“ครู”...อีกสถานะอาชีพที่ ต้องยอมรับว่าอยู่ในสภาวะ “ศรัทธา” ถดถอยลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่มี ข่าวคลิปโรงเรียนดังออกมาแฉรายวัน และยิ่งเป็น...“ครูเด็กเล็ก” ด้วยแล้วก็ยิ่งดูจะเป็นที่สนใจอยู่ในกระแสสังคมมากเป็นพิเศษ
คำถามสำคัญมีว่า “ครู” ที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น ควรจะเป็นเช่นใด?
ดร.วรศักดิ์ อัครเดชเรืองศรี ผู้อำนวยการและผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนภูมิสมิทธ์ ถนนหทัยราษฎร์ ย่านมีนบุรี บอกว่า สำหรับครูเด็กเล็กสิ่งที่ต้องมีก็คือต้องมองโครงสร้างของเด็กในแต่ละช่วงวัยว่าต้องการอะไร อนุบาลก็มีความต้องการอย่างหนึ่ง มัธยม...มัธยมปลาย...มหาวิทยาลัยก็ต้องการอย่างหนึ่ง
เด็กระดับชั้น “อนุบาล 1-3” สิ่งที่เราต้องการพัฒนาการเขาก็คือทางด้าน ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และ สติปัญญา ฉะนั้น “คุณครูที่ดี” ในช่วงวัยนี้จะต้องเข้าใจสิ่งเหล่านี้ สร้างพัฒนาการตามช่วงวัยของเขา
...
“ครูที่ดี” ทักษะแรกสำคัญมากคือ “จิตวิญญาณครู” รวมถึง “จิตวิทยาเด็ก” ด้วย...ครูก็คือคนที่มีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีจิตใจ มีครอบครัว มีสังคม มีปัญหา เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่มีปัญหา และเมื่อไหร่กลับมาทำหน้าที่ของเรา จะต้องทำหน้าที่...จิตวิญญาณครูต้องมา ต้องละทิ้งสิ่งเหล่านั้นไว้ ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ที่สุด
ประเด็นต่อมา...ต้องมีจิตวิญญาณความเป็นแม่ ครูอนุบาลชัดเจนว่าต้องมี “แม่คือรักลูก” ถ้าครูมีจิตวิญญาณความเป็นแม่ก็จะรักลูกศิษย์ รักเด็ก จะมีความเมตตากรุณากับเด็ก ไม่ทำอะไรที่รุนแรงกับเด็ก
ประเด็นที่สามที่ต้องมี...ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับเด็ก ต้องรู้ความเป็นตัวตนของเด็กแต่ละคน เพราะกว่าที่เด็กจะเข้ามาอยู่ในความดูแลของครู เขาต้องปรับตัวกับโรงเรียนกับครู เป็นเรื่องพื้นฐานที่เด็กจะกลัวคนแปลกหน้า ต้องถูกส่งมาโรงเรียน...ครูต้องเข้าใจ
ประเด็นที่สี่...ครูต้องใจเย็น เป็นอีกพื้นฐานสำคัญของครูปฐมวัย หลังจากที่เด็กๆเข้ามาโรงเรียน “คุณครู” จะกลายเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เหมือนเป็นแม่คนที่สอง แต่ในห้องเรียนก็ไม่ได้มีลูกแค่คนเดียว
แม่คนหนึ่งจะมีลูกมากน้อยตามบริบทของแต่ละโรงเรียน...เมื่อไหร่ที่ลูกมาโรงเรียนหิวข้าวก็บอกแม่ อยากอ่านหนังสือ เข้าห้องน้ำ ปวดฉี่ ปวดอึ...ก็บอกแม่ เด็กคนหนึ่งมีความต้องการสองสามเรื่องพุ่งตรงไปที่แม่คนเดียว แน่นอนเมื่อแม่มีลูกๆหลายๆคนก็ต้องเกิดความเครียด คุณสมบัติ “ความใจเย็น” จึงสำคัญมากๆ
ประเด็นสุดท้าย...ต้องช่างสังเกต เพราะเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการ มีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน ครูต้องทำความเข้าใจ รวมทั้งกายภาพของเด็กๆ ด้วยว่าคนนี้มีปัญหาอะไร แพ้อะไร...ต้องสังเกต จดจำ
คุณสมบัติ 5 ประการที่กล่าวมานี้...อย่างน้อยเป็นพื้นฐานก็จะทำให้เป็น “ครูปฐมวัย” ที่ดีได้ และในฐานะผู้บริหารโรงเรียนจะมีวิธีคัดครูดีได้อย่างไรนั้น ดร.วรศักดิ์ ยกตัวอย่างโรงเรียนของเราในสายอนุบาลจะประกอบด้วยครูประจำชั้นเป็นครูหลัก แล้วก็ผู้ช่วยครู ที่อื่นอาจจะเรียกว่าครูพี่เลี้ยง...อันดับแรกเลยเราต้องได้ครูหลักก่อน
“เราเลือกจากโปรไฟล์ คุณสมบัติครบถ้วนตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดหรือไม่ ซึ่งก็ยังไม่พอเพียง ก็ต้องสัมภาษณ์อย่างหนัก เข้มข้น...ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์หลายอย่างในการที่จะประเมินครูมาทำงาน บางทีอาจจะต้องกดดันเพื่อดูความอดทน ทำให้เกิดความเครียดเพื่อที่จะดูการบริหารความเครียด”
ผ่านด่านแรกไปได้แล้วก็เข้าสู่...ขั้นตอนทดลองงาน สอนงาน นิเทศการสอน ติดตาม โคชชิ่ง แล้วก็ประเมินผล...วนไปวนมาจนนิ่ง เมื่อได้ครูหลัก ...ครูประจำชั้นที่ดีแล้ว ในส่วนครูพี่เลี้ยง ก็มีแค่หน้าที่เป็นผู้ช่วย แยกหน้าที่ บทบาทออกมาอย่างชัดเจน เป็นลำดับชั้นการทำงานตามหน้าที่จะไม่มีใครทำอะไรนอกลู่นอกทาง
ปัญหาอาจจะมี มีบ้างแต่ไม่คงถึงขั้นรุนแรง ควบคุมไม่ได้
“เด็กชั้นอนุบาล”...เป็นช่วงวัยสำคัญในการสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ดร.สุพรรณี อัครเดชเรืองศรี ผู้จัดการโรงเรียนภูมิสมิทธ์ เสริมว่า การเรียนการสอนตามวิสัยทัศน์เราจะเน้นเด็กทุกคนต้องได้รับพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาและต้องจัดประสบการณ์ให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข เหมาะสมกับวัย...
มีทักษะชีวิต และปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นคนดี มีวินัย มีความเป็นไทย ทั้งหมดเหล่านี้ก็ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
“ตรงนี้สำคัญสุดๆ บอกอยู่แล้วว่าถ้าคุณสอนตามหลักสูตรที่กำหนดมา คำถามที่เกิดก็คือ...เด็กจะเกิดทักษะชีวิตได้อย่างไร เด็กจะมีคุณธรรมและจริยธรรมไหม ถ้าจัดการเรียนตามหลักสูตรเป้าหมายเหล่านี้ก็จะมาเอง แต่ทุกวันนี้...ด้วยค่านิยมผู้ปกครอง สังคมที่มุ่งหมายอยากให้เด็กอ่านออก เขียนได้ เรียนเก่งเป็นการเขียนตามที่ครูบอก
แต่...ทักษะความคิด คิดด้วยตัวเอง ทำเอง เป็นตัวแปรสำคัญที่โรงเรียนต้องพัฒนาให้เกิดกับเด็กกลายเป็นว่าพัฒนาการของเด็กเป็นเรื่องรองลงมา”
“จิตวิทยาเด็ก”...เป็นประเด็นที่ลืมเลือนในระบบการศึกษาไทย ในแต่ละช่วงอายุของเด็ก เด็กควรที่จะทำอะไรได้บ้าง...3-4 ขวบทำอะไรได้ 4-5 ขวบทำอะไรได้ 5-6 ขวบทำอะไรได้ก็จะไม่เกิดการจัดลำดับความสำคัญที่ผิด
เมื่อไหร่ที่รู้ว่าพัฒนาการเด็กควรดำเนินและเป็นไปเช่นนี้ ก็จะไม่มีความต้องการเอาพัฒนาการเด็กที่ขึ้น ป.1 มายัดใส่เด็กปฐมวัย ยังไงก็ต้องขัดใจ
กรณีปัญหา “ระบบการศึกษา” ที่เกิดขึ้นในวันนี้อาจจะเป็นยอดภูเขา น้ำแข็งภายใต้การกำกับดูแลของ “กระทรวงศึกษาธิการ” ที่โผล่มาให้เห็น ซึ่งยังซุกซ่อนฐานปัญหาที่ยิ่งใหญ่เอาไว้อีกมาก
ดร.วรศักดิ์ เสริมว่า ถ้าเราใช้วิกฤติเป็นโอกาสแล้วมาปรับเปลี่ยนแก้ไขจะเป็นสิ่งที่ดีมากกว่าที่เราจะมานั่งจับผิด เลือกข้าง กระทรวงศึกษาธิการจะทำอะไรก็ต้องมาดูกันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ระบบการศึกษาเรามีการแข่งขัน การสอบเข้าตั้งแต่ ม.1 ถึงจะยกเลิก ป.1 ก็ไม่มีผล เพราะจะถูก ดันลงมา ผลักมาเรื่อยๆอยู่ดี
หมายถึงว่า...เมื่อเด็กประถมต้องเรียนมากขึ้นๆเพื่อปลายทางแข่งขันสอบเข้า ก็สะท้อนมาที่เด็กอนุบาล จนอาจจะลืมเรื่องพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ที่ไม่ควรไปเน้นไอคิววิชาการมากนัก กลายเป็นว่าเพราะสิ่งที่อยู่ข้างบนผลักมาสู่ด้านล่างทำให้ต้องมาเน้นการแข่งขันวิชาการกัน
เกิดค่านิยมที่ผู้ปกครองเอามาเปรียบเทียบ ซึ่งก็เข้าใจผู้ปกครอง แต่ว่า...ผลที่ตามมาก็คือกดดันตัวเอง กดดันนักเรียน กดดันครู กดดันโรงเรียน...ถึงตรงนี้เมื่อเห็นปัญหาเหล่านี้แล้วจะแก้ไขอย่างไร?
ทักษะต่อไปที่จะเกิดขึ้นใน “ศตวรรษที่ 21” ไม่ใช่เรื่องของการเก่งวิชาการ หากแต่เป็นทักษะอื่น...คิดอย่างมีวิจารณญาณ สร้างสรรค์ การทำงานร่วมกันเป็นทีม...เป็นอีกสิ่งที่เด็กๆคนไทยไม่ค่อยมี มีแต่ต่างคนต่างเก่ง
“เราจึงไม่ค่อยมีคนที่เก่งแบบเป็นทีม อย่างนักกีฬาก็เก่งแบบเดี่ยวๆ มากกว่า ต้องยอมรับว่าเรายังขาดทักษะเก่งแบบเป็นทีมมาก”
“ระบบการศึกษาไทย” ที่ประเทศไทย...คนไทย...เยาวชนไทยต้องการในอนาคต ต้องยกระดับ ต้องรื้อกันใหม่...เราควรทำอย่างไร ปัญหาจึงจะไม่เกิด คนที่มองเห็นปัญหาจึงจะคลี่คลายปัญหาได้ เงื่อนปมฝังรากลึกระบบการศึกษาไทยถ้าให้นักการศึกษามองภาพอาจจะไม่ชัด แต่ถ้า “นักจิตวิทยาเด็ก” มองจะเห็นปัญหาชัดเจนมาก
ปัญหานี้มองมิติเดียวไม่ได้ นอกจากมิติครู มิติโรงเรียน...แล้วต้องมองมิติผู้ปกครองในภาพรวม ต้องยอมรับว่าผู้ปกครองก็มีค่านิยมต้องการให้ลูกเรียนเก่งๆ เก่งภาษา ต้องการให้ลูกพูด...ฯลฯ แต่ลืมไปว่าก็ต้องเป็นไปตามพัฒนาการของเด็กด้วย เมื่อบวกกับมิติทางสังคม การแข่งขันสอบเข้าก็เป็นปัญหาทับซ้อนซ้อนทับกันไปเรื่อยๆ
“ระบบการศึกษาไทย” ที่สมบูรณ์นอกจากมี “ครู” ที่ดี ยังต้องเชื่อมโยงในทุกมิติรอบด้าน ยิ่งมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่มากก็ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขัน มุ่งแต่เอาชนะ...จนยากที่จะเดินไปสู่อนาคตที่มั่นคง.