เผยสถิติเด็กไทย ร้อยละ 5 ใช้ชีวิตติดเกมขั้นหมกมุ่น กระทบพัฒนาการด้านภาษา การควบคุมตนเอง หรือ EQ จัดค่ายติดอาวุธให้เด็กใช้ป้องกัน

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดแถลงข่าวโครงการ ค่ายเด็กติดเกม “ไซเบอร์ อเวนเจอร์ แคมป์” (Cyber Avengers Camp) โดย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า วธ.ตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยขณะนี้ เด็กและเยาวชน ให้ความนิยมเล่นเกมกันมาก โดยเฉพาะเกมออนไลน์ ซึ่งเนื้อหาเกมเป็นสิ่งที่จะต้องเฝ้าระวัง ไม่ให้มีเนื้อหาที่ไม่ปลอดภัย อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้เล่น เพราะจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในทางที่ไม่เหมาะสม

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนให้สามารถคิดและวิเคราะห์ การเล่นเกมในโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ จึงร่วมกับสำนักบริการคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรศาสตร์ และกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม คิวบิกครีเอทีฟ จัดทำค่ายติดอาวุธป้องกันปัญหาติดเกม เพื่อสร้างการเรียนรู้การใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เป็นเยาวชนอายุ 9-14 ปี หรือกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ป.3-ม.2 จำนวน 200 คน ซึ่งจะทำให้ได้รับความรู้เท่าทันเกมผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถพัฒนาทักษะชีวิตโดยมีนักกิจกรรมและนักจิตวิทยามาให้ความรู้

รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่นประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่า ในปี 2561 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้การติดเกมเป็นโรคทางจิตเวช เพราะเมื่อสแกนสมองผู้ที่ติดสารเสพติดเปรียบเทียบกับผู้ป่วยติดเกม มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์สมอง และมีจุดที่สมองทำงานบกพร่องเหมือนกัน

สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงโรคติดเกมของประเทศไทยนั้น พบว่า เด็กและวัยรุ่น ร้อยละ 15-20 มีปัญหาการเล่นเกม ในจำนวนนี้ร้อยละ 5 อยู่ในภาวะติดเกม หรือ ใช้ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมอย่างหนัก ซึ่งมีอัตราที่สูงกว่าประเทศทางยุโรป ที่มีปัญหาเด็กติดเกมอยู่เพียงร้อยละ 1 ส่วนสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 2

รศ.นพ.ชาญวิทย์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่น่าห่วง พบว่าอายุของเด็กที่เริ่มติดเกมในประเทศไทยลดน้อยลงเรื่อยๆ จากปี 2543 เริ่มที่ระดับอุดมศึกษาปีที่ 1-2 ปัจจุบันพบเด็กติดเกมตั้งแต่ ป.4-6 ซึ่งการดูแลและปกป้องเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ให้เป็นโรคติดเกม จึงมีความสำคัญมาก เพราะสมองของมนุษย์จะพัฒนาในอัตราเร่งช่วงอายุ 1-6 ปี และพัฒนาต่อไปถึง 18 ปี หากเด็กในช่วงวัยดังกล่าวติดเกม จะกระทบต่อพัฒนาการด้านภาษา ด้านกล้ามเนื้อ การคิดวิเคราะห์ การควบคุมตนเอง หรือความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ที่จะลดน้อยลง

ทั้งนี้ จากการจัดค่ายป้องกันปัญหาติดเกมที่ผ่านมา ประเมินผลได้ในระดับดี โดย เด็กที่เข้าร่วมค่ายหายจากอาการติดเกมได้มากถึงร้อยละ 50 สำหรับผู้สนใจสามารถกรอกใบสมัครได้ที่ www.ku.ac.th/cyberavengers ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.-31 ม.ค. 2564 และประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้าสู่รอบออดิชั่นในวันที่ 12 ก.พ. 2564 เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกหรือ สอบถาม โทร.0-2562-0951 ถึง 6 ต่อ 622588, 622597 หรืออีเมล cyberavengers@ku.ac.th

...