รับการประกาศยกย่องในครั้งนี้
โซนที่สาม...ชีวิตบนถนนน้ำหมึก จัดแสดงตำนานนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งวงการสื่อมวลชนไทย...ในการบุกเบิกสร้างสรรค์หนังสือพิมพ์ เพื่อให้เข้าถึงคนอ่านทุกระดับ จากยุคแรกที่เป็นหนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพ” ช่วงปี 2493-2501...หนังสือพิมพ์ “เสียงอ่างทอง” ช่วงปี 2502-2505 สู่หนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน จำนวน 1 ล้านฉบับต่อวัน รวมทั้งจัดแสดงพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ในช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมารวมทั้งหนังสือพิมพ์...ไทยรัฐยุคใหม่ ที่ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคใหม่ด้วยนวัตกรรมสื่อรูปแบบต่างๆ
โซนที่สี่...“หนังสือพิมพ์เพื่อการศึกษา” และสุดท้าย โซนที่ห้า... “เราอยู่ด้วยศรัทธาประชาชน”
วันเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน วันนี้...ทายาทรุ่นต่อมาและคนไทยรัฐยังคงสืบสานปณิธาน ต่อยอดความคิดของ “กำพล วัชรพล” ไว้อย่างมั่นคง ด้วยจิตสํานึกรับผิดชอบพร้อมตอบแทนสังคม อยู่เคียงข้างพี่น้องคนไทย
ดังคํากล่าวของ “ป๊ะกำพล” ที่ว่า...“หนังสือพิมพ์นั้นอยู่ได้ด้วยศรัทธาของประชาชนฉะนั้นเมื่อมีโอกาสก็ควรจะตอบแทนประชาชน”.