- ไขคำตอบ "น้ำเปล่า" มีวันหมดอายุจริงไหม?
- ขวดน้ำทิ้งไว้ในรถ กินแล้วอันตรายจริงหรือเปล่า
- ขวดน้ำพลาสติกมีค่า (ขวดแบบ PET) นำมาทำเสื้อผ้า-ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้
เคยสังเกตกันไหม เวลาซื้อน้ำดื่ม จะมีวันผลิตและวันหมดอายุอยู่ที่ขวดพลาสติกด้วย หากเป็นน้ำอัดลม น้ำชา หรือขนมอาจจะไม่ค่อยแปลกใจ เพราะมีส่วนผสมหลายอย่าง แตกต่างจาก "น้ำเปล่า" ที่ไม่ได้ผสมอะไร แล้วจะมีวันหมดอายุได้อย่างไร
น้ำเปล่า มีวันหมดอายุจริงหรือ?
แท้จริงแล้ว "น้ำเปล่า" ไม่มีวันหมดอายุ หากเก็บอยู่ในภาชนะที่ปิดสนิท แต่วันหมดอายุที่ระบุไว้นั้นเป็นของ บรรจุภันฑ์ หรือ ขวดน้ำพลาสติก ซึ่งปกติทางผู้ผลิตจะกำหนดเวลาหมดอายุภายใน 2 ปี
เนื่องจากพลาสติก PET (Polyethylene terephthalate) ที่นำมาผลิตขวดน้ำใสๆ ที่เราคุ้นตานั้น เป็นพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้ง เพื่อนำไปรีไซเคิลใหม่ หากพลาสติกหมดอายุแล้วจะเปราะแตก ทำให้น้ำภายในขวดรั่วซึม อาจเป็นสาเหตุทำให้เชื้อโรคต่างๆ เข้ามาปะปนกับน้ำดื่มได้ นอกจากนี้สารเคมีที่อยู่ในพลาสติกอาจจะละลายเข้าไปอยู่ในน้ำได้เช่นกัน
...
เขาเล่าว่า...ขวดน้ำที่อยู่ในรถ เมื่อนำมาดื่มแล้วจะเป็นมะเร็ง?
นอกจากอายุการใช้งานแล้ว อุณหภูมิยังมีผลด้วย หากเก็บขวดน้ำไว้ในที่อุณหภูมิสูงจัด พลาสติกจะอ่อนตัวลง สารเคมีที่ใช้เป็นองค์ประกอบในกระบวนการผลิตพลาสติกจะละลายปนเปื้อนกับน้ำในขวด หรือการนำน้ำไปแช่ในช่องแช่แข็ง เมื่อถึงจุดแข็งตัวขวดพลาสติกจะเปราะแตกและเกิดรอยรั่ว หากนำขวดที่เกิดรอยรั่วมาตั้งให้น้ำแข็งละลายแล้ว เชื้อโรคบริเวณโดยรอบอาจจะเข้าไปปนเปื้อนในน้ำดื่มได้ ที่สำคัญคือ ขวดพลาสติกที่นำมาบรรจุน้ำดื่ม เมื่อผ่านอุณหภูมิร้อน เย็น มาแล้ว ไม่ควรใช้ซ้ำเกิน 1-2 สัปดาห์
อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความรู้กรณี "วางขวดน้ำไว้ในรถแล้วจะมีสารก่อมะเร็งหรือไม่" ว่า ขวดน้ำพลาสติก PET สามารถเก็บน้ำ และวางไว้ในรถได้ แม้จะตากแดดร้อน โดยมีงานวิจัยพบว่า ถ้าจะให้เกิดสารอันตรายอื่นๆ เช่น phthalate และพลวง ที่ละลายออกมาจากขวดลงไปในน้ำมากเกินมาตรฐาน ก็จะต้องใส่ตั้งขวดไว้ในที่ร้อน อุณหภูมิเกิน 60 องศาเซลเซียส นานเป็นเวลาเกิน 11 เดือน
ส่วนในไทยเองนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้เคยสุ่มตรวจขวดน้ำ PET กว่า 10 บริษัท พบว่าค่าสารที่ละลายออกมานั้นอยู่ในมาตรฐาน และการนำขวดมาใช้ซ้ำนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า ไม่น่ามีปัญหาเรื่องสารเคมีปนออกมา แต่อาจมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่มากกว่า ถ้าล้างไม่ดีพอก่อนที่จะบรรจุซ้ำใหม่
สรุปว่า น้ำที่เก็บในรถนั้นไม่ได้อันตราย หรือก่อมะเร็ง ขวดพลาสติก PET สามารถเก็บน้ำได้นาน (แต่ไม่ใช่ตากแดดไว้เป็นแรมปี) และถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ควรเอามาใช้ซ้ำ หรือถ้าจะใช้ซ้ำ ก็ต้องล้างให้มั่นใจว่าสะอาดปราศจากเชื้อโรคปนเปื้อนจริง
ขวดพลาสติก PET รีไซเคิลใหม่ได้ ไม่มีวันสิ้นสุด
อย่างที่บอกไปว่า ขวดพลาสติก PET นั้น สามารถนำมารีไซเคิลได้ไม่มีที่สิ้นสุด เพียงแยกขยะทิ้งอย่างถูกต้อง ก็สามารถนำมาผลิตเป็นขวดน้ำแบบเดิม หรือนำไปผลิตเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน รวมไปถึงการผลิตเป็นเส้นใยใช้ในการทอเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งในปัจจุบันแบรนด์ดัง เช่น เครื่องดื่มตราช้าง, อาดิดาส, ไนกี้ หลายแบรนด์ได้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม นำคุณสมบัติพลาสติก PET มาทำเป็นเครื่องนุ่งห่มกันอย่างแพร่หลาย
สำหรับขั้นตอนการนำขวดพลาสติกใช้แล้วมาเข้าสู่กระบวนการต่างๆ เริ่มจากการคัดแยก แยกสี โดยขวดพลาสติกที่นิ่มเกินไปไม่สามารถนำมาผลิตเป็นเสื้อผ้าได้ จากนั้นส่งไปที่ศูนย์รีไซเคิล เพื่อล้างทำความสะอาดรอบแรก จะตัดขวดเป็นชิ้น หรือแผ่น หรือบดให้ละเอียด แล้วล้างอีกรอบ และทำให้แห้งสนิท จากนั้นจะนำแผ่นพลาสติกเล็กๆ มาถูกหลอมครั้งที่ 1 เพื่อยืดเป็นเส้น จากนั้นจะนำมาหั่นเป็นท่อนเล็กๆ นำไปหลอมครั้งที่ 2 เพื่อทำเป็นใยผ้าขนาดเล็กเท่าเส้นด้าย ก่อนที่จะส่งต่อไปโรงงานทอผ้าต่อไป.
ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟิก : Supassara Traiyansuwan