เมื่อวันที่ 7 ต.ค. งานเสวนาวิชาการสาธารณะ “การเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง” จัดโดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่า เด็กปฐมวัยช่วง 6 ปีแรกสมองอยู่ระหว่างการสร้างเซลล์เส้นใยประสาท หากถูกกระตุ้นด้วยความกลัวต่อเนื่องจะมีผลระยะยาวเมื่อโตขึ้นทำให้พัฒนาการล่าช้า ก้าวร้าว หรือมองต่ำต้อย ไม่มีคุณค่า และยังส่งผลไปถึงการติดเชื้อในกลุ่มโรคไม่ติดต่อง่ายขึ้น

เหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวเห็นชัดถึงการคุกคามทางอารมณ์ทำให้เด็กหวาดกลัว รวมถึงการกระทำทางร่างกาย เป็นการเลี้ยงดูไม่เหมาะสมปัญหาคือโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก เป็นศูนย์ดูแลเยียวยาเด็กไม่ใช่แหล่งทำร้ายเด็ก แต่เชื่อว่ามีจำนวนน้อย เพราะสถิติเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่มาจากคนใกล้ชิดในครอบครัว การฟื้นฟูทำได้ง่าย ต้องค้นหาให้เร็ว อย่าปล่อยเด็กถูกกระทำระยะเวลานานเกินไป กระบวนการดูแลเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ให้เด็กรู้สึกมีตัวตน ปลอดภัย การยิ้มโอบกอดสัมผัส เป็นสัมพันธภาพที่จะช่วยฟื้นฟูเด็ก ทั้งนี้ โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กมีข้อกำหนดถึงมาตรฐานในการให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อมและบุคคลอยู่แล้ว เพียงแต่ทางปฏิบัติทำหรือไม่

ด้าน พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการคลินิกและศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ม.มหิดล กล่าวว่า เด็กเมื่อได้รับความรุนแรง จะเข้าสู่ความทรงจำและฮอร์โมนในร่างกายจะถูกกระตุ้นโดยเฉพาะความเครียด เมื่อถูกกระทำต่อเนื่องจะส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น นอนผวา กินน้อยลง การขับถ่ายมีปัญหา และยังส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้และสมาธิเด็กที่ทำให้ด้อยการพัฒนาหรือไม่ทำงาน บทบาทพ่อแม่ในการเยียวยาเป็นสิ่งสำคัญ หมั่นสังเกตพฤติกรรมอารมณ์ลูกเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ด้วยการพูดคุยอย่างเข้าใจและมีสัมพันธภาพที่ดี หรือถามด้วยการเล่นบทบาทสมมติ จะได้คำตอบ สิ่งที่จะช่วยเยียวยาบาดแผลในใจเด็กคือความรักความอบอุ่นการกอดสัมผัสจากพ่อแม่ สำหรับตัวครูก็ต้องสำรวจความพร้อมตัวเองก่อนสอนเด็ก หากมีปัญหาในชีวิตมีความเครียดต้องแจ้งผู้บริหาร ซึ่งก็ต้องมีระบบรองรับดูแลครูด้วย นอกจากนี้ ครูควรจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัย โดยเฉพาะเด็กเล็กเป็นวัยอยากรู้อยากเห็น การเรียนรู้ต้องเน้นการละเล่นการสัมผัสปฏิบัติ ไม่ใช่บังคับให้เด็กนั่งนิ่งๆเขียนอ่าน.

...