แพทย์เตือน การศึกษาทางระบาดวิทยา ชี้ฝุ่น PM 2.5 ปริมาณสูง มีผลต่อการระบาดของโควิด-19 แนะปริมาณฝุ่นพุ่ง หากอยู่ในบ้านที่เปิดเฉพาะพัดลม กลุ่มเปราะบางควรสวมหน้ากากอนามัยด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เเถลงข่าวสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า เกี่ยวกับการเตรียมรับมือกับภัย PM 2.5 ซึ่งในเวลานี้นอกจากโควิด-19 เราต้องเผชิญกับศึกของฝุ่น PM 2.5 อีกด้าน ซึ่งหลายพื้นที่ในประเทศไทยกำลังเป็นพื้นที่สีแดง หรือสีม่วง เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อร่างกาย ทั้งนี้ 2 สภาวะนี้มีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากการศึกษาทางระบาดวิทยาของเมืองในยุโรปและอเมริกา พบว่า ในพื้นที่ที่มีปริมาณ ฝุ่น PM 2.5 ที่สูง จะมีโอกาสต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 เมื่อเข้าไปในระบบทางเดินหายใจจะไปทำลายภูมิคุ้มกัน ระบบการป้องกันในทางเดินหายใจ ทำให้เสี่ยงต่อโควิด-19 มากขึ้น
ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ อธิบายว่า แหล่งกำเนิด PM 2.5 เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มปฐมภูมิ ได้แก่ การเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง โรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียจากยานพาหนะ การก่อสร้าง การเผาไหม้ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งฝุ่นปฐมภูมิ เป็นฝุ่นที่ฟุ้งตลบอยู่รอบตัวเรา อีกกลุ่ม คือ กลุ่มทุติยภูมิ คือ ก๊าซบางอย่างที่จัดอยู่ในฝุ่นปฐมภูมิ เช่น แอมโมเนีย ไนโตรเจนไดออกไซด์ ฯลฯ มันจะลอยขึ้นสูงเหนือระดับพื้นหลายร้อยเมตร ทำปฏิกิริยากันก่อนจะตกลงมากลายเป็น PM 2.5 ทุติยภูมิ ซึ่งจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับฝุ่น PM 2.5 กลุ่มปฐมภูมิ
ทั้งนี้ ในช่วงหน้าหนาว สภาวะอากาศที่อัดแน่น ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 มีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น เวลาที่แดดออก แสงแดดเพียงพอ ก็จะทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นเจือจางลง
...
พอเราหายใจเอาฝุ่นเข้าไป ระบบทางเดินหายใจจะเป็นด่านแรกที่ได้รับผลกระทบ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่จมูก ปาก คอ หรือผิวหนัง ถ้าคนเป็นภูมิแพ้จะมีอาการมากขึ้น ส่วนคนที่เป็นโรคหืด หรือถุงลมโป่งพอง จะทำให้อาการของโรคกำเริบได้ง่ายขึ้น ส่วนคนที่เป็นโรคปอดอักเสบ รวมถึงโควิด-19 และวัณโรค ก็จะทำให้เกิดโรคง่ายขึ้นด้วย
ขณะที่หากเราสูดเอา PM 2.5 เข้าไปในร่างกายเป็นเวลานานๆ มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าจะทำให้สมรรถภาพปอดถดถอย ปอดไม่แข็งแรง ในระยะยาวอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม กลายเป็นมะเร็งปอดได้
ที่น่ากลัวคือ ยิ่งถ้าฝุ่นที่เล็กกว่า 0.3 ไมโครเมตรลงไป สามารถเล็ดลอดผ่านกระแสเลือดของเราเข้าไปยังปอดได้ และไปตามอวัยวะที่มีเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยง ในช่วงที่มีปริมาณฝุ่นสูง 1-2 วัน ส่งผลให้คนเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดในผู้ป่วยเพิ่มขึ้น สมองขาดเลือดมากขึ้น คนป่วยโรคไต อาจทำให้ไตเสื่อมเรื้อรังได้ง่ายขึ้น ทารกในครรภ์ผิดปกติ คลอดมามีน้ำหนักตัวน้อย คนที่จ้องหน้าจอบ่อยๆ อาจจะตาแห้งเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆ อีกเยอะที่เกี่ยวข้องกับปริมาณฝุ่นที่มากขึ้น
ส่วนการรับมือ PM 2.5 ประชาชนต้องรู้จักปรับเปลี่ยนผลกระทบ อาทิ การดื่มน้ำมากๆ เนื่องจากฝุ่นจะถูกขับออกมากับปัสสาวะ การกินอาหารทีมีสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างผัก ผลไม้ จะช่วยลดการอักเสบที่เกิดจากฝุ่นได้ การปลูกพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยดูดซับฝุ่นในระยะยาว
ในเรื่องการลดความสูญเสีย คนที่ไม่ออกนอกบ้าน ก็ต้องปรับสภาพพื้นที่ในบ้าน เช่น การอยู่ในบ้านที่ปิดสนิท เปิดเครื่องปรับอากาศ ก็จะช่วยลดปริมาณฝุ่นได้ 20-40% แต่ถ้ามีปริมาณฝุ่นสูงมาก ในห้องก็จะสูงไปด้วย ทำให้อาจจะต้องหาเครื่องกรองอากาศ หรือเครื่องฟอกอากาศมาเสริม ซึ่งหน่วยงานของรัฐก็จะต้องจัดหาให้เพียงพอ อย่าให้มีการขาดตลาด อันจะส่งผลต่อการปรับราคา และมีผลซ้ำเติมกับประชาชน ถ้าใช้พัดลม อาจจะต้องใส่หน้ากากอนามัย หากนอกบ้าน มีปริมาณฝุ่นที่สูง ในประชาชนกลุ่มเปราะบาง สมาชิกในครอบครัว ต้องดูแลเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ยังอยากให้รัฐทบทวนเกณฑ์มาตรฐานดัชนีวัดสภาพอากาศให้เป็นมาตรฐานเดียว เพิ่มสีเตือนอันตรายจากสภาพอากาศ เป็นสีม่วง และเลือดหมู เนื่องจากมีความเป็นห่วงคนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางจะได้รับผลกระทบ
ส่วนหน้ากากอนามัยที่จะช่วยป้องกัน PM 2.5 นั้น หน้ากากอนามัยที่ใช้ในช่วงโควิด-19 ที่ได้รับรองมาตรฐานสำหรับหน้ากากอนามัย จะสามารถกันฝุ่นได้ 40-60% เมื่อเราใส่ให้แนบไปกับใบหน้า ในขณะที่เราอยู่นิ่ง แต่ถ้าเคลื่อนไหว ประสิทธิภาพก็จะลดลง
ส่วนหน้ากากผ้ารุ่นเดิมที่เป็นเส้นใยธรรมชาติ หรือผ้าฝ้าย จะมีความถี่ของร่องกว้าง ใหญ่กว่าขนาดของฝุ่น PM 2.5 แต่หากมีการเสริมใยสังเคราะห์เข้าไปในเส้นใยธรรมชาติ จะทำให้ช่องความถี่เล็กลง ซึ่งหากสัมผัสจะพบว่าเป็นผ้าที่ยืดได้เล็กน้อย คุณสมบัติก็จะใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัยปกติ ส่วนหน้ากาก N95 ที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ จะแนะนำสำหรับกลุ่มคนที่จำเป็นต้องทำงานในที่สาธารณะ หรือทำงานกลางแจ้ง ซึ่งมีปริมาณฝุ่นสูง แต่ข้อจำกัดคือใส่ได้ไม่นาน ดังนั้นจึงต้องมีช่วงที่พัก หลังจากใส่หน้ากาก 1-2 ชั่วโมง
โดยหลักคือ หน้ากากที่กัน PM 2.5 ได้ดี จะทำให้การหายใจลำบากขึ้น อาจจะต้องมีช่วงพักที่ไม่ต้องสวมหน้ากากบ้าง.