โลกมีความหวังอีกก้าวหนึ่ง ในการใช้ วัคซีนหยุดยั้งโควิด-19 หลังบริษัทแอสตราเซเนกาของอังกฤษ ประกาศความสำเร็จในการทดสอบวัคซีนระบุได้ผลดียิ่ง องค์การอนามัยโลกห่วงช่วงคริสต์มาสปีนี้ อาจทำให้ชาวโลกมีความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสจากการรวมตัวเฉลิมฉลองเทศกาล ส่วนไทยปลื้ม แอสตราเซเนกาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้สยามไบโอไซเอนซ์
ความคืบหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. พบผู้ติดเชื้อในวันเดียวทั่วโลก 503,172 คน ส่งผลให้ยอดติดเชื้อรวมเพิ่มเป็น 59.5 ล้านคน และจะกลายเป็น 60 ล้านคนในวันถัดไป หากทิศทางการติดเชื้อยังไม่เปลี่ยนแปลง เสียชีวิตรวมกว่า 1.4 ล้านคน สหรัฐอเมริกา ยอดติดเชื้อรวมขยับเป็น 12.7 ล้านคน เสียชีวิตรวมกว่า 264,000 คน ขณะที่บรรยากาศในยุโรป ฝรั่งเศสมียอดติดเชื้อเพิ่มเป็น 2.14 ล้านคน รัสเซีย 2.13 ล้านคน สเปน 1.6 ล้านคน อังกฤษ 1.52 ล้านคน อิตาลี 1.43 ล้านคน เยอรมนีกว่า 946,700 คน ส่วนอาเซียน อินโดนีเซีย ยอดติดเชื้อรวมเพิ่มเป็นกว่า 502,000 คน ตามด้วยฟิลิปปินส์กว่า 421,700 คน
...
นางมาเรีย วาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ โควิด-19 องค์การอนามัยโลก (WHO) มองว่าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสปีนี้ รัฐบาลประเทศต่างๆควรสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับผลประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ จากการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวด ประชาชนทั่วไปก็ควรเลือกว่าการกระทำของตัวเองจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ครอบครัวญาติพี่น้องหรือไม่ แต่ไม่ว่าหนทางใดไม่มีทาง ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ทว่าที่ดูแล้วเสี่ยงน้อยที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงรวมตัวสังสรรค์เทศกาลคริสต์มาส ขณะที่สมเด็จพระสันตะปาปา ประมุขคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก วิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่ต่อต้านการสวมหน้ากากอนามัยว่า คนกลุ่มนี้อยู่แต่ในโลกของตัวเอง มองผลประโยชน์ของตัวเอง
วันเดียวกัน บริษัทเวชภัณฑ์แอสตราเซเนกาของอังกฤษ เผยความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่าผลการทดสอบพบว่า วัคซีน 1 โดสจะมีประ-สิทธิภาพป้องกันไวรัส 70% แต่ฉีด 2 โดสจะลดลงเหลือ 62% นอกจากนี้ การทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มหนึ่งได้เกิดความผิดพลาดเรื่องปริมาณการฉีดวัคซีน จึงทำให้อาสาสมัครได้รับวัคซีนไปเพียง 1 โดสครึ่ง โดยฉีดไปก่อน 1 โดส จากนั้นฉีดตามอีกแค่ครึ่งโดส ผลที่ออกมากลับกลายเป็นว่า มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสถึง 90% กรณีนี้อาจทำให้คนทั่วโลกมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนเพิ่มขึ้น ในเป้าการผลิตเดิม หรือ 700 ล้านโดส ในไตรมาสแรกของปี 2564 พร้อมระบุว่าวัคซีนมีราคาไม่กี่ดอลลาร์สหรัฐฯเทียบกับ ราคาวัคซีนบริษัทอื่นๆ อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา ถือเป็นเศษเสี้ยว ทั้งเก็บรักษาได้ง่าย ในอุณหภูมิช่องฟรีซตู้เย็น
บ่ายวันเดียวกันที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 และการจองวัคซีนล่วงหน้าของประเทศไทย นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่บริษัทแอสตราเซเนกา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประกาศประสิทธิภาพการทดสอบวัคซีนในคนระยะ 3 อยู่ที่ 70% วัคซีนดังกล่าวมีข้อตกลงร่วมกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนในโรงงานในไทย คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณเมื่อวันที่ 17 พ.ย.จำนวน 6 พันล้านบาท เพื่อจองวัคซีนและจัดซื้อ 26 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 13 ล้านคน เป็นข่าวดีและน่าภูมิใจที่ไทยได้มีส่วนร่วมในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้เริ่มมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทสยามไบโอ-ไซเอนซ์แล้ว ใช้เวลา 6 เดือน คาดว่ากลางปี 2564 เราจะมีวัคซีน จากข้อตกลงร่วมกันนี้ บริษัทแอสตราเซเนกาจะจำหน่ายวัคซีนให้กับไทยและประเทศอื่นๆในอาเซียนในราคาเท่าทุน สำหรับไทยข้อดีของการที่มีโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศ จะทำให้ ประหยัดค่าขนส่งวัคซีน
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อเรามีวัคซีนแล้ว ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีน เนื่องจากวัคซีนมีอายุการใช้งานจำกัด 6 เดือนถึง 1 ปี มีการ ผลิตและทยอยจัดส่ง จึงต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเป็น โดยอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งจะประชุมหาข้อสรุปกลางเดือน ธ.ค. และต้องจัดเตรียมสถานที่เก็บวัคซีน หากเป็นวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกากับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จะจัดเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส หรือเก็บในตู้เย็นทั่วไป ทั้งต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีน สำหรับโควิด-19 เราต้องเตรียมการ เพราะต้องทยอยฉีดกว่า 20 ล้านโดส ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 มี 5 ล้านโดส และ ต้องเตรียมระบบติดตามการใช้วัคซีน เช่น ผลกระทบข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน เป็นต้น