จากการเสวนา “ปฏิรูประบบสุขภาพเมืองกรุงแนวใหม่ : สปสช.เปิดเกณฑ์เชิญสถานพยาบาลเข้าร่วมระบบบัตรทอง” จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ระยะนี้ที่ สปสช.ยกเลิกหน่วยบริการปฐมภูมิไป และอยู่ระหว่างหาคลินิกมาร่วมให้บริการ ทำให้มีผู้มารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.มากขึ้น ประมาณ 50% กทม.ได้หามาตรการรองรับต่างๆ เช่น การจ้างแพทย์ที่เกษียณแล้วมาช่วยตรวจ หรือขยายเวลาตรวจให้มากขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกันช่วงนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิใน กทม.ใหม่ โดยบริหารแบบ Area Base หรือการยึดพื้นที่เป็นหลักเพื่อให้ผู้บริหารจัดการสามารถรู้สภาวะในพื้นที่ และทำโครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่ กทม.มีหน่วยบริการกว่า 4,000 แห่ง จำนวนนี้เป็นคลินิกเวชกรรมกว่า 2,000 แห่ง คลินิกเฉพาะทางอีกกว่า 200 แห่ง ที่เหลือเป็นคลินิกรูปแบบอื่นๆ ซึ่ง สปสช.อยู่ระหว่างเชิญชวนหน่วยบริการเหล่านี้เข้ามาเป็นเครือข่ายร่วมดูแลประชาชนในพื้นที่ส่วนศูนย์บริการสาธารณสุขในแต่ละเขตก็จะเป็นแม่ข่ายในการจัดการสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ โดยทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่าย ช่วยแนะนำสนับสนุนการทำงานของคลินิกเหล่านี้ให้อยู่ในระบบที่กำหนด

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในอดีตประชาชนต้องไปลงทะเบียนหน่วยบริการประจำกับคลินิกเดียว แล้วไปใช้บริการที่คลินิกนั้น แต่ระบบใหม่จะเปลี่ยนระบบการทำงานเป็นเครือข่าย ระบบนี้จะนำร่องพื้นที่ กทม.ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 ช่วงนี้อยู่ระหว่างรับสมัครคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย ซึ่งคลินิกที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้ 2 ลักษณะคือเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ อีกส่วนคือหน่วยร่วมบริการ เช่น คลินิกเฉพาะทางหรือเปิดบริการไม่ถึง 56 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับประชาชน 2 ล้านคนที่เป็นสิทธิว่างขณะนี้สามารถรับบริการที่ไหนก็ได้ แต่วันที่ 1 พ.ย.2563 จะมีคลินิกใหม่มารองรับ สปสช.จะลงทะเบียนหน่วยบริการใหม่ให้อยู่ใกล้คลินิกเดิมมากที่สุด.

...