“เมียวดี” ...มีการแพร่กระจายในชุมชนแล้วเช้านี้ เคสนี้มาจากย่างกุ้งตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2563 มาพักโรงแรมและเดินทางไปทั่วเมียวดี หลังจากนั้นวันที่ 22 กันยายน มีคนพาไปอยู่ในสถานที่กักกันและตรวจผลบวกเมื่อวาน สอบสวนเบื้องต้นพบคนใกล้ชิด 18 คน แล็บบวกแล้ว 1 คน

เท่ากับว่า...มีการแพร่กระจายในเมืองเมียวดีแล้วค่ะ ยังไม่มีการประกาศล็อกดาวน์เมียวดีนะคะให้ระมัดระวัง...คนพม่า รถพม่า และคนข้ามแดนให้หนักเลย

สวมแมสก์ ล้างมือ อยู่ห่างๆคนที่เสี่ยง โดยเฉพาะคนและรถที่ข้ามแดน #ยกการ์ด100%

ย้อนไปราว 2 ชั่วโมง รายงานก่อนหน้านี้ระบุว่า วันก่อน...มีเคส มาจาก “ย่างกุ้ง” บวก 1 คน มีคนสัมผัส 100 กว่าคน เมื่อวานมาจากย่างกุ้งบวก 1 คน มีคนสัมผัส 12 คน ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลเมียวดี ผู้สัมผัส อยู่ในสถานที่กักกันรอตรวจแล็บ...ผู้สัมผัสเท่าที่คาด แต่ผู้สัมผัสจริงๆไม่ทราบ

รถข้ามแดนรอการจัดการ...ตรงนี้คือจุดรั่วให้พวกเราระวังให้ดีด้วย

ขอให้คนไทยที่อยู่ชายแดนตั้งการ์ด สวมแมสก์ ล้างมือ อยู่ห่างๆ ผู้ที่มีความเสี่ยง

...

#ยกการ์ด100% จบการรายงานข่าวเช้านี้

ข้อมูลข้างต้นมาจากเฟซบุ๊กเพจ “เรื่องเล่าหมอชายแดน” โพสต์ไว้ช่วงเช้าวันที่ 29 กันยายน 2563

แนวชายแดน “ไทย”–“พม่า” มีแนวยาวระยะทางรวมประมาณ 2,401 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับ 10 จังหวัดประเทศไทย สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส “โควิด–19” ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พบผู้ติดเชื้อ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่น่ากังวลคือความมั่นคงตามแนวชายแดน

ที่ต้องเพิ่มความเข้มในทุกมาตรการอย่างที่สุด ในทุกจุด...ทุกพื้นที่รอยต่อจังหวัดชายแดน

“คนไทย” ทุกคนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาในวันนี้ ห้ามมิให้มีกรณีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเข้าเมืองผิดกฎหมายของ “คนต่างด้าว” หากพบการกระทำผิด จะถูกดำเนินการอย่างเฉียบขาดทุกกรณี

เพื่อควบคุม...ป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ ปราศจากเชื้อไวรัสโควิดในทุกมิติ

“ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด–19” แจ้ง ประกาศกระทรวง มหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังมีความรุนแรง มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อฯสะสมทั่วโลกมากกว่า 30 ล้านราย

ทำให้ “คนต่างด้าว” จำนวนหนึ่งยังคงตกค้างอยู่ใน “ประเทศไทย”

เนื่องจากไม่สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อกลับประเทศได้ และไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา 35 และมาตรา 37 (5) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้นได้ทันภายในวันที่ 26 กันยายน 2563 จึงเห็นควรจัดทำประกาศกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา 17

แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อขยายระยะเวลาการดำเนินการตามมาตรา 35 และมาตรา 37 (5) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ของคนต่างด้าว

โดยให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษไปพลางก่อน ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 โดยคนต่างด้าวที่ยังไม่สามารถเดินทางออกไปได้และประสงค์ขออยู่ต่อหลังวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ให้ไปยื่นคำขอต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563

“คนต่างด้าว” เป็นตัวแปรสำคัญในสถานการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะกรณีหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวออกมาว่า “สถานกักตัวคนต่างด้าว” สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่เพียงพอรับไม่ไหวแล้ว

กองกำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบุว่า ประเด็น “คนต่างด้าวล้นห้องกัก” จากสถิติผู้ต้องกักปี 2562 ซึ่งมีห้องกักในส่วนกลาง (สวนพลู) แห่งเดียว มีผู้ต้องกักเฉลี่ย 1,200 ราย และเคยมียอดสูงสุด 1,600 ราย แบ่งเป็น...ผู้ต้องกักที่ประสงค์ กลับภูมิลำเนา ซึ่งมีการหมุนเวียนโดยตลอด

และ...ผู้ต้องกักที่ไม่ประสงค์กลับภูมิลำเนา เช่น ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิงที่ประสงค์ไปยังประเทศที่สาม ซึ่งอาจมีระยะเวลาในกระบวนการคัดกรอง...ตอบรับจากประเทศปลายทาง

“เรายึดหลักการไม่ผลักดันส่งกลับบุคคลไปรับอันตรายหรือถูกประหัตประหาร ตามหลักสากลที่นานาอารยประเทศพึงปฏิบัติ จึงได้มีมาตรการลดความแออัด เคลื่อนย้ายผู้ต้องกัก 388 ราย ไปดูแลยังห้องกักส่วนภูมิภาค ทั้งยังได้เพิ่มเติมห้องกักบางเขนในส่วนกลางอีกแห่งหนึ่ง ตลอดจนปรับปรุงอาคารห้องกักสวนพลูให้ดีขึ้น”

เปรียบเทียบปี 2563 สถานกักตัวในส่วนกลาง 2 แห่ง รองรับผู้ต้องกักได้ 1,700 ราย ปัจจุบันมีคนต่างด้าวถูกกักตัวเพื่อรอส่งกลับ 1,082 ราย สัญชาติ...เมียนมา ลาว กัมพูชา รวม 434 ราย

ประเด็นสำคัญมีว่า...หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนักทำให้ผู้ต้องกักไม่สามารถเดินทางกลับประเทศของตนได้ตามปกติ จึงได้เชิญเจ้าหน้าที่สถานทูตมาร่วมประชุม...ขอความร่วมมือในการผลักดันส่งกลับ

ประเด็นต่อมา...เรื่องความเสี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในห้องกัก ความกังวลสำคัญข้อนี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้กำหนดมาตรการในการป้องกันการแพร่เชื้อตั้งแต่ต้นปี 2563 ตั้งแต่การรับตัวผู้ต้องกักใหม่ วัดอุณหภูมิร่างกาย สังเกตอาการเบื้องต้น...กำหนดให้ห้องกักบางเขนเป็นพื้นที่แรกรับ คัดกรองดูอาการ 14 วัน

เมื่อครบกำหนด...ไม่พบอาการจึงย้าย “ผู้ต้องกัก” มาดูแลที่ห้องกักสวนพลู โดยเจ้าหน้าที่คัดกรองสวมชุดป้องกันเชื้อโรค PPE หน้ากากเฟซชิลด์ หน้ากากอนามัย...ในส่วนผู้ต้องกักก็สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ตรวจวัดอุณหภูมิทุกครั้งที่เข้าออกห้องกัก

นอกจากนี้ยังมีระบบวิดีโอคอลระหว่างเจ้าหน้าที่สถานทูต...ผู้ต้องกัก รักษาระยะห่างทางสังคม ตลอดจนทำความสะอาดห้องกักเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะในจุดที่มีการสัมผัสและทำความสะอาดใหญ่ทุกสัปดาห์

นับรวมไปถึงความร่วมมือกับกรมควบคุมโรค สำนักงานเขตสาทรประชุมกำหนดมาตรการป้องกันหลายครั้ง และมีปฏิบัติการเชิงรุกตรวจเชื้อให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ภายในห้องกักและผู้ต้องกักทุกราย

อีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึง “การกักตัวผู้ที่จะต้องถูกส่งกลับ ไม่จำเป็นต้องกักไว้ที่ ตม.เสมอไป” ตามกรอบกฎหมาย บนพื้นฐานหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นทางเลือกแทนการกักตัวสามารถทำได้ มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ครอบครัว ผู้ป่วย ตลอดจนกลุ่มผู้ที่ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง

ประสานกับหน่วยงาน องค์กร มูลนิธิที่เกี่ยวข้อง...ปัจจุบันมีคนต่างด้าวที่ได้รับการประกันตัวจากห้องกักกว่า 324 ราย ในการพิจารณาต้องใช้ดุลพินิจหลายมิติอย่างรอบคอบทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น เรื่องพฤติกรรม...ประวัติการกระทำความผิดคดีอาญา

รวมไปถึง...เรื่องความเป็นอยู่ภายนอกสถานกักตัว การดำรงชีวิตประจำวัน

ตัดฉากมาที่เพจ “เรื่องเล่าหมอชายแดน” ตอกย้ำสะท้อนสถานการณ์การระบาดไวรัส “โควิด–19” ในประเทศเพื่อนบ้านให้เห็นภาพ พร้อมระบุด้วยว่า...“เห็นสีแดงเถือกแล้วใจ๋บ่าดีนะพี่จ๋า...มาชิดติดประตูเมืองจริงๆ แต่ก็เป็นไปตามคาดว่าภายในสองอาทิตย์จะต้องมาเคาะประตูกันแน่ๆ”

อย่างไรก็ดี...ขอความร่วมมือประชาชนชายแดน...คนไทยทั้งประเทศ ยกการ์ดของตัวเองขึ้นอย่างเต็มที่ 100% เราจะต้องอยู่กับโควิดไปอีกนาน เชื้อโรคปรับเปลี่ยนไม่ได้แต่วินัยในตัวเองเปลี่ยนแปลงได้.