เทอโรซอร์ (pterosaur) เป็นกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานที่บินเร็วที่สุดในโลกในยุคมีโซโซอิก สัตว์โบราณกลุ่มนี้ความหลากหลายทางสัณฐานวิทยาของ “ฟัน” ที่น่าประหลาดใจ ล่าสุด นักวิจัยจากศูนย์วิจัยโบราณชีววิทยาของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์และมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ในอังกฤษได้พบเบาะแสจากฟันที่จะช่วยไขปริศนาวิถีชีวิตของเทอโรซอร์ได้

จากการใช้กล้องจุลทรรศน์วิเคราะห์รูปแบบการสึกและแบบแผนการบริโภคจากร่องรอยการสึกขนาดเล็กบนผิวฟันของเทอโรซอร์ 17 ชนิด และเปรียบเทียบฟันเหล่านี้กับรูปแบบที่คล้ายกันบนฟันสัตว์เลื้อยคลานยุคปัจจุบัน อย่างกิ้งก่าและสัตว์ในอันดับจระเข้ ซึ่งได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆเกี่ยวกับอาหารและพฤติกรรมของเทอโรซอร์ การวิเคราะห์บ่งบอกว่าสัตว์เลื้อยคลานยุคใหม่ที่มีการสึกกร่อนบนผิวฟัน มีแนวโน้มที่จะกินของที่เคี้ยวกรุบกรอบอย่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีเปลือก เช่น กินแมลงเต่าทองหรือปู ในขณะที่สัตว์เลื้อยคลานที่กินของอ่อนเป็นหลักอย่างกินปลาก็จะมีผิวฟันที่เรียบกว่า การใช้เทคนิคนี้กับเทอโรซอร์ก็ทำให้กำหนดชนิดสัตว์ที่เป็นเหยื่ออันโอชะของเทอโรซอร์ได้

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ เรมโฟริงคัส (Rhamphorhynchus) เป็นเทอโรซอร์มีหางยาวจากยุคจูราสสิก เมื่อวัยเด็กมันจะกินอาหารที่มีแมลงเป็นส่วนประกอบ ในขณะพวกที่โตเต็มวัยขนาดเท่ากับนกนางนวลตัวใหญ่ มีแนวโน้มที่จะกินปลามากกว่า ทีมวิจัยคาดการณ์ว่าวิธีนี้จะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานใหม่สำหรับการตีความด้านอาหารสัตว์เลื้อยคลานที่สูญพันธุ์ได้อย่างถ่องแท้ และจะปูทางไปสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับระบบนิเวศโบราณ.

(ภาพ : Credit : University of Birmingham)