สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส “โควิด-19” ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 76 ล้านราย...เสียชีวิตแล้วกว่า 1.6 ล้านราย “สหรัฐฯ”...ยังคงเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดในโลก ส่วนเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังพบผู้ติดเชื้อรายวันนับพันรายอยู่อันดับ 69 ของโลก
“ประเทศไทย” ท่ามกลางบรรยากาศตื่นตัว “การ์ดอย่าตก” ด้วย ...สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ คนส่วนใหญ่ยังเฝ้ารอความหวัง “วัคซีน” จะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาคลี่คลายความกังวลทั้งหมดทั้งมวลนี้
ต่างประเทศแม้ว่าจะมีข่าวว่าไวรัสโควิดพัฒนากลายพันธุ์ แต่ ดร.ราวี กุปตา ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ ก็ยังคงมั่นใจว่าได้ผล กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดูหลังจากนี้คือวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันใช้กับไวรัสตัวที่กลายพันธุ์ได้ผลหรือไม่ เบื้องต้น...มั่นใจว่าวัคซีนได้ถูกออกแบบให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่เล่นงานไวรัสได้หลายช่องทาง อย่าเพิ่งวิตกกังวล และวัคซีนต้านไวรัสก็สามารถนำไปปรับแต่งให้เหมาะสมกับไวรัสที่กลายพันธุ์ได้
...
ขณะที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐฯ ก็อยู่ระหว่างตรวจสอบสมมติฐานที่ว่า...ไวรัสโควิด-19 มีส่วนทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายสับสน จนสร้างความเสียหายแก่ร่างกายตัวเองหรือไม่ หลังพบหลักฐานบ่งชี้ว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้เกิดอาการ “ออโต้แอนติบอดี” หรือภูมิคุ้มกัน “ยิงพวกเดียวกันเอง”
โดยแทนที่จะเล่นงานไวรัสอย่างเดียว...กลับไปทำลายเซลล์ของร่างกาย ทั้งสมอง เส้นเลือด ตับ ระบบทางเดินอาหาร จนทำให้ไวรัสโควิด-19 ลุกลามเกินกว่าที่จะควบคุมได้ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อล้มป่วยรุนแรง
หรือ...ต้องพักฟื้นอย่างต่อเนื่อง ไม่หายดีเสียที แม้จะไม่ตรวจพบไวรัสในร่างกายแล้ว
รายละเอียดคร่าวๆความคืบหน้า “วัคซีนโควิด” ในภูมิภาคอาเซียนที่เผยแพร่ผ่านสื่อเริ่มจาก...
ประเทศไทย ต้องการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2564 โดยมีแผนจัดหาวัคซีน 26 ล้านโดสจากโครงการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม ภายใต้การสนับสนุนของ WHO และจัดหาวัคซีนอีก 26 ล้านโดสจากบริษัทแอสตราเซนเนกา พร้อมหาเพิ่มอีก 13 ล้านโดส เพื่อครอบคลุมกับประชากร 30 ล้านคน
ประเทศสิงคโปร์ ใช้งบ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวสองหมื่นกว่าล้านบาทในการจัดหาวัคซีนเพียงพอกับประชากรทั้งประเทศ คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564
ประเทศอินโดนีเซีย ต้องการวัคซีนอย่างน้อย 246 ล้านโดส มุ่งฉีดให้ประชาชนช่วงอายุ 18-59 ปี จำนวน 107 ล้านคน มีความพยายามสั่งจองวัคซีนจากผู้ผลิตชาติตะวันตก...จีน และพัฒนาวัคซีนของตัวเอง
ประเทศฟิลิปปินส์ ต้องการวัคซีนอย่างน้อย 50 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชากร 1 ใน 4...เน้นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ คนงานในอุตสาหกรรม รวมถึงประชาชนที่มีรายได้น้อย...ประชากรกลุ่มเสี่ยง
ประเทศมาเลเซีย ต้องการซื้อวัคซีนเป็นจำนวน 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร และมีรายงานว่าได้หารือกับ 10 บริษัทผู้ผลิตวัคซีน ซึ่งมีวัคซีนอยู่ในขั้นทดลองการรักษาระยะที่ 3 ทำข้อตกลงเพื่อเข้าถึงวัคซีนที่พัฒนาอยู่
ความสำเร็จของ “วัคซีน” ยังมาไม่ถึง วันนี้เราๆท่านๆยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงได้ทุกขณะ...
“เราทำได้ เราทำให้ โควิด-19 เป็นโรคกระจอกได้”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า “ถ้าไม่แทงกันเองไม่ซ้ำเติมคนทำงาน ช่วยกันส่งเสริมวินัย ช่วยเป็นหูตา สอดส่องคนทำผิด กฎหมาย ลักลอบนำคนเข้าประเทศ ธุรกิจที่ไม่ดูแลความแออัด ยัดเยียด การขนส่งแรงงานยัดทะนาน ไม่ปรับที่พักอาศัย...”
ย้ำว่า...ความตระหนักในภารกิจที่คนในพื้นที่ทำอยู่ การรับรู้ ความเข้าใจ...เป็นเรื่องสำคัญ และรับทราบความยากเข็ญในการทำงานกับแรงงานต่างชาติจำนวนมหาศาล ความเสี่ยงต่อการติดโรค
รับรู้ความเสียสละของคนทำงาน และอีกทั้งทางโรงพยาบาลต้องจัดกำลัง ทั้งคนป่วยปกติคนต้องสงสัย การคัดกรอง ทางห้องปฏิบัติการ และการวิจัย...ระวังเชื้อเพี้ยนตรวจไม่เจอจิปาถะ
สถานการณ์ในวันนี้...ไม่มีทางเลือกแล้ว ต้องตรวจเร็ว คัดตัวกักทันที และแยงจมูกต่อ ต้องช่วยกันผลักดัน...คนแยง คนตรวจจะตายกัน คนป่วยเข้าโรงพยาบาลไม่รู้ว่ามีโควิด แถมโดนไม่รู้ตัวหรือไม่
“การตรวจเลือดในสถานการณ์ระลอกสอง...เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดี ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแต่ทราบสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศเท่านั้น แต่สามารถนำมาจำกัดการแพร่ได้”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายว่า การทดสอบ rapid test คือชุดตรวจเลือดจากปลายนิ้ว strip test ทางจุฬาฯใบยา โดย ดร.วรัญญู พูลเจริญ และ ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ได้เทียบเคียงกับ วิธีการตรวจแอนติบอดี ELISA ที่ทางศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ร่วมมือกับสิงคโปร์ Duke NUS
พบว่า...การตรวจทั้งสองแบบมีความแม่นยำพอ
โดยถ้าได้ผลบวกควรต้องตรวจต่อด้วยวิธี PCR แต่ในกรณีที่ได้ผลลบ แต่มีลักษณะต้องสงสัยควรต้องมีการตรวจซ้ำหลังจากนั้นอีก 3-5 วัน...เนื่องจากแอนติบอดีอาจยังไม่ขึ้น เพราะได้รับสัมผัสโรคมาหมาดๆ
“โปรตีนที่ใช้ในการตรวจชุดตรวจว่องไวปลายนิ้วนี้ได้จากใบยาที่กำหนดให้สร้างโปรตีนที่ประสงค์ ที่ใช้เป็น receptor binding protein ของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับชุดตรวจ ELISA ที่สามารถทำได้มากตามความต้องการขึ้นอยู่กับการปลูกพืชมากน้อยเท่าใด ถึงเวลาแล้วที่ต้องใช้ rapid test ใน
มาตรการระลอก 2 ที่เกิดขึ้น”
ตรวจจบใน 2 นาที ถ้า “บวก” แยกตัวทันทีตามด้วยแยงจมูก PCR เพราะมีแอนติบอดีบอกว่ามีติดเชื้อ แต่อาจติดนานเป็นเดือนแล้วหายแล้ว หรือกำลังติด กำลังปล่อยเชื้อ จึงต้องกักตัวและหาว่าปล่อยเชื้อได้หรือไม่?
ย้ำว่า...การตรวจเลือดปลายนิ้วด้วยชุดตรวจที่ไวที่สุด ไม่หลุดที่ว่านี้...ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 100 หรือ 100 กว่าบาท ปัญหามีว่า...ขณะนี้ยังไม่ได้มีการยอมรับให้ใช้ปฏิบัติ
ข้อกังวลในประเด็นเรื่อง...“สายพันธุ์” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำว่า ถ้าจะกลัวต้องถามตัวเองว่าขณะนี้ยังมีวินัยหรือไม่ คำว่า...สายพันธุ์หมายถึงไวรัสนั้นๆมีการผันแปรของรหัสพันธุกรรมจากเดิมจนคงที่
อย่าลืมว่า “ประเทศไทย” มีทุกสายพันธุ์ตั้งแต่เดือนมีนาคมแต่ไม่มีคนตายเป็น 10,000 เป็น 100,000 แสดงว่าระบบสาธารณสุขของเราเข้มแข็งจนถึงรากหญ้าและเป็นความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วน
การดูเรื่องสายพันธุ์ ตัวอย่างที่ชัดเจนมาเนิ่นนาน เช่น ในไวรัสเชื้อพิษสุนัขบ้า การปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมของไวรัสจะคล้องจองกับสัตว์แต่ละชนิดจนกระทั่งสามารถเป็นลายเซ็น (signature) ว่า...ถ้าพบเชื้อรหัสเช่นนี้ จะมีต้นตอจากค้างคาวชนิดไหน กินพืช กินแมลง สปีชีส์ อะไร เป็น...ไวรัสสกั๊ง หมาจิ้งจอก หมาป่า แรคคูน ฯลฯ
และ...ถ้าเสถียรจนกระทั่งกำหนดระยะฟักตัวคงที่ ระยะเวลาจนเสียชีวิต “ในสัตว์ทดลอง” มีระยะตายตัว จะเป็นสายพันธุ์ (strain) แต่รหัสจำเพาะเช่นนี้ไม่ได้กำหนดว่าจะแพร่เร็ว ช้า รุนแรงหรือไม่...“ในมนุษย์”
เพราะประสิทธิภาพในการแพร่ ความเสี่ยงในการติดและความรุนแรง มีปัจจัยภายนอกหลายอย่างและจากตัวไวรัสเองที่มีรหัสพันธุกรรมส่วนอื่นๆที่ยังคงผันแปรไปต่อเนื่อง แม้เมื่อเข้าคนคนนั้น จะปรับรหัสไปในระหว่างดำเนินการติดเชื้อ...“โควิด-19” มีลักษณะดังกล่าวเหมือนหัด ซิกาไวรัส โดยที่เชื้อซิกาที่เข้าแม่ขณะตั้งท้อง...
“เมื่อเข้าเลือด รก จนถึงเด็ก และสมองเด็ก จนหัวลีบ จะมีรหัสแตกต่างกันทุกระยะเพื่อหลบหลีกปราการภูมิคุ้มกันในระดับต่างๆจนไวรัสเมื่อถึงหัวเด็ก จะเป็นตัวจำเพาะที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของเซลล์สมอง”
สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่...วิถีนิวนอร์มอลที่ยังไม่รู้จุดสิ้นสุด “หมอดื้อ” ขอเสกคาถาปัดเป่าส่งท้ายปี 2563...สั้นๆว่า “ประเทศไทยหายป่วย หายไข้ เพี้ยง”.