เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา องค์กรไวล์ดเอด ร่วมกับ ไทยรัฐทีวี จัด #ทอล์กนี้เพื่อเปลี่ยน ตอนสุดท้าย มองไปข้างหน้าว่า เราทุกคนจะมีส่วนป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดแบบ โควิด-19 อีกอย่างไรบ้าง? โดยมี ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ หัวหน้าทีมผู้ตรวจพบเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในผู้ป่วยนอกประเทศจีนคนแรก และคุณมารีญา พูลเลิศลาภ ผู้ร่วมก่อตั้ง SOS Earth และ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2017 ร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย คุณโน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงและทูตองค์กรไวล์ดเอด

ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า เชื้อโรคจากสัตว์ป่าอยู่ในตัวของสัตว์ป่าอยู่แล้ว แต่วันที่เชื้อก่อโรคในคน เราเองที่เดินไปหาเชื้อโรคเหล่านั้นมากกว่า เช่น การนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง เป็นความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะมาหาเราเมื่อไหร่ก็ได้ โดยธรรมชาติไวรัสจะปรับตัว และทวีความรุนแรงขึ้น มีตัวอย่างหลายโรค เช่น ไข้สมองอักเสบนิปาห์ ซึ่งระบาดครั้งแรกในมาเลเซีย มีการทำลายพื้นที่ป่า เข้าไปตั้งฟาร์มหมู ทำให้ค้างคาวและหมูใกล้ชิดกันมากขึ้น เชื้ออยู่ในค้างคาวอยู่แล้วเป็นร้อยปี พอเชื้อไปติดหมู มีอาการไอเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ แต่พอคนไปชำแหละหมู ติดเชื้อจากหมู กลายเป็นคนติดเชื้อในสมอง เป็นไข้สมองอักเสบ ทั้งๆ ที่เป็นเชื้อโรคตัวเดียวกัน หากถามว่าเชื้อไวรัสทุกวันนี้มันเกิดใหม่เหรอ จริงๆ มีอยู่แล้วในสัตว์แต่ละชนิด แต่รอจังหวะ เวลา และโอกาสในการเดินทางไปต่อ มีการคำนวณว่าโลกของเรามีโรคจากเชื้อไวรัสใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างน้อยปีละ 3 โรค ซึ่งอาจจะเป็นโรคที่ไม่รุนแรงก็ได้ ถ้าโชคดีไม่ใช่โรคติดต่อรุนแรง คนที่ได้รับเชื้อก็จะหายเอง

“โควิด-19 ทำให้เราเห็นภาพคำว่า สุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งใช้มามากกว่า 10 ปีแล้วชัดเจนยิ่งขึ้น ว่า สุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน ที่จะต้องเดินไปด้วยกัน เราจะเน้นแค่สุขภาพคนโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็จะกระทบกับสัตว์ป่า ซึ่งมีเชื้ออยู่ในตัวเองมากมาย ถ้าอยากให้ทุกอย่างดี ต้องใส่ใจสุขภาพของทุกภาคส่วน” ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ กล่าว

คุณมารีญา พูลเลิศลาภ กล่าวว่า โควิด-19 เป็นเหมือนสัญญาณเตือน เพื่อให้เราตระหนักถึงปัญหาที่ใหญ่กว่า นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โควิด-19 อาจทำให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมลดน้อยหายไป แต่จริงๆ แล้วถ้าโลกสุขภาพดี เราก็จะสุขภาพดีเหมือนกัน ถ้าเรารู้ตรงนี้ ก็น่าจะกระตุ้นให้เราลุกขึ้นมาเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น การที่เราจะมีชีวิตแบบยั่งยืน คือการที่เราต้องวางแผน เช่น การเอาขวดน้ำไปเอง พกภาชนะไว้ใส่อาหารกลับบ้าน ลดการบริโภคเนื้อสัตว์เพียงแค่สัปดาห์ละครั้งก็ช่วยได้เยอะมาก เป็นผู้บริโภคที่มีสติมากขึ้น ว่าเรากำลังสนับสนุนบริษัทที่มีระบบการค้าที่เป็นธรรมหรือไม่ นอกจากนั้น ปัญหาหนึ่งของไทย คือ ขยะไม่สะอาด ไม่สามารถนำไปเผาเป็นพลังงานได้ ทำให้มีขยะในที่ฝังกลบมากเกินไป เพียงแค่ล้างบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารก่อนทิ้งลงถังขยะ ก็จะช่วยได้มาก”

“คิดก่อนทำ เพราะการกระทำของเราทุกอย่างมันมีผลกระทบ ที่ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ถ้าพูดถึงสัตว์ป่า มันเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องรักษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ การที่เรานำสัตว์ป่ามาอยู่ในเมือง ในบ้าน เป็นอะไรที่ผิดธรรมชาติ และรบกวนระบบนิเวศ เมื่อระบบนิเวศปั่นป่วน ก็จะส่งผลกระทบหลายๆ อย่างตามมา เช่น โรคระบาดแบบโควิด-19” คุณมารีญา กล่าว

คุณโน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ ผู้ดำเนินรายการ และในฐานะทูตองค์กรไวล์ดเอด กล่าวทิ้งท้ายว่า “สุขภาพของเรา ของสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอากาศ น้ำ ป่าไม้ ทุกอย่างโยงใยถึงกันหมด ถ้าเราปกป้องสิ่งเหล่านี้ ก็เท่ากับว่าปกป้องสุขภาพเราเองด้วย สิ่งหนึ่งที่ทุกคนทำได้ง่ายที่สุด คือ การไม่กิน ไม่ล่า ไม่ค้า ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง”

ติดตามชมรายการทอล์กนี้เพื่อเปลี่ยน ตอน ปกป้องเขา ปกป้องเรา ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/WildAidThailand/videos/395041445204575