วันนี้เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น วันชาติ วันพ่อแห่งชาติ ตลอดรัชสมัยที่ทรงครองราชย์กว่า 70 ปี พระองค์ทรงริเริ่มโครงการพระราชดำริเพื่อพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาความยากจนของพสกนิกรทั่วประเทศหลายพันโครงการ
ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตประธานศาลฎีกา อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตองคมนตรี ได้เล่าถึงพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรื่อง กฎหมาย ในหนังสือ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงเป็นนักกฎหมายโดยวิชาชีพ แต่ทรงเข้าถึงแก่นแท้และจิตวิญญาณของนักกฎหมายอย่างแท้จริง พระอัจฉริยภาพทางกฎหมายเรื่องหนึ่งที่ประทับอยู่ในดวงใจของผมตลอดมาคือ พระราชดำริในเรื่องความยุติธรรม อันความยุติธรรมนี้นักกฎหมายทุกคนทราบดีว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นสุดยอดแห่งความยากที่จะวินิจฉัยว่า สิ่งใดยุติธรรม สิ่งใดไม่ยุติธรรม ในหมู่นักกฎหมายด้วยกันเองก็ยังมีข้อถกเถียงกันได้อย่างไม่จบสิ้น
อุปสรรคหนึ่งที่สำคัญในระบบกฎหมายไทย ตั้งแต่ได้มีการปฏิรูประบบกฎหมายในครั้ง รัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบัน คือ เราถือตามหลักระบบกฎหมายอังกฤษที่ว่า “ตัวกฎหมายนั่นแหละคือความยุติธรรม” ดังนั้น แม้จะเห็นกันทั่วไปว่า กฎหมายบทนั้นบทนี้ไม่ยุติธรรม ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมนั้น จนกว่าจะได้แก้ไขกฎหมายนั้นเสียก่อน
สำหรับในเรื่องนี้ มีพระบรมราโชวาท องก์หนึ่งเกี่ยวกับความยุติธรรมกับกฎหมาย ซึ่งในแง่คิดที่ควรใคร่ครวญและศึกษาอย่างลึกซึ้งคือ
“...กฎหมายทั้งปวงนั้น เราบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นปัจจัยสำหรับรักษาความยุติธรรม กล่าวโดยสรุปคือ ใช้เป็นแบบแผนแห่งความประพฤติปฏิบัติของมหาชนสถานหนึ่ง กับใช้เป็นแม่บทในการพิจารณาตัดสินความประพฤติปฏิบัตินั้นๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้อง เที่ยงตรงอีกสถานหนึ่ง
...
โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรม ซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมาย และได้ผลที่ควรจะได้...”
แนวพระราชดำริดังกล่าวได้รับการน้อมนำมาบัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มาตรา 197 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์”
ศาสตราจารย์ธานินทร์ ระบุว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มคำว่า “โดยยุติธรรม” เข้ามาในรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน และวางไว้เป็นลำดับแรกก่อนคำว่า “ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย” น่าคิดได้ว่า ผู้ร่างมีเจตนารมณ์ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมมาเป็นลำดับแรก อันสอดคล้องกับพระบรมราโชวาทดังกล่าวข้างต้น ส่วนในทางปฏิบัติควรจะเป็นเช่นไรนั้น คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่ช่วยกันใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์เจาะทางตันสู่ความยุติธรรมต่อไป
ผมเปิดดู หมวดศาล ใน รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน มาตรา 188 วรรคแรกบัญญัติว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยมหากษัตริย์” วรรคสองบัญญัติว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง”
ไม่มีการบัญญัติให้พิจารณา “โดยยุติธรรม” แต่อย่างใด.
“ลม เปลี่ยนทิศ”