เพิ่งมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ราย โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ศาสตราจารย์ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภทวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2563
ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของราชบัณฑิตยสภา ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยไม่จำกัดจำนวน โดยก่อนหน้านี้มีราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ จำนวน 7 คน คือ 1.ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี 2.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) 3.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ 4.พระพรหมบัณฑิต 5.ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ 6.ศาสตราจารย์ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล 7.ศาสตราจารย์ ดร.กุสุมา รักษมณี และมาเพิ่ม ศาสตราจารย์ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นรายที่ 8
ส่วน ราชบัณฑิต เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยราชบัณฑิตจากทุกสำนักจะเป็นผู้คัดเลือกจากภาคีสมาชิก แล้วนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง มีจำนวนจำกัด โดยข้อมูลก่อนหน้านี้ ราชบัณฑิต มีทั้งหมด 118 ตำแหน่ง ใน 3 สำนัก คือ
1.สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง มี 33 ตำแหน่ง 2.สำนักวิทยาศาสตร์ มี 55 ตำแหน่ง 3.สำนักศิลปกรรม มี 30 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งว่างในสำนักต่างๆอยู่บ้าง
ล่าสุด มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิต มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง 1.ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เป็นราชบัณฑิต ประเภทวิชาแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ 2.ศาสตราจารย์วัลลภ สุระกำพลธร เป็นราชบัณฑิต ประเภทวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิทยาศาสตร์ 3.ศาสตราจารย์ธนารักษ์ ธีระมั่นคง เป็นราชบัณฑิต ประเภทวิชาเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิทยาศาสตร์ 4.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ เป็นราชบัณฑิต ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรและสัตวแพทยศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร สำนักวิทยาศาสตร์ 5.รองศาสตราจารย์โชษิตา มณีใส เป็นราชบัณฑิต ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมร้อยกรอง สำนักศิลปกรรม 6.ศาสตราจารย์รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เป็นราชบัณฑิต ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมร้อยแก้ว สำนักศิลปกรรม 7.ศาสตราจารย์ณัชชา พันธุ์เจริญ เป็นราชบัณฑิต ประเภทวิชาวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาดุริยางคกรรม สำนักศิลปกรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2563 เป็นต้นไป
...
การกำหนดอะไรของราชบัณฑิตยสภานั้น เป็นหลักการที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง แต่บางครั้งยอมรับไม่ได้จริงๆ ขอยกตัวอย่างเช่น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ทางราชบัณฑิตยสภา จัดพิมพ์หนังสือออกมาเล่มหนึ่งเรียกว่า พจนานุกรมคำใหม่ โดยรวบรวมคำที่เกิดใหม่และคำที่เปลี่ยนแปลงการใช้หรือเปลี่ยนแปลงความหมายไปจากเดิม รวมทั้งคำที่ใช้มานานแล้วแต่ยังไม่ได้บรรจุเข้าไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 อันเป็นฉบับล่าสุด
ในเล่มนี้มีคำที่น่าสนใจมากมายซึ่งนับว่าเป็นความ ใจกว้าง และ ใจถึง ของ ราชบัณฑิต
แต่มีอยู่คำหนึ่งซึ่งยอมรับไม่ได้จริงๆ คือคำว่า เหลส ในหน้า 361 (ฉบับนานมี) ให้ความหมายไว้ว่า น.สร้อยคอหรือสร้อยข้อมือ ทำด้วยโลหะสีขาวหรือทองส่วนหนึ่ง มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ เช่นผู้ชายหลายคนนิยมใส่ เหลส (ตัดมาจากภาษา อ.stainless)
คำคำนี้ถึงแม้จะออกเสียงว่า เหลด ก็จริงอยู่ แต่ในการเขียนใครๆก็เขียนว่า เลส ทั้งนั้น อย่างมากก็พลิกแพลงไปเป็น เลซ ไม่เคยเห็นที่ไหนเขียนว่า เหลส อย่างที่ท่านราชบัณฑิตกำหนดเลย
อีกอย่างหนึ่งเมื่อพลิกกลับไปที่หน้า 305 คำว่า เลต มีการบรรยายไว้ว่า ก. มาสาย, มาล่าช้า เช่น เธอมา เลต ตั้ง 15 นาทีจึงตกรถไฟขบวนแรก (อ. late)
ทียังงี้ทำไมไม่กำหนดให้เขียนว่า เหลต ในเมื่อก็ออกเสียงว่า เหลด เหมือนกัน
เขียนถึงตรงนี้ชักจะมี เสลด ขับดันขึ้นมาจากลำคอทีเดียว จบดีกว่า.
“ซี.12”